บึงกาฬ เมืองแห่งยางพารา มุ่งพัฒนาเกษตรกรจากผู้ผลิตสู่การแปรรูป พร้อมเดินหน้าตอกหมุดโครงการสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 5 เชื่อมไทย-ลาวในปี”62 พ่อเมืองมองไกลวางผังเขตเศรษฐกิจพิเศษรองรับการค้า-การลงทุน หนุนสนามบินเสริมแกร่งการคมนาคม ค้าชายแดน-ท่องเที่ยวรับอานิสงส์ พร้อมปูพรมสู่กรีนซิตี้-เมืองที่พักผู้สูงอายุระยะยาว
นายพิสุทธิ์ บุษยพรรณพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จังหวัดบึงกาฬมีพื้นที่ทั้งหมด 2.6 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ป่า เขา อุทยานฯ แหล่งน้ำ และมีพื้นที่เกษตร 1.7 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ปลูกยางพารากว่า 1.2 ล้านไร่ มีการขึ้นทะเบียนไว้ 905,498 ไร่ พื้นที่ปลูกข้าว 5 หมื่นกว่าไร่ และส่วนที่เหลือเป็นผลไม้อื่น ๆ รวมถึงพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันอีก 5 หมื่นไร่ โดยผลิตภัณฑ์มวลรวม (GPP) อยู่ที่ 2.2 หมื่นล้านบาท ถ้าเทียบกับจังหวัดรอบข้างอย่างหนองบัวลำภูก็ยังถือว่าน้อยกว่า รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ 69,000 บาท โดยมีรายได้หลักมาจากภาคการเกษตร
ชูเมืองยางพารามุ่งแปรรูป
นายพิสุทธิ์กล่าวว่า เนื่องจากมีพื้นที่ปลูกยางพาราจำนวนมาก ทำให้การค้า การลงทุนในจังหวัดบึงกาฬส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับยางพารา ทั้งโรงงานยางเครป ยางแท่ง ที่ส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ รวมถึงโรงงานแปรรูปไม้ยางพารา โดยอุตสาหกรรมดาวเด่นคือการแปรรูปหมอนและที่นอนยางพารา ซึ่งขณะนี้ที่เห็นเด่นชัดมีประมาณ 2-3 โรงงาน ทั้งชุมนุมสหกรณ์ยางบึงกาฬและบริษัทเอกชนอีก 2 แห่ง อีกทั้งมีกลุ่มขนาดเล็กที่ผลิตด้วยมือ ขณะเดียวกันมีโรงงานที่ขายยางอัดแท่งส่งไปจีนอีกกว่า 11 โรงงาน รวมถึงมีบริษัทจีนที่มารับซื้อยางพาราและส่งออกเองด้วย
ขณะที่ยุทธศาสตร์ของจังหวัดคือการเป็นเมืองยางพาราและเป็นประตูเชื่อมโยงการค้าอินโดจีน โดยปี 2561 จังหวัดได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลกว่า 193 ล้านบาท ในการดำเนินโรงงานแปรรูปของชุมนุมสหกรณ์ยางบึงกาฬ รวมถึงมุ่งเน้นพัฒนาเกษตรกรให้ปรับเปลี่ยนวิธีคิดการทำเกษตร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ให้สามารถเพิ่มมูลค่าได้ ไม่เพียงปลูกยางพาราและจำหน่ายแต่ยางก้อนถ้วยเท่านั้น แต่จะให้พัฒนาไปสู่การแปรรูป เช่น ยางแผ่น หมอน ที่นอนยาง แต่จะเป็นลักษณะค่อยเป็นค่อยไป
ขณะเดียวกันการจัดงานวันยางพาราเเละกาชาดบึงกาฬ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกษตรกรเกิดการปรับตัว จากต้นน้ำที่เป็นผู้ปลูกและจำหน่ายยางก้อนถ้วย ได้เห็นนวัตกรรมและความรู้นำไปสู่กลางน้ำด้วยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ และที่เห็นเด่นชัดคือ คนที่มาร่วมงานเป็นเกษตรกรชาวสวนยางพาราตัวจริง ไม่ใช่นายทุน
