ที่มา | หน้าประชาชื่น มติชนรายวัน |
---|---|
ผู้เขียน | อรพรรณ จันทรวงศ์ไพศาล, ชนากานต์ ปานอ่ำ และ ลลิดา พิงคะสัน |
เผยแพร่ |
ตอกย้ำความเป็นมหกรรมยางพาราครั้งสำคัญ สำหรับงาน “วันยางพาราและกาชาดบึงกาฬ 2561”
ที่ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ ในการรวบรวมเอาสุดยอด “นวัตกรรม” ยางพาราทุกมิติ ทุกหน่วยงานมาไว้ในงานเดียว
ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมจากสถาบันการศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ที่มาพร้อมกับงานวิจัยที่คิดค้นขึ้นเพื่อเกษตรกร ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ
มีตั้งแต่นวัตกรรมในขั้นตอนการผลิตวัตถุดิบ ได้แก่ สารจับยาง IR ที่สามารถแยกเนื้อยางพาราออกจากน้ำยางที่มีความเข้มข้นต่ำ ใช้แก้ปัญหาน้ำยางที่รวมอยู่ในน้ำฝนซึ่งปกติจะต้องเททิ้ง ให้กลับมาจับตัวเป็นก้อนยางพาราได้
อีกทั้งยังมีนวัตกรรม “ถนนเรืองแสงจากยางพารา” นวัตกรรมใหม่ครั้งแรกของประเทศไทย โดย ผศ.ดร.ระพีพันธ์ แดงตันกี พร้อมทีมวิจัยของ มจพ. เป็นผู้คิดค้นขึ้น เพื่อแก้ปัญหาจากสาเหตุระบบส่องสว่างชำรุดเสียหาย ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยมีแนวทางแก้ไขคือ ใช้สีสะท้อนแสงจากยางพาราผสมสารฟอสฟอเรสเซนซ์
อีกหนึ่งนวัตกรรมเด็ดตอบโจทย์เกษตรกรที่ต้องเข้าสวนกรีดยาง
เมื่อบริษัท แอดวานซ์ คิว จำกัด ได้ออกแบบ คิดค้น และจัดจำหน่ายมีดกรีดยางรุ่นใหม่ ที่มีชื่อเรียกว่า “มีดกรีดยางนกเงือก” นวัตกรรมมีดรุ่นใหม่ของโลกจากฝีมือชาวไทย
มะนายิ ราหู ชาวสวนยางพารา จาก อ.แว้ง จ.นราธิวาส เป็นผู้ออกแบบและคิดค้น
เขาเป็นชายหนุ่มที่เติบโตมากับสวนยางพารา มีประสบการณ์ตรงจากการโค่นยางทิ้ง เมื่อกรีดได้เพียง 25 ปี จึงเกิดความคิดว่าอยากกรีดได้นานกว่านี้ นับเป็นจุดเริ่มที่ทำให้ มะนายิคิดค้นมีดกรีดยางนกเงือกขึ้น
“พยายามหาว่าอะไรที่เป็นสาเหตุจริงๆ ก็ไปสังเกตจากการกรีด พบว่าส่วนใหญ่จะกรีดเสีย กรีดหนา ประกอบกับอุปกรณ์เดิมคือ มีดเจ๊ะบง ใช้งานมาแล้วกว่า 100 ปี ไม่มีการพัฒนาเลย จึงคิดว่าปัญหาที่เกิดมาจากมีด เลยออกแบบมีดมาใหม่คือมีดนกเงือก”
จากนั้น มะนายิใช้เวลาออกแบบและทดลองนานกว่า 7 ปี เขาเล่าว่า ได้ไอเดียมาจากของ 3 อย่างคือ
