เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 19 กุมภาพันธ์ จังหวัดบึงกาฬ องค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ เหล่ากาชาดบึงกาฬ หอการค้าจังหวัดบึงกาฬ เเละองค์การหน่วยงานราชการ-เอกชน จัด “งานวันยางพาราเเละกาชาดบึงกาฬ 2560” ที่สนามหน้าที่ว่าการอำเภอเมือง จังหวัดบึงกาฬ โดยบรรยากาศภายในงานเป็นไปอย่างคึกมีประชาชน เกษตรกรชาวสวนยาง นักเรียนนักศึกษาเข้าร่วมงานจำนวนมาก ขณะที่เวทีเสวนาปราชญ์ชาวบ้าน ได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างมาก โดยเสวนาในหัวข้อ “สหกรณ์การเกษตรพร้าว โมเดลความสำเร็จชาวนา 4.0” โดยมี นางสุรีรัตน์ จอมแปลง ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรอ.พร้าว จ.เชียงใหม่ เป็นวิทยากร
นางสุรีรัตน์ กล่าวว่า หากถอดบทเรียนความสำเร็จของสหกรณ์การเกษตรอ.พร้าว ที่ทำนาครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จนสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้ชาวนาได้ ก็จะพบว่า สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับสหกรณ์ชาวสวนยาง หรือ กลุ่มเกษตรกรสวนยางได้เช่นกัน โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดประกอบด้วย 3 ปัจจัย คือ 1.ตัวเกษตรกร ที่ต้องรู้จักศึกษาหาความรู้ใหม่ๆอยู่เสมอ เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลง รู้จักปรับตัว ตลอดจนการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ไม่ยึดติดการทำเกษตรรูปแบบเดิมๆ หากไม่ได้ผลก็รู้จักที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการเพาะปลูก เพื่อผลผลิตที่สูงขึ้น และต้นทุนที่ลดลง 2.กรรมการสหกรณ์ ที่ต้องเข้มแข็ง มีความรู้ความสามารถ และมีความทุ่มเทให้แก่สหกรณ์ 3.ผู้จัดการสหกรณ์ ที่เป็นมีอาชีพ มีความเชี่ยวชาญด้านการเงิน และการตลาด รู้จักแนวโน้มของการตลาดว่า ขณะนี้ตลาดมีความต้องการอะไรบ้าง สินค้าแบบใดเป็นที่นิยม เพื่อพัฒนาและต่อยอดลงไปในสินค้าเกษตรที่มีอยู่ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้สินค้าได้ โดยเมื่อทั้ง 3 ส่วนรวมด้วยการอย่างเข้มแข็ง ก็จะทำให้สหกรณ์มีความเข้มแข็ง
นางสุรีรัตน์ กล่าวว่า เมื่อสหกรณ์มีความเข้มแข็งแล้ว สหกรณ์จะต้องมี 3 แผน คือ 1.แผนการผลิต ที่ต้องประเมินตามสถานการณ์ของตลาดว่า ขณะนี้มีความต้องการเท่าไหร่ แล้วจะผลิตเท่าไหร่ รวมทั้งจะยกระดับการพัฒนามาตรฐานการผลิตให้สูงขึ้นได้อย่างไร 2.