[videojs mp4=”http://www.matichon.co.th/wp-content/uploads/v/2017_01/rubber.mp4″ width=”640″ height=”360″ autoplay=”true”]
…
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 16 กุมภาพันธ์ จังหวัดบึงกาฬ องค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ เหล่ากาชาดบึงกาฬ หอการค้าจังหวัดบึงกาฬ เเละองค์การหน่วยงานราชการ-เอกชน จัด “งานวันยางพาราเเละกาชาดบึงกาฬ 2560” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-22 กุมภาพันธ์ ที่สนามหน้าที่ว่าการอำเภอเมือง จังหวัดบึงกาฬ โดยบรรยากาศภายในงานเป็นไปอย่างคึกคักมีประชาชน เกษตรกรชาวสวนยาง นักเรียนนักศึกษาเข้าร่วมงานจำนวนมาก
โดยในเวลา 11.00 น.นายพิสุทธิ์ บุษยพรรณพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ พร้อมด้วย นายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เเละประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีนและส่งเสริมความสัมพันธ์, นายนิพนธ์ คนขยัน นายก อบจ.บึงกาฬ, นายฐวัฒน์ สมมะโนพัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดพี.พี.สยามลาเท็กซ์, นางนงลักษณ์ บุษยพรรณพงศ์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดบึงกาฬ และเหล่ากาชาดจังหวัดบึงกาฬ ร่วมเปิดนิทรรศการ “เหล่ากาชาดจังหวัดบึงกาฬ” นิทรรศการ “Rubber Land” สัญจรครั้งเเรกในภาคอีสาน นิทรรศการนวัตกรรมยางพารา โดยการยางแห่งประเทศไทย นิทรรศการ “บึงกาฬก้าวหน้า” และร่วมระบายสีภาพมหัศจรรย์บึงกาฬ
นายพิสุทธิ์ บุษยพรรณพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า สำหรับไฮไลต์ของการจัดงานวันยางพาราและงานกาชาด ประจำปี 2560 ประกอบไปด้วย การจัดนิทรรศการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชด้านต่างๆ การตามรอยเสด็จฯมายังจังหวัดบึงกาฬในอดีต รวมทั้งการดำเนินชีวิตตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง หรือ ศาสตร์ของพระราชา และยังเป็นการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในโอกาสที่สถาปนาขึ้นเป็นรัชกาลที่ 10 นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงนวัตกรรม และผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆจากยางพารา จากภาครัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัย ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้กับเกษตรกรชาวสวนยางเห็นถึงความสำคัญของการเป็นชาวสวนยางมืออาชีพ ให้มีการพัฒนารูปแบบ และแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราออกสู่ตลาดมากขึ้น อาทิ หมอน เครื่องนอน ยกระดับไปสู่การจัดตั้งโรงงานชุมชน โรงงานผลิตยางแท่ง (เอสทีอาร์ 20) และนำไปสู่การพัฒนาเป็นโรงงานแปรรูปยางระดับสูง อย่างล้อรถยนต์ จากเดิมที่จะเป็นเพียงการขายยางก้อนถ้วย หรือ เพียงน้ำยาง ราคาต่ำเท่านั้น