1.มีดเจ๊ะบง หรือมีดกรีดยางเดิม โดยนำเอกลักษณ์การกรีดยางที่จะมีการดึงและดันมาใช้ 2.กบไสไม้ ที่สามารถตั้งมีดให้กินเนื้อไม้หนาหรือบางได้ และ 3.มีดโกน ที่สามารถเปลี่ยนใบมีดได้ เวลาเราโกนหนวดจะง่ายมาก หลับตาโกนก็ยังได้ เพราะมีตัวกันหน้ากันหลังไม่บาด
ขณะที่ ประยุทธ์ พุทธาโกฐิรัตน์ ประธานบริษัท แอดวานซ์ คิว จำกัด บอกว่า มีดกรีดยางนกเงือกเป็นนวัตกรรมใหม่ช่วยให้ กรีดยางง่าย กรีดบาง น้ำยางออกดี สามารถยืดอายุการกรีดยางถึง 50 ปี เนื่องจากปกติต้นยางกรีดยางได้ประมาณ 25 ปี ต้องโค่นทิ้ง แต่มีดนกเงือกกรีดบางกว่าจึงยืดอายุต้นยางได้
“การโค่นต้นยางทิ้งแล้วปลูกใหม่มีการลงทุนประมาณ 50,000 บาทต่อไร่ แถมยังต้องรออีก 7 ปีจึงกรีดได้ เป็นการสิ้นเปลืองเวลาอย่างมาก จากการคำนวณนวัตกรรมนี้จะทำให้ประเทศชาติประหยัดงบประมาณการลงทุนไปถึง 7 แสนล้านบาท และจากการวิจัยของศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทราค้นพบว่า มีดนกเงือกสามารถกรีดได้น้ำยางเพิ่มขึ้น 13.5% เมื่อเทียบกับการใช้มีดกรีดยางแบบเดิม”
ประยุทธ์ยังระบุถึงสิ่งที่น่าคิดจากปริมาณน้ำยางที่เพิ่มขึ้นนี้ว่า หากสวนยางในประเทศไทย 4 ล้านไร่ ใช้มีดกรีดยางนกเงือก จะได้นำยางเพิ่มขึ้น 5.4 แสนตัน ถ้าขายตันละ 50,000 บาท เท่ากับประเทศชาติได้รายได้เพิ่มขึ้นอีก 2.7 ล้านบาท
จุดเด่นตรงนี้เองทำให้มีดกรีดยางนกเงือกได้รับความสนใจจากผู้ร่วมงานวันยางพาราครั้งนี้เป็นอย่างมาก
ขณะที่ จังหวัดบึงกาฬ เจ้าบ้านก็ไม่น้อยหน้า เมื่อถึงงานวันยางพาราทั้งทีก็มีนวัตกรรมที่เป็นผลผลิตของชาวสวนยางในจังหวัด ที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง
นั่นคือ “หมอนยางพารา” ผลิตภัณฑ์จากชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางพาราจังหวัดบึงกาฬ
นิพนธ์ คนขยัน นายก อบจ.บึงกาฬ ในฐานะที่ปรึกษาชุมนุมสหกรณ์ฯ อธิบายว่า หมอนยางพาราบึงกาฬผ่านมาตรฐานจากการค้นคว้าและทดลองโดยนักวิจัยจาก อ.นพรัตน์ วิชิตชลชัย นักวิจัยจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ผลตอบรับของหมอนยางพาราก็ค่อนข้างดี คนซื้อเยอะ เพราะราคาถูก โดยขั้นตอนการผลิตหมอนเริ่มจากหมักน้ำยางข้น ผสมสารเพื่อให้น้ำยางข้นเป็นฟอง แล้วนำไปหมักต่อ จากนั้นฉีดอัดเข้าบล็อกหมอน แล้วนำไปนึ่งด้วยระบบไอน้ำนาน 1 ชั่วโมง ครั้งละ 100 ใบ จากนั้นนำไปล้างน้ำ รีดน้ำออก นำไปอบแห้งที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส นาน 1 ชั่วโมง ก่อนจะนำมาผึ่งลมและใส่ปลอกหมอนเพื่อจำหน่าย
