ตามที่กระทรวงมหาดไทยมีหนังสือแจ้งว่าศูนย์ควบคุมโรคและป้องกันโรคสหภาพยุโรปได้เผยแพร่ข้อมูล ณ วันที่ 19 ส.ค. 2559 ในเว็บไซต์ระบุว่า สถานการณ์โรคติดต่อไวรัสซิกาของประเทศ ไทยอยู่ในระดับสีแดง คือมีการแพร่กระจายโรคอย่างกว้างขวางในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา จึงสั่งให้จังหวัดสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุขในการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคนั้น เมื่อเช้าวันที่ 31 ส.ค. นายพงษ์ศักดิ์ ปรีชาวิทย์ ผวจ.บึงกาฬ กล่าวว่า ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ประชาสัมพันธ์จังหวัด ผอ.สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จ.บึงกาฬ นายอำเภอทุกอำเภอดังนี้ 1.ให้ทุกอำเภอประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อทุกช่องทางเพื่อให้ประชาชนเข้าใจและไม่ตื่นตระหนก 2.ให้ สนง.สาธารณสุขจังหวัดบึงกาฬตั้งศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข EOC และให้ทุกอำเภอจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อเชื้อไวรัสซิการะดับอำเภอ โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสนับสนุนบุคลากร อุปกรณ์พ่นหมอกควัน ฯลฯ และดำเนินการของทุกตำบล/ หมู่บ้าน
3.ให้ทุกอำเภอ กำกับ ติดตามการปฏิบัติของศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อเชื้อไวรัสซิการะดับอำเภอบูรณาการความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีต่างๆ เช่น สถานศึกษา โรงงานอุตสาหกรรม สถานประกอบการ สถานพยาบาล บุคลากร ด้านสาธารณสุข (อสม.) ในการรณรงค์และป้องกัน/ ควบคุมโรคอย่างต่อเนื่อง เน้นให้เกิดการมีส่วนร่วมในภาคเอกชนและประชาชน 4.ให้ สนง.สาธารณสุขจังหวัดบึงกาฬติดตามความก้าวหน้าผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง แล้วรายงานให้ ผวจ.บึงกาฬทราบทุกระยะ
นายวิศณุ วิทยาบำรุง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดบึงกาฬ เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 13 เม.ย.-29 ส.ค.2559 พบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสซิกาแล้วทั้งสิ้น 94 ราย จาก 5 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองบึงกาฬ อ.บุ่งคล้า อ.พรเจริญ อ.โซ่พิสัย และ อ.ศรีวิไล คิดเป็นอัตราป่วย 22.36 ต่อประชากรแสนคน โดย 93 คนได้หายจากการติดเชื้อแล้วยังมีอีกเพียง 1 รายเท่านั้นที่ยังอยู่ในช่วงเฝ้าดูอาการ และพื้นที่ที่ต้องเฝ้าดูสถานการณ์มีอยู่ 2 พื้นที่คือ 1 ต.บึงกาฬ อ.เมืองบึงกาฬ และ ต.นาแสง อ.ศรีวิไล โดยขอให้ประชาชนควรสังเกตอาการหากติดเชื้อไวรัสซิกา ผู้ป่วยจะมีระยะฟักตัว 2-7 วันโดยเฉลี่ย ส่วนใหญ่จะยาวถึง 12 วัน จะมีอาการ 4 ประการคือ มีไข้ผื่นลักษณะเป็นนูนเป็นจุดตามตัว ปวดตามข้อและตาแดง โดยปกติแล้วอาการจะไม่รุนแรงมากและหายได้เองภายใน
3-5 วัน และจะหายขาดประมาณ 7 วัน การดูแลผู้ป่วยควรให้นอนพักผ่อนมากๆ ไม่ควรออกไปนอกบ้าน กินน้ำเยอะๆ หากมีไข้ขึ้นอาจจะให้กินยาแก้ปวดลดไข้ประเภทพาราเซตามอลได้ แต่ไม่ควรกินยาแก้ปวดลดไข้ประเภทแอสไพริน เพราะจะมีผลต่อกระเพาะอาหาร สวมเสื้อผ้าให้มิดชิดทายากันยุง เวลานอนควรกางมุ้งเพื่อไม่ให้ยุงกัดเพิ่ม.
อ่านข่าวต่อได้ที่: http://www.thairath.co.th/content/708840‘>