“นวัตกรรมที่น่าสนใจในงานครั้งนี้ คือ สารกำจัดกลิ่นยางพารา ซึ่งเมื่อใส่สารตัวนี้ลงไปในน้ำยาง จะทำให้ยางก้อนถ้วนไม่มีกลิ่น ส่งผลดีต่อการจัดเก็บ และการแปรรูปยาง ให้เกิดมลพิษทางกลิ่นที่ลงลด นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงเครื่องกรีดยางพารา เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ลดต้นทุนในการกรีดยาง และเพิ่มผลกำไรในแก่ผู้ปลูกมากขึ้น ขณะเดียวกันได้ภายในงานยังมีการจับคู่ธุรกิจ หรือ บิสซิเนสแมชชิ่ง ระหว่าผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศ กับเกษตรกร กลุ่มสหกรณ์โดยตรง ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสและเชื่อมโยงการค้าการขายในเกิดขึ้นภายในจังหวัดได้อย่างมาก”นายพิสุทธิ์ กล่าว
จากนั้นเวลา 17.00น. มีการจัดพิธีเปิด “งานวันยางพาราเเละกาชาดบึงกาฬ 2560” อย่างเป็นทางการ โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมด้วยตัวเเทนจากภาครัฐเเละเอกชนทั้งในประเทศไทยเเละต่างประเทศเข้าร่วมงาน อาทิ นายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เเละประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีนและส่งเสริมความสัมพันธ์, นายนิพนธ์ คนขยัน นายก อบจ.บึงกาฬ, ดาโต๊ะ นาซีเราะห์ ฮุสเซ็น เอกอัคราชทูตมาเลเซีย ประจำประเทศไทย, Pho Hoang Hanอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ประจำประเทศไทย, นายหม่อง นะที ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีกัมพูชา,Mr.Li Ming Gang กงสุลใหญ่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำจังหวัดขอนแก่น, บุนเส็ง ปะทำมะวงรองเจ้าแขวง-แขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว, นายคำปาว มัวรองเจ้าแขวง-แขวงเชียงขวาง สปป.ลาว, นายยง รุ่งเรืองธัญญา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย, นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา, Mr.Zhang Yanประธานบริษัท รับเบอร์วัลเลย์ กรุ๊ป จำกัด, Mr.Deepak Chaddhaประธานบริษัท Chowdhry Rubber, Mr.Deepak Chaddhaประธานบริษัท Chowdhry Rubber, Mr.Fan Rendeอดีตประธานสมาคมอุตสาหกรรมยางพาราจีน และนายฐากูร บุนปานกรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เป็นต้น
