นายวีระศักดิ์ สินธุวงศ์ ประชาสัมพันธ์สภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย (สยยท.) กล่าวว่า ขณะนี้ราคายางพาราปรับดีขึ้น โดยราคายางก้อนถ้วยราคาอยู่ที่ 29-30 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) จากเดิมประมาณ 24-25 บาท/กก. ราคาน้ำยางสดอยู่ที่ 53-54 บาท/กก. โดยเป็นผลมาจากปริมาณผลผลิตที่ออกมาน้อยกว่าความต้องการในตลาด เพราะช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ยางพาราได้รับผลกระทบจากสภาวะเอลนิโญ กรีดยางได้น้อยลง อาทิ จากเดิมกรีดได้ 20 กก./วัน เหลือเพียง 10 กก./วัน และช่วงเวลาในการกรีดยางลดลง จาก 7 เดือนเหลือ 3 เดือน ทั้งนี้ เมื่อเปิดกรีดได้ ช่วงนี้ยังมีปริมาณฝนมาก เมื่อน้ำมากก็ต้องหยุดกรีด รวมทั้งมาตรการทวงคืนผืนป่าของรัฐบาล ทำให้ชาวสวนที่ปลูกยางในพื้นที่ป่าสงวนมีการโค่นยาง ปริมาณผลิตส่วนนี้จึงลดลงไปด้วย สำหรับปีนี้ คาดว่าปริมาณยางพาราที่ผลิตได้จะน้อยกว่า 3 ล้านตัน จากปกติประมาณ 4.5 ล้านตัน
“แนวโน้มราคายางในระยะต่อไป คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น ราคายางก้อนถ้วยอาจจะขึ้นไปแตะ 32-35 บาท/กก. ราคาน้ำยางสด ปรับเพิ่มขึ้นไปที่ 60 บาท/กก. ตามความต้องการบริโภคในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น โดยที่ผ่านมาราคาถูกกดดันจากผู้ซื้อรายใหญ่ในประเทศที่เป็นพ่อค้าคนกลางและบิดเบือนราคาผ่านตลาดซื้อขายล่วงหน้า และขณะนี้มีผู้ซื้อยางจากต่างประเทศ อาทิ จีน ไต้หวัน เข้ามาติดต่อเพื่อซื้อยางจากเกษตรกรโดยตรง ทำให้สามารถต่อรองคาคากันเองได้และราคาสอดคล้องกับกลไกตลาดมากขึ้น” นายวีระศักดิ์กล่าว
นายวีระศักดิ์กล่าวว่า รัฐบาลควรติดตามและตรวจสอบไม่ให้มีการฮั้วหรือบิดเบือนราคายางและให้เป็นตามกลไกตลาด และการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ต้องมีการสนับสนุนให้ชาวสวนยางสามารถทำตลาดกับผู้ซื้อได้โดยตรง นอกจากนี้มองว่า พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 ที่มีผลบังคับใช้มาแล้ว 1 ปี น่าจะช่วยดูแลราคายางให้มีเสถียรภาพได้ อาทิ มาตรา 49 ให้คณะกรรมการจัดสรรเงินจากกองทุนตามจํานวนและเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในแต่ละปีงบประมาณ อาทิ มาตรา 49 (2) ไม่เกิน 40% จัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งเสริม สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางเพื่อการปลูกแทน มาตรา 49 (3) ไม่เกิน 35% เป็นค่าใช้จ่ายในการส่งเสริม สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางและผู้ประกอบกิจการยางในด้านการปรับปรุงคุณภาพผลผลิต การผลิต การแปรรูป การตลาด และการดําเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องกับยางพารา และอุตสาหกรรมแปรรูปยางขั้นต้น อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง อุตสาหกรรมไม้ยาง การพัฒนายางพาราทั้งระบบ และการรักษาเสถียรภาพราคายาง และมาตรา 49 (4) จํานวนไม่เกิน 5% เป็นค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมและสนับสนุนด้านการเงิน วิชาการการศึกษาวิจัย และการค้นคว้าทดลองเกี่ยวกับยางพาราในอันที่จะเกิดประโยชน์ในการบริหารจัดการยางพาราอย่างครบวงจร เป็นต้น
‘>