LINE : ติดต่อผู้ดูแล

ยินต้อนรับเว็บไซต์ข่าวสารเพจข่าวท้องถิ่นบึงกาฬ

วันอังคารที่ 26 พฤศจิกายน 2024
ข่าวเด่นบึงกาฬ

รายงานพิเศษ- “บึงกาฬโมเดล” ทางรอดสู่การยกระดับ ราคายางพาราไทยอย่างยั่งยืน

ผู้เขียน โดย ธนพล ตั้งสิริสุธีกุล

เรียกได้ว่า เป็นการกลับมาอีกครั้งของ “ยุคทองยางพารา” หลังจากประสบปัญหาราคาดำดิ่งมาอย่างยาวนานกว่า 3 ปี ขณะนี้กำลังพุ่งทะยานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ยางก้อนถ้วย ไม่ใช่ 3 โล 100 บาท เหมือนในอดีต ไปจนถึงยางแผ่นรมควันชั้น 3 ที่ในอีกไม่ช้าราคาอาจแตะถึงกิโลกรัม (กก.) ละ 100 บาท

อย่างไรตามแม้ว่าราคายางจะยังมีทิศทางที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ก็อดหวั่นใจแทนเกษตรกรชาวสวนยางไม่ได้ว่าระดับราคายางจะปรับตัวขึ้นสูงเช่นนี้ไปอีกนานเท่าไร แล้วจะเกิดเหตุการณ์ราคายางพาราตกต่ำซ้ำรอยในอดีต จนชาวสวนยางต้องขายทรัพย์สิน รถยนต์ หรือแม้กระทั่งต้องให้ลูกหลานออกจากโรงเรียนกลางคันหรือไม่

เพราะต้องยอมรับว่า กลไกการขึ้นลงของราคายางมาจากปัจจัยภายนอกประเทศเป็นหลัก ทั้งจากระดับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกและอุปสงค์จากประเทศผู้นำเข้าหลักอย่างจีน ซึ่งหากปีใดเศรษฐกิจจีนซบเซา ย่อมส่งผลกระทบต่อราคาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทางรอดทางเดียวของเกษตรกรชาวสวนยางที่จะเกิดผลระยะยาวและยั่งยืนสู่อนาคตมากที่สุด คงหนีไม่พ้นการจัดตั้งโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์จากยางพารา เพื่อช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ยางพาราอีกหลายเท่าตัว และยังเป็นการเพิ่มอัตราการใช้ยางในประเทศ ลดความผันผวนด้านราคาจากตลาดโลกอีกทาง

 

3Q2A5278

 

จังหวัดบึงกาฬ ในฐานะจังหวัดที่ปลูกยางมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ได้เริ่มเดินหน้าแนวคิดนี้ในการแก้ไขปัญหาราคายางของจังหวัดทั้งระบบ โดยเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาทำพิธีเปิดโรงงานผลิตหมอนยางพารา ชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ จำกัด ณ อ.เซกา จ.บึงกาฬ ซึ่งถือเป็นโรงงานแปรรูปยางของชาวสวนยางแห่งแรกของภาคอีสาน หรืออาจเรียกได้ว่า “บึงกาฬโมเดล”

นายสมนึก เศรษฐสมบูรณ์ ประธานชุมนุมสหกรณ์ฯ เล่าให้ฟังถึงที่มาของโรงงานว่า เกิดจากการที่ 13 สหกรณ์ชาวสวนยางใน 8 อำเภอของ จ.บึงกาฬ ต้องการรวมกลุ่มกันเป็นหนึ่งเดียวภายใต้ชื่อ “ชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ จำกัด” เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองราคาซื้อขายยาง โดยเฉพาะยางก้อนถ้วยกับกลุ่มผู้ประกอบโรงงานให้สูงขึ้นจากเดิม ขณะเดียวกันช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองในการซื้อปัจจัยการผลิตที่ถูกลง

 

