ประเพณีบุญเดือนเก้า ข้าวประดับดิน เป็นประเพณีที่สืบทอดมาของชาวอีสาน และปีนี้ตรงกับวัน ที่ 20 และ 21 สิงหาคม 2560 โดยบรรยากาศเช้าวันนี้ (21 ส.ค. 60) ที่จังหวัดบึงกาฬ ชาวบ้านหลายหมู่บ้าน ออกมาร่วมทำบุญกันอย่างคึกคัก ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ นำอาหาร คาว หวาน มาถวายภัตตาหารเช้าแด่พระสงฆ์ที่จำพรรษาภายในวัดและพร้อมใจร่วมกันถือศีล และกล่าวคำอาราธนาศีลห้า กล่าวคำถวายภัตตาหาร ตามประเพณีบุญเดือนเก้า “ข้าวประดับดิน” หรือ “บุญข้าวประดับดิน” หนึ่งในประเพณีฮีตสิบสอง คองสิบสี่ ของชาวอีสาน เพื่ออุทิศบุญกุศลให้กับผู้ล่วงลับไปแล้ว
ประเพณีนี้ จะทำกันหลังจากเข้าพรรษาไปได้ประมาณหนึ่งเดือน เป็นอีกหนึ่งฮีตคองประเพณีอีสานเรียกว่า บุญข้าวประดับดิน เป็นประเพณีที่คนลาวและชาวไทยอีสาน มีความเชื่อสืบต่อกันมาว่า กลางคืนของเดือนเก้า หรือ ในคืนวันแรมสิบสี่ค่ำ เดือนเก้า เป็นวันที่ประตูนรกเปิด ยมบาลจะปล่อยให้ผีนรกออกมาเยี่ยมญาติในโลกมนุษย์ เป็นคืนเดียวเท่านั้นในรอบปี ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจะนำข้าวปลา อาหาร คาวหวาน ผลไม้ หมาก พลู บุหรี่ อย่างละเล็ก อย่างละน้อย แล้วห่อด้วยใบตองทำเป็นห่อเล็กๆ นำไปวางตามโคนต้นไม้ใหญ่หรือตามพื้นดินบริเวณรอบๆ เจดีย์หรือโบสถ์ เป็นการทำบุญที่ชาวบ้าน จัดขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้วส่วนในวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 ปีนี้ตรงกับวันที่ 21 สิงหาคม 2560 ชาวบ้านจะมารวมตัวที่วัดประจำหมู่บ้าน เพื่อร่วมทำบุญตักบาตร และจัดห่อข้าว เครื่องใช้ที่จำเป็น พร้อมเขียนชื่อญาติที่ล่วงลับ และถวายปัจจัยให้กับพระ เพื่อสวดทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้
สำหรับพิธีกรรมบุญข้าวประดับดิน มีดังนี้
1. วันแรม 13 ค่ำ เดือน 9 ชาวบ้านจะเตรียมข้าวต้ม ขนม อาหารคาวหวาน หมาก พลู และบุหรี่ไว้ 4 ส่วน ส่วนหนึ่งเลี้ยงดูกันภายในครอบครัว ส่วนที่สองแจกให้ญาติพี่น้อง ส่วนที่สามอุทิศให้ญาติที่ตายไปแล้ว และส่วนที่สี่นำไปถวายพระสงฆ์
ในส่วนที่สาม ญาติโยมจะห่อข้าวน้อย ซึ่งมีวิธีการห่อคือ ใช้ใบตองห่อขนาดเท่าฝ่ามือ ส่วนความยาวนั้นให้ยาวสุดซีกของใบตอง
2. วันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 ชาวบ้านจะไปวัดตั้งแต่เวลาตี 4 เพื่อนำสิ่งของที่เตรียมไว้จัดใส่กระทง หรือเย็บเป็นห่อเหมือนข้าวสากไปวางอุทิศส่วนกุศลตามที่ต่าง ๆ ซึ่งการวางแบบนี้ เรียกว่า การวางห่อข้าวน้อย แต่หากเป็นการนำไปวางในวัด จะเรียกว่า การยาย (วางเป็นระยะ ๆ ) ห่อข้าวน้อย ซึ่งเวลานำไปวางจะพากันไปทำอย่างเงียบ ๆ ไม่มีการตีฆ้อง ตีกลองแต่อย่างใด
3. หลังจากวางเสร็จแล้ว ชาวบ้านจะกลับบ้านเพื่อเตรียมอาหารทำบุญที่วัดอีกทีหนึ่งในตอนเช้า เมื่อพระสงฆ์ฉันเช้าเสร็จก็จะเทศน์ฉลองบุญข้าวประดับดิน ต่อจากนั้น ชาวบ้านจะนำปัจจัยไทยทานถวายแด่พระสงฆ์ เมื่อพระสงฆ์ให้พรเสร็จ ชาวบ้านที่มาทำบุญก็จะกรวดน้ำ อุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติผู้ที่ล่วงลับไปแล้วทุก ๆ คน
โดยความเป็นมาของประเพณีมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล มีเรื่องเล่าไว้ในพระธรรมบทว่า ญาติของพระเจ้าพิมพิสารกินของสงฆ์ เมื่อตายไปจึงไปเกิดในนรก พระเจ้าพิมพิสารถวายทานแด่พระพุทธเจ้าแล้วไม่ได้อุทิศให้ญาติที่ตายไป พอตกกลางคืนเหล่าญาติของพระเจ้าพิมพิสารที่ตายไปมาปรากฎตัวเปล่งเสียงร้องน่ากลัวบริเวณพระราชนิเวศ รุ่งเช้าพระเจ้าพิมพิสารจึงได้รีบไปทูลถามพระพุทธเจ้า พระองค์จึงบอกเหตุให้ทราบว่าญาติที่ไปตกอยู่ในภูมินรก ต้องการได้รับส่วนกุศล จึงได้ก่อเกิดการทำบุญข้าวประดับดินขึ้นมา เพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่ญาติที่ล่วงลับ และถือเป็นประเพณีที่ต้องทำมาเป็นประจำทุกปี เพราะไม่ใช่แค่เหล่าบรรดาญาติที่เสียชีวิตไปแล้วแต่บรรดาวิญญาณเร่รอน ก็สามารถรับส่วนกุศลนั้นไปด้วย นอกจากนี้บุญข้าวประดับดิน ยังถือว่าเป็นการให้ทานแก่ผู้ยากไร้รวมทั้งสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของ ที่ต้องหิว อดมื้อกินมื้อมาตลอดทั้งปีอีกด้วย เพราะการที่ตั้งอาหารไว้ที่พื้นทำให้สัตว์เหล่านั้นสามารถเข้ามากินอาหารได้อย่างเต็มที่
‘>