นายธีธัช สุดสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า อุทกภัยในภาคใต้ส่งผลให้พื้นที่สวนยางได้รับความเสียหายประมาณ 700,000 ไร่ เกษตรกรไม่สามารถออกไปกรีดยางได้ทำให้ผลผลิตยางพาราหายไปจากตลาด 8% ขณะที่ความต้องการยังมีอย่างต่อเนื่อง ราคายางจึงปรับเพิ่มขึ้น โดยยางแผ่นดิบแตะที่ระดับ 81.91 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) อย่างไรก็ตาม ทุกฝ่ายควรให้ความสำคัญกับเกษตรกรเป็นหลักเนื่องจากได้รับผลกระทบมากที่สุด ดังนั้น หลังน้ำลดต้องเร่งฟื้นฟูสวนยางใหม่โดยเฉพาะน้ำยางที่ได้ต้องมีคุณภาพ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับน้ำยาง
นอกจากนี้ ราคายางที่ปรับตัวสูงขึ้นยังมีปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการขายยางออกสู่ตลาดน้อย แต่ความต้องการซื้อจากผู้ประกอบการในประเทศมาก รวมทั้งราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น แต่มีปัจจัยลบมาจากตลาดโตเกียวที่เปิดตลาดค่อนข้างผันผวนจากการแข็งค่าของเงินเยน และการเทขายทำกำไรของนักลงทุน หลังจากราคายางปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 4 ปี
“ยางในสต๊อก 300,000 ตัน ที่จะเปิดประมูลขายในวันที่ 17-18 ม.ค. นี้ ไม่มีเกี่ยวข้องกับราคาตลาดยางในปัจจุบัน และมีปริมาณน้อยมากเมื่อเทียบกับตลาดยางของโลกที่มีปีละ 12-13 ล้านตัน อีกทั้ง กยท.ใช้วิธีระบายครั้งละลอตปริมาณไม่มากเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง ซึ่งคาดว่าการระบายยางครั้งนี้จะเป็นผลดีกับทุกฝ่าย”
ขณะที่นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ได้ยื่นหนังสือถึงนายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้รัฐบาลอุดหนุนเงินกับชาวสวนยางที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมภาคใต้เพิ่ม
อ่านข่าวต่อได้ที่: http://www.thairath.co.th/content/835419‘>