3Q2A5441

เมื่อรวมกลุ่มกันได้สักระยะหนึ่ง สมาชิกในกลุ่มส่วนใหญ่ยังมองว่าการดำเนินการเพียงเท่านี้อาจยังไม่เพียงพอและไม่ใช่แนวทางระยะยาว เพราะหากยังขายยางก้อนถ้วยต่อไป รายได้ที่เกษตรกรได้รับอาจไม่เพิ่มสูงมากนัก ไม่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตได้ หากซ้ำร้ายราคายางดิ่งลงอีก ชาวสวนยางคงต้องเผชิญกับความยากลำบากเหมือนเช่นอดีตที่ผ่านมา

สหกรณ์จึงตัดสินใจครั้งใหญ่ เดินหน้าจัดตั้งโรงงานแปรรูปหมอนยางพาราขึ้น ได้เตรียมแผนธุรกิจไปขอกู้ธนาคารแห่งหนึ่งตามโครงการของรัฐบาล แต่ถูกปฏิเสธกลับมา เนื่องจากสหกรณ์เพิ่งก่อตั้งได้เพียง 1 ปี ไม่เข้าเงื่อนไขของธนาคาร จึงเปลี่ยนแผนไปกู้ธนาคารออมสินแทน โดยใช้ที่ดินทั้งหมดจำนวน 37 ไร่ของสหกรณ์เป็นหลักประกัน ท้ายที่สุดได้รับเงินกู้จำนวน 10 ล้านบาทมาก่อสร้างโรงงานขนาดกำลังการผลิตหมอนวันละ 300 ใบ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเก็บรายละเอียดของโรงงาน คาดว่าจะเปิดดำเนินการผลิตได้เต็มรูปแบบภายในเดือนเมษายน-พฤษภาคมนี้ ตั้งเป้าปี 2561 เพิ่มกำลังการผลิตเป็นวันละ 1,500 ใบ และปี 2563 กำลังการผลิตในระดับสูงสุดที่วันละ 6,000 ใบ

 

นอกจากนี้ยังถือเป็นความโชคดีของชาวบึงกาฬ ที่รัฐบาลเล็งเห็นถึงความสำคัญของการเพิ่มขีดความสามารถในการแปรรูปของชาวสวนยาง ได้อนุมัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม (งบกลางปี) ประจำปี 2560 วงเงิน 193,575,000 บาท ในการก่อสร้างและขยายโรงงานแปรรูปยางอีก 3 โรง ประกอบด้วย โรงงานผลิตน้ำยางข้น โรงงานผลิตยางแผ่นรมควันชั้น 3 โรงงานผลิตยางแท่ง (เอสทีอาร์ 20) คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างและเปิดการผลิตได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้

ยางพารา

 

เมื่อโรงงานทั้งหมดเสร็จ จะช่วยยกระดับรายได้แก่ชาวสวนยางบึงกาฬได้อีกหลายเท่าตัว เพราะหากคิดง่ายๆ อย่างการทำหมอนยางพารา 1 ใบ มีต้นทุนจากการใช้น้ำยางสด 5 กก. หรือประมาณ 75 บาทเท่านั้น แต่พอนำมาแปรรูปเป็นหมอนยางพารา ซึ่งปัจจุบันขายตามห้างสรรพสินค้าประมาณใบละ 1,000 บาท คิดดูว่ามูลค่าที่เกิดขึ้นมากมายขนาดไหน

ยังไม่นับรวมกับผลประโยชน์ที่จะได้รับจากโรงงานน้ำยางข้น ยางแผ่นรมควัน และยางแท่งที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าอีกหลายเท่า ชาวสวนยางบึงกาฬได้ประโยชน์มหาศาล

และเชื่อว่า “บึงกาฬโมเดล” จะเป็นทางรอดและทางออกของประเทศไทยจากปัญหาราคายางตกต่ำในระยะยาวอย่างแน่นอน

http://www.matichon.co.th/news/468706‘>

ข่าวเด่นบึงกาฬ ล่าสุด

อัพเดทล่าสุด