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การมาเปิดงานวันยางพาราเเละกาชาดครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ของตนเอง และเป็นครั้งที่ 5 นับ จากที่จัดงานมา ซึ่งมีความพัฒนาจากปีที่เเล้ว มีชาวต่างชาติมาร่วมมากขึ้น มีการเอาเครื่องมือเครื่องใช้ สินค้านวัตกรรมต่างๆ เเสดงถึงความก้าวหน้าความประสบความสำเร็จมากขึ้น ระหว่างเดินทางมาร่วมงานได้รำลึกถึงเรื่อง 4 อย่างด้วยกัน
นายวิษณุ ระบุว่า เรื่องที่ 1. คือนึกถึงในหลวง ร.9 ที่ทรงอยากเคยมีพระราชดำรัสว่า ความสุขความเจริญของพระองค์ท่านจะเกิดได้ ถ้าคนไทยมีความเมตตา ปราณี มีไมตรี เอื้อเฟือ ช่วยเหลือ เกื้อกูลกัน เรื่องที่ 2.บึงกาฬ เป็นจังหวัดน้องนุชสุดท้องจากประเทศไทย เมื่อไม่กี่ปี กว่าจะก่อตั้งได้ ก็อาศัยความยากลำบาก หนึ่งในผู้ผลักดันในการก่อตั้งจังหวัดบึงกาฬ คือพินิจ จารุสมบัติ ที่พยายามพากเพียรให้คนเห็นถึงความสำคัญของการเป็นจังหวัด เป็นคนคอยลุ้นให้ผ่านสภาโดยไม่มีอุปสรรค เพื่อได้ก่อกำเนิดบึงกาฬขึ้น โดยในขณะนั้นมีความรู้สึกเป็นห่วงของผู้มีอำนาจในบ้านเมือง ว่าจะอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพิงจังหวัดรอบข้างหรือไม่ เเต่วันนี้ใครก็ตามที่เคยห่วง ถ้าพูดถึงเรื่องยางพาราบึงกาฬ เป็นผู้นำด้านยางพาราของภาคอีสาน เเละบึงกาฬจะเป็นผู้นำด้านยางพาราของประเทศ
“จังหวัดบึงกาฬ ตั้งความหวังไว้ว่าจะเป็นผู้นำยางพารา การท่องเที่ยวก้าวหน้า การค้าก้าวไกล ดังนั้นถ้าเข้ามาเห็นบึงกาฬวันนี้ไม่เป็นที่ 2 รองจากใคร แล้วในประเทศไทยไม่มีใครจัดงานยางพารายิ่งใหญ่แบบนี้ได้” นายวิษณุ ระบุ
นายวิษณุ ระบุต่อว่า เรื่องที่ 3 แนวทางของรัฐบาล ซึ่งเป็นเเนวทางของประเทศ คือ แนวทางพัฒนาเเบบประชารัฐ ที่เราคงได้ยินบ่อย เนื่องจากท่านนายกฯพูดในทุกวันศุกร์ โดยประชารัฐเป็นคำที่คนไทยรู้จักมานาน อย่างน้อยเป็นคำที่อยู่ในเพลงชาติ เเต่ประชารัฐนั้นเมื่อ 80 ปีที่เเล้ว หมายถึงประชาชนของประเทศไทย เเต่วันนี้มีการดัดเเปลงให้มีความหมายว่า ความร่วมมือระหว่างประชาชนกับรัฐบาล ในทุกภาคส่วน ที่ปกติต่างคนต่างอยู่ต่างคนต่างทำ ถ้าเราสามารถนำมาร่วมกันได้จะเรียกว่าประชา รวมมือกับคนที่อำนาจ มีทุน มีความคิด มีความตั้งใจ ไม่เป็นอุปสรรคมามีส่วนร่วมคือ รัฐ เมื่อเราสามารถจับมือทำงานร่วมกันได้เเละเกิดความสำเร็จโดยผลประโยชน์ตกอยู่กับส่วนรวม การพัฒนาเเบบเเนวทางประชารัฐ ซึ่งเป็นอุดมการณ์ของประเทศที่เราอยากเห็น
“กิจกรรมของยางพาราบึงกาฬเป็นตัวอย่างที่ดีของประชารัฐ เราได้เห็นทุกภาคส่วนจับมือร่วมกัน ทั้งภาคการศึกษา ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ ภาคประชาชน ที่มารวมตัวอย่างเหนียวเเน่น เพื่อให้ยางพาราเป็นเรื่องสำคัญโดดเด่น” นายวิษณุ ระบุ
