นับตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา กระทรวงการต่างประเทศได้จัดคณะ “บัวแก้วสัญจร” ไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทยเป็นระยะ เพื่อเผยแพร่และทำความเข้าใจกับประชาชนรวมถึงส่วนราชการในพื้นที่เกี่ยวกับภารกิจของกระทรวงการต่างประเทศซึ่งถือเป็นเรื่องใกล้ตัวคนไทยอย่างยิ่งในปัจจุบัน ตลอด 18 ปีที่ผ่านมา โครงการบัวแก้วสัญจรได้เดินทางไปยังจังหวัดต่างๆ รวม 49 จังหวัดทั่วไทย และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายชัยสิริ อนะมาน ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้นำคณะ “บัวแก้วสัญจร” เดินทางไปเยี่ยมเยือนจังหวัดที่ 50 และ 51 คือบึงกาฬและสกลนคร ซึ่งนับเป็นโครงการบัวแก้วสัญจรครั้งแรกในปี 2560 และเป็นการเยือนครั้งที่ 2 ในปีงบประมาณปัจจุบัน โดยมีผู้แทนจากหลากหลายหน่วยงานของกระทรวงการต่างประเทศไปร่วมให้ความรู้กับจังหวัด จ.บึงกาฬ นับเป็นจังหวัดน้องใหม่ของประเทศไทย ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2557 นับจนถึงปัจจุบันก็ย่างเข้าสู่ปีที่ 6 แล้ว ต้องยอมรับว่าก่อนที่จะเดินทางมาเยือน จ.บึงกาฬ แทบไม่มีความรู้อะไรเกี่ยวกับจังหวัดแห่งนี้เลยนอกจากว่าบึงกาฬเป็นแหล่งยางพาราสำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และหนึ่งในงานใหญ่ของ จ.บึงกาฬที่ติดหูคนทั่วไปก็คืองานวันยางพารา แต่เมื่อได้มาเยี่ยมเยือนบึงกาฬด้วยตนเองจึงได้รู้ว่าบึงกาฬมีอะไรดีๆ อีกมากมายที่คนส่วนใหญ่อาจยังไม่รับรู้
ท่านที่ปรึกษาฯชัยสิริได้กล่าวระหว่างเปิดการบรรยายที่ศาลากลาง จ.บึงกาฬว่า โครงการบัวแก้วสัญจรมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในประเด็นการต่างประเทศให้กับประชาชน โดยเฉพาะประเด็นที่อยู่ในความสนใจของหน่วยงานและชุมชนท้องถิ่น เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพราะการต่างประเทศไม่ใช่เรื่องของกระทรวงการต่างประเทศเท่านั้น และไม่ใช่เรื่องไกลตัวคนไทยทุกคน ยิ่งในโลกยุคปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีสิ่งท้าทายใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมากมาย การต่างประเทศต้องเชื่อมโยงทุกภาคส่วน
นายพิสุทธิ์ บุษยพรรณพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ เล่าให้ฟังว่า จ.บึงกาฬ มีพื้นที่ติดชายแดนประเทศลาวที่แขวงบอลิคำไซถึง 120 กิโลเมตร มีรายได้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ราว 22,000 ล้านบาท เป็นรายได้จากการค้าชายแดนราว 3,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งถือว่าไม่สูง มีจุดผ่านแดนถาวร 1 จุดที่ อ.เมืองบึงกาฬ จุดผ่อนปรน 2 จุดที่บ้านห้วยคาดและบ้านบุ่งคล้า นอกจากนั้น ก็เป็นจุดผ่านแดนประเพณีและธรรมชาติอีก 2 แห่ง สินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภค อาทิ กระทิงแดง อุปกรณ์ก่อสร้าง น้ำมันเชื้อเพลิง ฯลฯ
พื้นที่ทางเกษตรส่วนใหญ่เน้นไปที่ยางพาราซึ่งปลูกมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและเป็นส่วนหนึ่งของรายได้สำคัญของบึงกาฬ การเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรจากยางภายในจังหวัดยังไม่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมเท่าใดนัก ส่วนใหญ่จะขายเฉพาะยางก้อนซึ่งราคาก็ผันผวนตามราคาตลาดโลก เมื่อโรงงานมารับซื้อก็ต้องขนส่งไปยังท่าเรือแหลมฉบังซึ่งเป็นระยะทางถึง 700 กว่ากิโลเมตร เพื่อส่งออกไปยังตลาดจีน ดังนั้น เรื่องการขนส่งจึงเป็นปัญหาที่ยังต้องพัฒนา