แผนการตลาด จะต้องดูแนวโน้มของตลาดว่า ต้องการสินค้าประเภทใด แนวโน้มเป็นอย่างไร หากไม่มีตลาดก็ต้องรู้จักแสวงหาตลาดใหม่ๆ เพื่อหาช่องทางการระบายสินค้าเกษตรที่ผลิตมาได้ รวมทั้งอาจนำสินค้ามาแปรรูป หรือ ปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด จะเป็นการช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มในแก่สินค้าได้อีกทาง 3.แผนการเงิน ถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพื่อที่สหกรณ์จะได้รับรู้ถึงรายรับ และรายจ่ายว่าสมดุลกันหรือไม่ หากไม่สมดุลจะต้องลดรายจ่ายอย่างไร หรือเพิ่มรายได้อย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทางการเงิน รวมทั้งหากต้องการที่จะขยายการลงทุน ซื้อเครื่องจักรเพิ่มเติม จะต้องหาแหล่งเงินทุนจากทางใดบ้าง เมื่อทำได้ตามนี้ เชื่อว่า เกษตรกรชาวสวนยางจะมีระดับรายได้ที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน
“ดิฉัน เชื่อว่า หากเกษตรกรชาวสวนยางไม่ต่างคนต่างอยู่ มีการร่วมกลุ่มเป็นสหกรณ์ที่มีความเข้มแข็ง และดำเนินการตามทั้ง 3 แผนข้างต้นจะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ดีกว่าชาวนาอ.พร้าวอย่างแน่นอน เนื่องจากชาวสวนยางมีข้อได้เปรียบมากว่าชาวนา คือ สามารถเกี่ยวเก็บผลผลิตได้ทุกวัน แต่ชาวนายังต้องรอเป็นฤดูกาล ทำให้ชาวสวนมีรายได้เข้ามาอย่างสม่ำเสมอ หากสหกรณ์มีความเข้มแข็งร่วมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่ ซึ่งช่วยให้มีอำนาจในการต่อรองซื้อปัจจัยการผลิตได้ถูกลง จะยิ่งช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้นไปอีก และหากยิ่งได้ผู้จัดการสหกรณ์ที่เข้มแข็งรู้จักหาตลาด และคิดรูปแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่ยางสามารถนำไปแปรรูปได้หลายอย่าง ก็จะยิ่งช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชาวสวนมากยิ่งขึ้นไปอีก”นางสุรีรัตน์ กล่าว
ต่อมาเวลา 14.00 น. มีการเสวนาหัวข้อ “เส้นทางนวัตกรรมยางพาราของ มจพ.” โดยมี ผศ.ดร.ระพีพันธ์ แดงตันกี รองผู้อำนวยการสำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และอาจารย์ประจำ บัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธร ไทย-เยอรมัน (TGGS) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เป็นวิทยากร พร้อมสาธิตนวัตกรรมต่างๆ โดยมีประชาชนเกษตรกรชาวบึงกาฬเข้าร่วมงานเสวนาเเละร่วมซักถามจำนวนมาก ยังมี นายนิพนธ์ คนขยัน นายก อบจ.บึงกาฬ ร่วมกิจกรรมด้วย