และว่า “เรื่องที่ 4 แนวทางประเทศไทย 4.0 ที่แสดงให้เห็นถึงเป้าหมายเเละขั้นตอนการพัฒนา เริ่มจากสังคมที่เป็นเกษตรกรรม หัตถกรรม อุตสาหกรรมเเละนวัตกรรม ซึ่งวันนี้ต้องมีการพัฒนาเเละต่อยอดตั้งเเต่ต้นทาง กลางทาง เเละปลายทาง เราจะหยุดเเค่ต้นทางไม่ได้ ทำอย่างไรจึงจะนำมาเพิ่มมูลค่ามากขึ้น เเล้วจะทำอย่างไรให้สิ่งที่แปรรูปเเล้วขายออกไปได้เงินตรากลับเข้ามา ทำให้เกษตรกรลืมตาอ้าปากได้ประเทศก็จะมีรายได้ สิ่งเหล่านี้คือ 4.0”
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า วันนี้บึงกาฬเดินมาถูกทางเเละทำได้สำเร็จเเล้ว บึงกาฬเคยพุ่งถึงขีดสุดเมื่อยางพาราพุ่งสูงสุด เเละเคยตกลงมาเมื่อราคายางตกต่ำลง เเต่ขณะนี้บึงกาฬกำลังจะพุ่งขึ้นอีกครั้งไม่ใช่จากราคายางที่เพิ่มมากขึ้น เเต่จากนวัตกรรมเเละการแปรรูป มีผลิตภัณฑ์ ที่ลูกค้าเข้ามาติดต่อซื้อจากต่างประเทศ จนวันนี้ทำไม่ทันกันเเล้ว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องพัฒนาต่อเนื่องเพื่อให้บึงกาฬเป็นศูนย์กลางยางพาราอย่างเเท้จริง
“วันนี้เมื่อพูดถึงเรื่งยางพาราทุกคนรู้จักบึงกาฬเหมือนครั้งหนึ่งที่พูดถึงยางพาราทุกคนนึกถึงมาเลเซีย ขอฝากถ้าอยากให้บึงกาฬเป็นศุนย์กลางให้นำความรู้เรื่องยางพารามาบรรจุในหลักสูตรหรือกิจกรรมของจังหวัด ให้สิ่งเหล่านี้ได้ซึมอยู่ในสายเลือดของคนบึงกาฬ ไม่ว่าจะทำอะไรที่ไหน เมื่อมีคนพูดถึงยางพารา คนบึงกาฬจะต้องพูดถึงเรื่องนี้ได้” นายวิษณุ กล่าวทิ้งท้าย
นายจาง เหย็น ประธานบริษัท รับเบอร์วัลเลย์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า มาได้ร่วมงานยางพาราบึงกาฬเป็นครั้งที่ 5 ครั้งนี้มีความประทับใจมากกว่าปีที่เเล้ว ไม่ว่าจะรูปแบบการจัดงาน หรือเนื้อหาสาระในงาน รู้สึกว่างานในปีนี้ยกระดับมากขึ้น เชื่อว่างานยางพาราบึงกาฬจะเป็นสะพานเชื่อมเป็นหน้าต่างสำคัญที่จำนำยางภาคอีสานเข้าสู่ตลาดโลกเเละตลาดสากลเเน่นอน
“อย่างที่ทุกท่านทราบโลกปัจจุบันนี้ก้าวสู่นวัตกรรมใหม่ มีเรื่องของดิจิตอลเข้ามา ทางรับเบอร์วัลเลย์,มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ,จังหวัดบึงกาฬ เเละสภาวัฒนธรรมไทยจีนเเละส่งเสริมความสัมพันธ์ ได้ทำการลงนามเรื่องเครื่องกรีดยางอัตโนมัติ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญที่จะเข้าสู่ความเป็น 4.0 ระหว่างประเทศไทยเเละจีน ครั้งนี้ทางประเทศจีนรู้สึกเป็นเกียรติเป็นอย่างมากที่ได้มาร่วมงาน เเละรับเบอร์วัลเลย์จะนำอีคอมเมิร์สมาเชื่อมต่อกับโรงงานหมอนของจังหวัดบึงกาฬ เพื่อนำผลิตภัณฑ์จากบึงกาฬส่งออกไปยังตลาดโลก”
นายจาง เหย็น กล่าวอีกว่า การยกระดับอุตสาหกรรมไทยจากผู้ปลูกสู่ผู้เเปรรูปยางต้องอาศัยนวัตกรรม ซึ่งรับเบอร์วัลเลย์ขอสัญญาว่าจะนำเทคโนโลยีที่ดีที่สุด และใหม่ล่าสุดจากประเทศจีนเข้ามาที่จังหวัดบึงกาฬ