โดยงานวันยางพาราและกาชาดบึงกาฬ 2561 จะจัดขึ้นในวันที่ 17-23 มกราคม 2561 ณ สนามหน้าที่ว่าการอำเภอเมือง จังหวัดบึงกาฬ โดยไฮไลต์การจัดงานนั้นเหมือนการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร และน้อมนำศาสตร์พระราชามาเป็นธีมของการจัดงาน โดยการนำหลักทรงงานของในหลวง ร.9 คือ การระเบิดจากข้างใน มองดูว่าทำอะไรอยู่ สามารถพึ่งพาตัวเองได้ไหม และจะพัฒนาอย่างไร นับเป็นสิ่งสำคัญของเกษตรกรชาวบึงกาฬ ที่เริ่มจะมองดูและพัฒนาตัวเอง รู้ว่าตัวเองปลูกยางพารา และเป็นแนวทางหนึ่งในการสร้างนวัตกรรมและสร้างรายได้
ปี”62 เดินหน้าสะพานแห่งที่ 5
นายพิสุทธิ์กล่าวอีกว่า ในปีงบประมาณปี 2560 เพิ่มเติม จังหวัดบึงกาฬได้งบฯมา 1,400 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการพัฒนาโลจิสติกส์ การคมนาคม และโครงสร้างพื้นฐาน ประมาณ 800 ล้านบาท ทั้งทางหลวงชนบท ทางหลวงแผ่นดิน และพื้นที่ทางการเกษตร ขณะที่ปี 2561 ได้รับงบฯกลุ่มจังหวัด 400 ล้านบาท ซึ่งจะกระจายอยู่ 3 เรื่อง คือการเกษตร ท่องเที่ยว
และโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงได้วางแผนดำเนินการโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 5 เชื่อมไทย-สปป.ลาว และจีนตอนใต้ ซึ่งห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 10 กิโลเมตร เป็นการผลักดันตามแนวทางพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีการพูดคุยกับ สปป.ลาวแล้ว โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือส่วนที่ 1 การดำเนินการฝั่งไทย ที่จะมีการเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมเข้าสู่สะพาน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเวนคืนที่ดิน คาดว่าปี 2562 จะเริ่มก่อสร้างโครงข่ายโดยรอบ ซึ่งกรมทางหลวงจะเป็นผู้ดำเนินการ
ส่วนที่ 2 การดำเนินการฝั่ง สปป.ลาวที่จะทำถนนเชื่อมเข้าสู่สะพาน และส่วนที่ 3 การก่อสร้างสะพาน เป็นการร่วมลงทุนของทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งผ่านขั้นตอนการออกแบบแล้ว และ สปป.ลาวได้ขอแก้ไขแบบเล็กน้อย รวมถึงไทยหาแหล่งเงินกู้ใน สปป.ลาวแล้ว แต่ สปป.ลาวยังติดที่ดอกเบี้ย และอาจจะอยู่ระหว่างการต่อรอง ทั้งนี้งบประมาณในการก่อสร้างของไทยประมาณ 3,000 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าการก่อสร้างสะพานจะใช้เวลา 2-3 ปี หรืออาจจะแล้วเสร็จปี 2565 หรือ 2566
ดันเขต ศก.พิเศษ-สนามบิน
นายพิสุทธิ์กล่าวต่อว่า อนาคตต้องเตรียมพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ทั้งฝั่งไทยและ สปป.ลาว ซึ่งขณะนี้ไทยได้เริ่มมีการพูดคุยกัน แต่ต้องมีการพูดคุยกันอีกครั้ง เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวนั้นมีหนองน้ำ ต้องดูว่าจะสามารถนำไปทำประโยชน์อะไรได้บ้าง รวมถึงต้องประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) ก่อน เบื้องต้นมีพื้นที่ประมาณ 4,000 ไร่ แต่ยังไม่รู้ว่าเพียงพอหรือไม่ ต้องดูพื้นที่ของเอกชนเพิ่มเติม โดยจะมุ่งเน้นอุตสาหกรรมการเกษตรเป็นหลัก ขณะเดียวกันเมื่อการค้า การลงทุนเกิดขึ้น สิ่งที่ตามมาคือสนามบินบึงกาฬ ซึ่งคาดว่าพื้นที่ตั้งจะอยู่ใกล้เขตเศรษฐกิจพิเศษ
