วันที่ 13 กันยายน ณ ห้องประชุมสำนักงานคลังจังหวัดบึงกาฬ ศาลากลางจังหวัดบึงกาฬ ชั้น 1 นางวิชิตา เลิศพุทธิพงศ์พร คลังจังหวัดบึงกาฬ “ปรับประมาณการเศรษฐกิจจังหวัดบึงกาฬ ไตรมาส 3/2559” จากที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.44% เป็น 3.85% เนื่องจากการใช้จ่ายภาครัฐเป็นสำคัญ ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวสูงถึง 27.13% โดยในปีงบประมาณ พ.ศ.2559 จังหวัดบึงกาฬได้รับเงินงบประมาณเพิ่มขึ้น จากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลผ่านโครางการต่างๆ เช่น โครงการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล (ตำบลละ 5 ล้านบาท) โครงการหมู่บ้านละ 2 แสนบาท โครงการกองทุนหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 1 ล้านบาท และ 5 แสนบาท ทำให้ในปีงบประมาณ พ.ศ.2559 จังหวัดบึงกาฬได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ.2558 เท่ากับ 45.34%
คลังจังหวัดบึงกาฬ ยังระบุว่าจังหวัดบึงกาฬมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในจังหวัดบึงกาฬปีละ 1.2 ล้านคน ประกอบกับมีส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้ามาศึกษาดูงานการกำจัดขยะต้นทางที่จังหวัดบึงกาฬ (บึงกาฬโมเดล) ทำให้คาดว่าภาคบริการและการท่องเที่ยวจะขยายตัว 10.57%
ส่วนภาคอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะเติบโตได้ดี ได้แก่ อุตสาหกรรมปูนผสมเสร็จ การทำอิฐบล็อก ทำหลังคาเมทัลชีท และการทำท่าทราย
ด้านการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัว 5.35% เนื่องจากการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้นจากนโยบายรัฐบาล เช่น นโยบายส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่เชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรม (start up) การเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพิ่มขึ้นจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และโครงการบ้านประชารัฐ ขณะนี้กระทรวงการคลังได้มอบนโยบายให้ผู้บริหารการคลังประจำจังหวัด (คบจ.) ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ให้เอกชนทราบว่ามีมาตรการลดหย่อนภาษี 2 เท่า ที่กำลังจะสิ้นสุดปีนี้ อย่างไรก็ตาม การบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะติดลบ -13.62% ประกอบกับประชากรจังหวัดบึงกาฬ 80% ทำอาชีพสวนยางพารา ทำยางก้อนถ้วย เมื่อราคายางก้อนถ้วยลดลงเมื่อเทียบกับหลายๆ ปีที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรต้องระมัดระวังเรื่องการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยมากขึ้น
สำหรับมาตรการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายปี พ.ศ.2560 ที่เริ่ม 1 ตุลาคม 2559 นี้ มติคณะรัฐมนตรี กำหนดให้เบิกจ่ายงบลงทุนไม่เกิน 2 ล้านบาท งบเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปี พ.ศ.2559 ให้เบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2559 และงบจัดอบรมสัมมนาต้องเบิกจ่ายให้ได้ 50% ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2559 ทั้งนี้ จะเป็นการอัดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจังหวัดบึงกาฬ ไตรมาสสุดท้ายของปี พ.ศ.2559 หากทำได้ตามที่คาดหมายเศรษฐกิจจังหวัดบึงกาฬจะโตได้ถึง 3.85% และผลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล “เรื่องการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบจังหวัดบึงกาฬที่ร้องเรียนผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดบึงกาฬ”
คลังจังหวัดบึงกาฬกล่าวว่า ผลการดำเนินการที่ประสบผลสำเร็จเนื่องจากคณะทำงานไกล่เกลี่ยและคณะทำงานแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ประกอบด้วยหลายหน่วยงานช่วยกันคือ คณะผู้บริหารการคลังประจำจังหวัด (คบจ.) ที่มีธนาคารของรัฐสังกัดกระทรวงการคลังร่วมให้ความช่วยเหลือที่สำคัญได้แก่ ธ.ก.ส. และออมสิน เนื่องจากลูกหนี้ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร โดยการให้ความช่วยเหลือก็คือ เมื่อลูกหนี้มาร้องที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดบึงกาฬ ซึ่งลูกหนี้มีความประสงค์ให้ช่วยเหลือคือนำหนี้นอกระบบเข้าในระบบ ก็จะพาลูกหนี้ส่งให้คลังจังหวัดซึ่งเป็นประธานและเจ้าหน้าที่คลังเป็นเลขานุการ คณะทำงานไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ของจังหวัด เพื่อสอบปากคำ จากนั้น 3 วันจะส่งหนังสือที่ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬลงนามเชิญลูกหนี้เจ้าหนี้และคณะทำงานไกล่เกลี่ย ซึ่งมีอัยการคุ้มครองสิทธิ กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยร่วมเป็นที่ปรึกษาประชุมไกล่เกลี่ย
ข่าวมติชนออนไลน์ http://www.matichon.co.th/news/283623’>