ขณะที่ นายฐากูร บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในฐานะส่วนหนึ่งของการจัดงาน รู้สึกเป็นเกียรติและยินดีอย่างยิ่งที่ได้มามีส่วนร่วมในการจัดงานถึง 5 ครั้ง จากครั้งแรกที่งานยางพาราเป็นเพียงงานระดับจังหวัดเล็กๆ สามารถพัฒนาไปสู่งานระดับนานาชาติที่มีการถกเถียง แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านยางพารา เป็นจุดมุ่งหมายของผู้ประกอบการหลายคนในการมาซื้ออย่าง เหมือนกับที่นายวิษณุ เคยได้พูดไว้ว่า การจัดงานวันยางพาราบึงกาฬ ถือเป็นต้นแบบที่ดี หรือ “บึงกาฬโมเดล” ที่สะท้อนให้เห็นถึงการทำงานในรูปแบบประชารัฐ ที่เป็นการร่วมมือระหว่างภาคประชาชน ภาคเอกชน และภาครัฐ ที่ไม่หวังพึ่งความช่วยเหลือ เเต่ลุกขึ้นมาต่อสู้ร่วมมือกัน สร้างสัมพันธ์ทั้งใกล้เเละไกล สร้างงานเเละประโยชน์ของตัวเองเเละส่วนรวม จนงานประสบความสำเร็จอย่างดี และนับวันงานดังกล่าวจะขยายใหญ่ยิ่งขึ้น
ขณะที่ นายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า งานยางพาราปีนี้ได้รับความสนใจจากทั้งเกษตรกรชาวสวนยาง นักวิชาการ จังหวัดต่างๆ รวมถึงในประเทศอย่างมากตั้งเเต่ยังไม่เปิดงาน โดยความพิเศษของปีนี้คือเรื่องของเนื้อหาที่มีการพัฒนาขึ้นในระดับ 4.0 ในงานจะเพิ่มพูนเรื่องความรู้เเละนวัตกรรม อาทิ เครื่องกรีดยางอัตโนมัติ ,โรงงานหมอนยางพาราแปรรูป, ถนนยางพาราของ มจพ.ที่มีการพัฒนาเพิ่มขึ้น ยังมียางก้อนถ้วยที่บึงกาฬ ถือว่าเป็นเอสเอ็มอีที่โตมากวงเงินแต่ละปีหลายร้อยล้าน เเล้วประสบความสำเร็จมากจนธนาคารเเห่งประเทศไทยมาขอดู เเล้วเขาพัฒนาขัดมันจนยางไม่ติดก้นถ้วย แกะออกง่าย ทำให้สะกวด ผลผลิตดีเเละมีคุณภาพมากขึ้น ยังมีการพัฒนาเรื่องปุ๋ยโดยเกษตรกรเอง ซึ่งมาจากการต่อยอดจากการผลักดันในงานวันยางพาราบึงกาฬ
“เวทียางพาราบึงกาฬยังเป็นเวทีของการค้า จากเดิมเราต้องพึ่งพ่อค้าคนกลางเเต่วันนี้เราสามารถขายยางพาราตรงไปยังประเทศจีนในหลายมณฑลโดยเฉพาะ มณฑลซานตง เมืองชิงเต่า โดยการสนับสนุนของรับเบอร์วัลเลย์ กรุ๊ป จำกัด ในครั้งนี้จะมีการเซ็นสัญญารับซื้อยางจากบึงกาฬ มีบริษัทหนึ่งต้องการรับซื้อยางพาราปีละ 500,000 ตัน ยังมีพ่อค้าจากอินเดียเเละมาเลเซียที่มีความต้องการใช้ยางในประเทศ ยังมีนายกยางพาราจากจังหวัดต่างๆ ติดต่อมารวมงานนี้ด้วย จนขณะนี้โรงเเรมเเละรีสอร์ทในจังหวัดเต็มเกือบหมดเเล้ว เเสดงให้เห็นว่าการจัดงานยางพาราขับเคลื่อนเศรษฐกิจจังหวัดบึงกาฬ วันนี้คนบึงกาฬอยากให้จัดงานทุกเดือน”
นายพินิจ กล่าวอีกว่า ปีนี้ยังมีนวัตกรรมจากยางพาราที่โดดเด่นมากมายที่จะพัฒนาสู่ความเป็น 4.0 ทั้งเรื่องกรวยจราจรแปดเหลี่ยมของ นายอนุชิต วาณิชย์เสริมกุล ถนนยางพารา หมอนยางพารา ที่ขับเคลื่อนจากการจัดงานยางพารา ยังมีเทคโนโลยีการผลิตเเละการเเปรรูป เช่น เครื่องกรีดยางอัตโนมัติ เป็นระบบดิจิตอลเเค่กดรีโมตก็สามารถกรีดยางได้พร้อมกัน ช่วยประหยัดเเรงคนที่วันนี้เรากำลังขาดเเรงงงานอย่างมาก เครื่องกรีดยางนี้จะช่วยทดเเทนแรงงานได้