ผศ.ดร.ระพีพันธ์ กล่าวว่า จริงๆทำวิจัยเกี่ยวกับยางพารามาหลายปีเเล้วเเต่เพิ่มมีการเปิดตัวเเละเปิดศูนย์วิจัยนวัตกรรมยางพาราประมาณ 2-3 ปี ด้วยการทำวิจัยทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับยางพารา ทั้งหมด ซึ่งอะไรที่เกี่ยวกับยางจะมาทดลองใช้จริงที่บึงกาฬ เพราะเป็นศูนย์กลางยางพารา ในปีนี้มีถนนยางพาราดินซีเมนต์ เป็นถนนปลอดฝุ่นทำจากยางพารา โดยที่จังหวัดบึงกาฬเริ่มทำเเล้วที่อำเภอเซกา ตอนเเรกตั้งใจจะทำที่ริมโขงแต่ไม่ทัน ปีหน้าอาจจะได้เห็น และหลังจากนี้จะขยายไปยังจังหวัดต่างๆ ด้วย โดยความพิเศษถนนยางพาราดินซีเมนต์ คือการนำน้ำยางพารามาผสมกับดินเเละซีเมนต์ โดยถนนระยะทาง 1 กิโลเมตร ใช้ยางพารา 12 ตัน
“นอกจากนี้ยังมีนวัตกรรมทั้งถนนเรืองเเสง นวัตกรรมอิฐบล็อกจากยางพารา ที่มีความยืดหยุนสูง เเละมีน้ำหนักเบา ยังมีส่วนนวัตกรรมที่เเก้ปัญหาที่ชาวบ้านเจอ โดยเอาปัญหามาเป็นตัวตั้ง เช่น นวัตกรรมทำน้ำใส เช่นน้ำโคลนน้ำเสียจากโรงงาน ที่อาจจะเกิดขึ้นจากเวลาล้างยางก้อนถ้วยเเล้วมีน้ำที่เหลือทิ้งเป็นโคลน สามารถนำนวัตกรรมนี้ไปใส่ในน้ำอัตราส่วน 1 กิโลกรัมต่อน้ำ 20,000-25,000 ลิตร ซึ่งจะทำปฏิกิริยาให้โคลนตกตะกอนทำให้น้ำใสกลับมาให้ได้อีกครั้ง นอกจากนี้ยังมีนวัตกรรมผงกำจัดกลิ่น ที่สามารถกำจัดกลิ่นจากยางพาราในโรงงานอุตสาหกรรม หรือบริเวณที่เก็บยางพารามากๆ ได้”
ผศ.ดร.ระพีพันธ์ กล่าวอีกว่า ยังมีนวัตกรรมล่าสุด เป็นสารจับยาง IR เป็นสารจับยางพาราที่ถูกน้ำให้เป็นก้อนกลับมาใช้ได้อีกครั้ง เเก้ปัญหาเกษตรกรชาวสวนยางเวลากรีดยางเเล้วโดนน้ำฝน ปกติต้องทิ้ง ใช้สารตัวนี้จะจับตัวยางพาราเเยกจากน้ำโดยที่ยางพารามีคุณสมบัติไม่ต่างจากเดิม นวัตกรรมนี้มาเปิดตัวที่จังหวัดบึงกาฬเป็นครั้งเเรก
“นวัตกรรมต่อไปที่กำลังจะทำได้รับโจทย์จากทางจังหวัด ซึ่งขณะนี้ได้ก่อตั้งโรงงานหมอนยางพาราเเล้ว ทาง มจพ.จะคิดค้นนาโนเทคโนโลยีกำจัดกลิ่นยางที่มาจาก เชื่อจุลินทรีย์ กับเเบททีเรีย กินโปรตีนเเล้วคายกลิ่นออกมา ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาทั่วประเทศ คือเวลาส่งออกเเล้วขณะขนส่งทำให้มีกลิ่นเเรงก็เลยถูกตีกลับ จากนี้จะมีการคิดค้นนาโนเทคโนโลยีป้องกันกลิ่น เเละยังเป็นหมอนปลอดเชื้อ อนาคตจะผลักดันเข้าสู่โณงพยาบาลเเละสาธารณะสุข เป็นหมอนสุขภาพจากบึงกาฬ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในงานยังมีการจัดอบรมอาหาร งานฝีมือ และการตลาด เพื่อส่งเสริมวิชาชีพ โดยวันนี้มีการอบรมเรื่อง “ผ้ามัดย้อมสไตล์ญี่ปุ่น ชิโบริ” โดย อ.ศรุดา กันทะวงศ์ เเละอบรมทำอาหาารเมนู “รวยด้วยขนมหม้อ (บัวลอยเผือก,ปากริมไข่เต่า” โดยอ.พะเยาว์ กฤษแก้ว ยังมีกิจกรรมเชียร์การแข่งขันกรีดยางพารา การแข่งขันลับมีดกรีดยางระดับประเทศ รางวัลสูงสุด 100,000 บาท เเละไฮไลท์สำคัญกับเวทีการประกวด “บึงกาฬคอนเทสต์ 2017” ระหว่างอำเภอศรีวิไลและอำเภอปากคาด และคอนเสิร์ต หญิงลี ศรีจุมพล