ขณะที่อานิสงส์ของสะพานจะส่งผลให้การค้าชายแดนเพิ่มขึ้นอย่างน้อยถึงระดับหมื่นล้านบาท จาก ณ วันนี้สินค้าส่งออกหลักไม่ใช่สินค้าภายในจังหวัด แต่เป็นคาราบาวแดง เครื่องใช้ไฟฟ้า และน้ำมัน ซึ่งสร้างมูลค่าการค้าชายแดนปีละ 3,000 ล้านบาท โดยสินค้าส่งออกในอนาคตนั้นไม่เพียงแต่ยางพาราเท่านั้น แต่รวมถึงข้าวและผลไม้อื่น ๆ ซึ่งปัจจุบันจังหวัดบึงกาฬยังไม่มีผู้ค้าพืชผลทางการเกษตร เป็นผู้ค้าจากจังหวัดอุดรธานีเข้ามารับซื้อ
บูมที่พักผู้สูงอายุจับกลุ่มญี่ปุ่น
นอกจากนี้จังหวัดบึงกาฬยังมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว เนื่องจากมีความโดดเด่นเรื่องระบบนิเวศและแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม เพราะมีทั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า และพื้นที่ชุ่มน้ำโลก 2 แห่ง รวมถึงมีพื้นที่ติดแม่น้ำโขงกว่า 120 กิโลเมตร โดยแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นที่รู้จัก ได้แก่ ภูทอก ภูสิงห์ หินสามวาฬ บึงบัวแดง และหาดคำสมบูรณ์ เป็นต้น รวมถึงเน้นเรื่องการท่องเที่ยวชุมชน โดยจากสถิติจังหวัดบึงกาฬมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2557-2559 มีนักท่องเที่ยว 4 แสนคน 5 แสนคน และ 6 แสนคนตามลำดับ โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย ขณะที่ชาวต่างชาติมักมาจากจังหวัดหนองคายและเข้ามาเที่ยวบึงกาฬต่อ
ทั้งนี้ การเติบโตขึ้นของนักท่องเที่ยวมาจากผลของการจัดงานวันยางพาราและกาชาดบึงกาฬ ทำให้เกิดการท่องเที่ยวภายในจังหวัดมากขึ้น รวมถึงการที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาพัฒนาการท่องเที่ยวตามวิถีอารยธรรมลุ่มน้ำโขง เริ่มตั้งแต่จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ ยาวไปนครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานีให้เชื่อมโยงกัน โดยในปี 2561 นี้ จังหวัดวางแผนสร้างแลนด์มาร์กแห่งใหม่เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยใช้สัญลักษณ์คือพญานาค ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบ ทั้งนี้ ตั้งเป้านักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นถึงปีละ 1 ล้านคน
“อนาคตตั้งเป้าจะเป็นเมืองกรีนซิตี้และเมืองสุขภาพ มุ่งสู่การเป็นเมืองพักอาศัยระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งขณะนี้เริ่มมีธุรกิจที่พักเปิดบริการบ้างแล้ว และล่าสุดมีภาคเอกชนในท้องถิ่นที่ดำเนินการก่อสร้างรีสอร์ตสำหรับรองรับผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอีกแห่ง โดยตั้งเป้าเจาะตลาดญี่ปุ่น คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2561 ต่อไปให้โรงพยาบาลในจังหวัดเป็นแกนสำคัญของการที่จะดูแลผู้สูงอายุในโรงพยาบาล และให้ผู้สูงอายุไปมีส่วนทำกิจกรรมในโรงพยาบาล เช่น ให้สมาชิกผู้สูงอายุในโรงพยาบาลหันไปดูคนที่จะมาทำธุรกิจในลักษณะของการเสริมสร้างสุขภาพขึ้นมาด้วย” นายพิสุทธิ์กล่าว
ขอขอบคุณที่มา https://www.prachachat.net/local-economy/news-101932
‘>