“ตอนนี้แรงงานกรีดยางในบึงกาฬขาดอยู่มาก อย่างส่วนยางของผมวันนี้ขาดเเรงงานอยู่ 7 ครัว หรือ 14 มีด ซึ่ง 1 ครัวกรีดยาง 1,500 ต้นแสดงว่าผมไม่สามารถกรีดยางได้กว่า 10,000 ต้น ทำให้ผมขาดรายได้ ซึ่งสวนยางส่วนใหญ่ในขณะนี้มีสภาพเเบบนี้คือขาดเเรงงาน โดยเฉพาะภาคใต้ขณะนี้ขาดเเรงงานอย่างมากผมก็พยายามผลักดันให้ราคาไม่เกิน 4,000 บาท ไม่เกิน 1 ปีสามารภคืนทุน เเล้วเครื่องกรีดยางเเทนคนเเล้วเราไม่ต้องเเบ่งผลประโยชน์อย่างทุกวันนี้ส่วนใหญ่จะเเบ่งผลประโยชน์กันประมาณ 60 : 40 ” นายพินิจ กล่าว
นายนิพนธ์ กล่าวว่า งานยางพาราบึงกาฬปีนี้ค่อนข้างคึกคักกว่าปีที่ผ่านมา คนที่มาร่วมงานก็มาจากหลายประเทศมากขึ้น นอกจากนักธุรกิจยางพาราจากจีน มีการทูตอินเดียนำนักธุรกิจอินเดียเข้ามาด้วย เเล้ว นอกจากนี้ยังเป็นปีเเห่งความสำเร็จทั้งเรื่องถนนน้ำยางพาราที่เราเคยพูดไว้เมื่อปีก่อน ปีนี้ก็ทำเเล้ว รวมถึงราคายางพาราก็ดีขึ้นด้วย ในงานยังมีเทคโนโลยี มีปราช์ญชาวบ้านเเละนักวิชาการมาให้ความรู้หลายแขนง ทั้งความเรื่องเกษตรกรรมโดยตรงยังมีความรู้เรื่องการแปรรูป ตลอดจนการซื้อขายน้ำยางสด ที่จะมีการสาธิตทุกวัน
“การจัดงานยางพาราเป็นการกระตุ้นทำให้รัฐบาลเห็นความสำคัญของยางพาราบึงกาฬ ปีนี้เราได้รับงบประมาณจากรัฐบาล 193,575,000 บาท ในการอุดหนุนชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยาง จังหวัดบึงกาฬ จำกัด เพื่อเเปรรูปสร้างมูลค่า เป็นการเเก้ปัญหาอย่างยั่งยืนในอนาคต และตรงจุดที่สุด จากเดิมรัฐบาลให้การส่งเสริมหรือชดเชยไร่ละ 1,000 บาท ผมมองว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ การจะเเก้ต้นเหตุต้องเป็นการให้ความรู้และสนับสนุนงบประมาณเพื่อเพิ่มมูลค่าโดยตรงเหมือนขณะนี้
นายนิพนธ์ กล่าวอีกว่า ในอนาคตเชื่อว่ายางพาราบึงกาฬ จะยกระดับสู่บึงกาฬ 4.0 แน่นอน เพราะวันนี้เราได้งบประมามาทำโรงงานน้ำยางข้น ไปสู่โรงงานหมอนเเละที่นอน เเละมีการเสนอโรงงานยางเเผ่นรมควันในงบประมาณ ปี 61 ซึ่งเราจะต่อยอดยางเเผ่นรมควันมาทำเป็นแผ่นยางปูในสนามยางต่างๆ เช่น สนามเด็กเล่น สนามฟุตซอล สนามตะกร้อในอนาคต ซึ่งผมมั่นใจว่าจะยกระดับไปถึงล้อยางรถยนต์ได้ต่อไป ทั้งหมดเป็นการต่อยอดให้เกษตรกรได้รับผลประโยชน์โดยตรง นอกจากจะระบายยางพาราแล้ว ทั้งถนนยางและสนามจากยางพาราต่างๆ จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีและสร้างความสุขให้เกษตรกรชาวสวนยางด้วย