ท่านผู้ว่าฯพิสุทธิ์มองว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่อย่างเข้มแข็งคือต้องมีการลดค่าใช้จ่ายด้านการขนส่ง ดังนั้น การสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 5 ที่พื้นที่ อ.เมืองบึงกาฬ ซึ่งมีการสำรวจออกแบบไว้ทั้งหมดแล้ว และพร้อมจะดำเนินการได้ทันทีจะเป็นคำตอบ เพราะจะช่วยร่นระยะทางจากไทยไปเวียดนามเหลือไม่เกิน 300 กิโลเมตร และจะทำให้สามารถขนส่งสินค้าไปยังจีนตอนใต้ได้สะดวกรวดเร็วทางรถยนต์ แต่ขณะนี้ยังติดปัญหาเรื่องการร่วมทุนเพื่อสร้างสะพานระหว่างไทยกับลาว
ท่านผู้ว่าฯพิสุทธิ์มองยุทธศาสตร์การพัฒนา จ.บึงกาฬเป็น 3 ด้าน ประการแรกคือการพัฒนาเกษตรก้าวหน้า คือทำอย่างไรจะเพิ่มมูลค่าของยางพาราเพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาในตลาดโลก ขณะเดียวกันน่าจะมีโรงงานแปรรูปไม้ยางพาราขึ้นเพราะยางพาราในพื้นที่ปลูกกันมาตั้งแต่ปี 2531-2532 พร้อมกันนี้ต้องคิดค้นนวัตกรรมเพื่อนำไปสู่รายได้ที่มั่นคง นอกจากนี้ ยังต้องเพิ่มความหลากหลายของสินค้าเกษตรและผลไม้ที่ปลูกในจังหวัดเพื่อให้เกษตรกรมีทางเลือกและมีรายได้เสริม
ขณะเดียวกันจะมุ่งพัฒนาแหล่งน้ำเพราะแม้บึงกาฬจะเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำแต่ก็ต้องดูแลเรื่องการกักเก็บเพื่อให้มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี
ประการต่อมาคือการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้ในพื้นที่ทั้งสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศและเชิงวัฒนธรรม เพราะ จ.บึงกาฬถือเป็นแหล่งอารยธรรมสงฆ์ อาทิ ภูทอกที่เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมแต่มีทางเดินรอบหินคล้ายสกายวอล์ก มีสภาพธรรมชาติสวยงาม อาทิ พื้นที่ชุ่มน้ำที่่ อ.บึงโขงหลง ซึ่งมีทั้งบัวหลวงและบัวแดงหลายร้อยไร่ มีนกอพยพและนกประจำถิ่นมากถึง 134 ชนิด และมีสภาพระบบนิเวศ ที่น่าสนใจ ภูสิงห์ซึ่งมีหินสวยงามมากมายหลากหลาย อาทิ หินสามวาฬที่มองแล้วคล้ายวาฬ 3 ตัวลอยอยู่บนหน้าผา ภูลังกา ฯลฯ
ยุทธศาสตร์ที่สามของท่านผู้ว่าฯพิสุทธิ์คือการพัฒนาการค้าชายแดนและการลงทุน ซึ่งหากสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 5 เกิด เขตเศรษฐกิจพิเศษก็น่าจะเกิดขึ้นตามมา ซึ่งจะทำให้การลงทุน และอุตสาหกรรมต่างๆ เกิดขึ้นตามมาด้วยเช่นกัน เพราะบึงกาฬเป็นจังหวัดติดชายแดนและไม่มีปัญหาด้านความมั่นคง
ท่านผู้ว่าฯพิสุทธิ์ชื่นชมโครงการบัวแก้วสัญจรว่าเป็นโครงการที่่ดีและมีประโยช์ต่อประชาชนในพื้นที่ เพราะทำให้ประชาชนเข้าใจบทบาทหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศและทำให้มีโอกาสใกล้ชิดกันมากขึ้น เพราะในส่วนภูมิภาคไม่มีตัวแทนของกระทรวงการต่างประเทศมาประจำการในพื้นที่ บึงกาฬเป็นจังหวัดชายแดน การรับทราบถึงภารกิจ บทบาทหน้าที่ของกระทรวงต่างประเทศก็จะเป็นทิศทางและแนวปฏิบัติในการทำงานของจังหวัดที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้เกิดความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยวระหว่างกัน และเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยตามชายแดน รวมถึงกระตุ้นเศรษฐกิจชายแดนให้มากขึ้นด้วย
มุมมองของท่านผู้ว่าฯพิสุทธิ์สะท้อนให้เห็นผ่านการบรรยายของผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศที่ศาลากลางจังหวัดบึงกาฬที่ได้รับความสนใจอย่างยิ่ง และมีคำถามมากมายจากข้าราชการไปจนถึงนักศึกษาลาวที่มาเล่าเรียนในไทย ถึงขนาดที่การตอบข้อซักถามของวิทยากรจากกระทรวงการต่างประเทศกินเวลาล่วงเลยจากที่กำหนดไว้ไปพอควร แต่ผู้ร่วมบรรยายก็ยินดีที่มีผู้สนใจซักถามเป็นจำนวนมาก
ในโอกาสนี้คณะบัวแก้วสัญจรยังเดินทางไปยังโรงเรียนบ้านบึงกาฬ ซึ่งเป็นโรงเรียนในเครือข่ายมูลนิธิยุวทูตความดีของกระทรวงการต่างประเทศ โดยมีการจัดกิจกรรมให้ความรู้กับเด็กนักเรียนจากผู้แทนกรมอาเซียน กรมการกงสุล และกรมสารนิเทศอีกด้วย