วันที่ 23 มกราคม 2560 เกษตรกรชาวสวนยางพาราในจังหวัดบึงกาฬต้องจำใจกรีดยางพาราทั้งที่ใบของต้นยางร่วงหล่นใกล้จะหมดต้นแล้ว เพราะราคายางพาราในช่วงนี้กำลังดี ถึงแม้จะเสี่ยงต่อการทำให้ต้นยางพาราเกิดอาการเปลือกแห้ง หรือกรีดแล้วไม่มีน้ำยางในระยะเวลา 2-3 ปีข้างหน้า แลกกับราคายางที่สูงขึ้นเพราะหวั่นจะเสียโอกาส ครั้นจะหยุดกรีดก็มีภาระที่จะต้องใช้จ่าย ช่วงปลายเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ของทุกปี จะเป็นช่วงต้นยางพาราผลัดใบ (หรือชาวสวนยางเรียกว่าช่วงปิดหน้ายาง) ประกอบกับสภาพอากาศที่ฝนทิ้งช่วง ฝนไม่ตกลงมายาวนานหลายเดือน ทำให้พื้นดินแห้งแล้งขาดน้ำได้ส่งผลกระทบต่อต้นยางที่เคยมีลำต้นสมบูรณ์เมื่อขาดน้ำนานเข้า ใบก็เริ่มเปลี่ยนเป็นสีแดงและร่วงหล่นลงดิน น้ำยางที่เคยได้ 100% ก็ลดลงมาเหลือประมาณ 50-70 % ทำให้เกษตรกรเสียโอกาสในการสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว แต่ก็ต้องฝืนกรีดยางเพราะราคายางพาราที่สูงขึ้นทุกวัน
ขณะที่ราคายางพาราล่าสุดที่ตลาดกลางยางพาราจังหวัดสุราษฎร์ธานี ราคายางแผ่นดิบ 1-3% อยู่ที่กิโลกรัมละ 82.98 บาท ยางแผ่นดิบ 3-5% กิโลกรัมละ 82.78 บาท ยางแผ่นดิบ 5-7% กิโลกรัมละ 81.85 บาท ยางแผ่นรมควันชั้น 3 กิโลกรัมละ 86.25 บาท น้ำยางสด ณ โรงงานกิโลกรัมละ 80.50 บาท สำหรับราคายางก้อนถ้วยกลุ่มสหกรณ์กองทุนสวนยางโคกกว้างพัฒนา จำกัด ต.โคกกว้าง อ.บุ่งคล้า จ.บึงกาฬ อยู่ที่ 44.13 บาทต่อกิโลกรัม
มติชนออนไลน์ http://www.matichon.co.th/news/437165’>