นายคำปาว กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่วันนี้ ได้มาร่วมงานวันยางพาราและงานกาดจังหวัดบึงกาฬ ประจำปี 2560 โดยครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่ 4 แล้วที่ทางแขวงเชียงขวางได้เข้าร่วมงาน ในฐานะบ้านพี่เมืองน้องของจังหวัดบึงกาฬ ซึ่งตนเชื่อว่า ในระยะต่อไปความสัมพันธ์ของทั้ง 2 เมือง และ 2 ประเทศ จะมีความใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้นไปอีก ทั้งด้านการเกษตร ที่ประเทศไทย ถือว่ามีศักยภาพและมีความเชี่ยวชาญในด้านวิชาการเกษตร โดยเฉพาะการปลูกพืชเมืองหนาว อย่างชา และกาแฟ ทางแขวงเชียงขวางก็จะขอความร่วมมือทางด้านวิชาการจากไทย เพื่อเข้าไปพัฒนา รวมถึงการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจ โดยในปีที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวชาวไทย เดินทางไปเที่ยวแขวงเชียงขวางประมาณ 200,000 คน หรือ คิดเป็น 40% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่มายังเชียงขวาง แต่เชื่อว่าในอนาคตเมื่อเส้นทางคมนาคมจากเมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ มายังแขวงเชียงขวาง ระยะทางประมาณ 200 เมตร มีการปรับปรุงเส้นทางให้ดีขึ้น จะทำให้นักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางข้ามฝั่งโขงจากบึงกาฬ ผ่านเมืองปากซัน มายังแขวงเชียงขวางเพิ่มสูงขึ้นอีก เนื่องจากแขวงเชียงขวาง มีจุดเด่นในสถานที่ท่องเที่ยวเชียงวัฒนธรรมจำนวนมาก อาทิ ทุ่งไหหิน เมืองคูน และเมื่อประสานกับแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดบึงกาฬ จะทำให้ทั้ง 2 เมืองมีจุดเด่นมากยิ่งขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบรรยากาศพิธีการเปิด “งานวันยางพาราเเละกาชาดบึงกาฬ 2560” ได้รับความสนใจจากประชาชนเเละเกษตรกรชาวสวนยางอย่างมาก ทั้งนี้ได้มีพิธีแสดงความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และถวายพระพรสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร พร้อมด้วย การแสดงจากโรงเรียนบึงกาฬ, การแสดงศิลปวัฒนธรรมจากแขวงบอลิคำไซ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว, การแสดงศิลปวัฒนธรรรมจากแขวงเชียงขวาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
ในงานยังมีพิธีลงนามความร่วมมือ (MOU) เครื่องกรีดยางอัตโนมัติ ความร่วมมือการทำถนนด้วยยางพารา และการซื้อขายหมอนยางพารา ระหว่างชุมนุมสหกรณ์ยางพาราจังหวัดบึงกาฬและผู้ประกอบการ นอกจากนี้ยังมีพิธีมอบทุนการศึกษาแก่นักเรียนจากแขวงบอลิคำไซ เชียงขวาง และคำม่วน สปป.ลาว โดยผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ ด้วย
ที่มา http://www.matichon.co.th/news/466344
‘>