นิพนธ์บอกอีกว่า ขณะนี้บึงกาฬผลิตหมอน 2 รูปแบบ เป็นแบบมาตรฐาน จากแบบทั้งหมด 20 แบบ เนื่องจากขึ้นอยู่กับงบประมาณการทำบล็อก อีกทั้งโรงงานเพิ่งจะเป็นรูปเป็นร่าง ที่ผ่านมาติดปัญหาเรื่องเงินทุนทำให้ใช้เวลานานมากกว่าโรงงานจะก่อตั้งได้สำเร็จ
“ในอนาคตวางแผนว่า ถ้าได้รับงบจากรัฐบาลมา 193 ล้านบาท จะนำมาทำโรงงานทำที่นอนยางพารา โรงงานยางข้น โรงงานยางอัดรมควัน เพื่อนำนำไปแปรรูป เช่น สนามยาง ซึ่งจะช่วยให้เกิดอุตสาหกรรมการแปรรูปยางพาราครบวงจร แต่ก็ยังติดปัจจัยเรื่องเงินทุน เพราะถ้าไม่มีทุนก็เดินไม่ได้
นิพนธ์ระบุอีกว่า ทุกวันนี้เรื่องราคายางถือว่าเป็นปัญหา ซึ่งการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนคือการที่รัฐบาลต้องสนับสนุนเกษตรกร โดยการนำยางไปแปรรูปเพิ่มมูลค่า การชดเชยไร่ละ 10,000 บาท เป็นการให้เงินที่ไม่นานก็หมด ควรให้เป็นงบประมาณเพื่อลงทุนดีกว่า
“ถามว่าขณะนี้มีโรงงานหมอนยางพาราแล้วส่งผลอย่างไรกับเกษตรกรบ้าง ตรงนี้อาจจะยังไม่เห็นผลเท่าไหร่ แต่ถ้าอนาคตถ้าโรงงานแปรรูปของเราเสร็จหมดจะเป็นการดึงยางจากตลาดมาใช้ จะช่วยให้ความเป็นอยู่ของชาวสวนยางบึงกาฬดีขึ้นได้แน่นอน”
ที่นิพนธ์มั่นใจว่าโรงงานเสร็จจะส่งผลดีต่อชาวสวนยาง เนื่องจากมีการบริหารจัดการโรงงานผ่านชุมนุมสหกรณ์ฯ ซึ่งมีระบบปันผลให้กับสมาชิกซึ่งเป็นเกษตรกรในจังหวัดบึงกาฬ
“นอกจากนี้กำไร 50 เปอร์เซ็นต์ หลังเฉลี่ยคืนเข้ากองทุนสหกรณ์กับพัฒนาสังคม ซึ่งจะมีระบบปันผลให้กับสมาชิกแล้วจะเฉลี่ยคืนผู้นำยางมาจำหน่าย เช่น สมมุตินำยางมาขายกิโลกรัมละ 10 บาท วันนี้มีกำไรทั้งหมดเฉลี่ยแล้วเพิ่มอีก 3 บาท ก็จะได้กลับไปกิโลกรัมละ 13 บาท ทำให้คุณภาพชีวิตเกษตรกรสวนยางดีขึ้น เพราะราคายางเพิ่ม” เป็นเป้าหมายที่ นายก อบจ.บึงกาฬวางไว้
ข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของนวัตกรรมที่ปรากฏในงานวันยางพาราและกาชาดบึงกาฬ เป็นการสะท้อนแนวทางการแก้ปัญหายางพาราทุกมิติ
ด้านบริษัทสยามสนาม เป็นภาคเอกชนที่มีการคิดค้นนวัตกรรมยางพาราในการช่วยเกลือเกษตรกร ด้านการออกแบบ ค้นคว้า วิจัย และทำการตลาด ร่วมกับชุมนุมสหกรณ์อุตสาหกรรมยางพาราภาคใต้ หรือสหกรณ์บ้านนาเดิม
การค้นคว้าของสยามสนามสอดคล้องกับนวัตกรรมที่เกิดขึ้นในงานครั้งนี้ นั่นคือการสนับสนุนให้เกิดการใช้ยางในประเทศ เป็นการแก้ปัญหาราคายางพารา ถึงแม้ไม่ได้มาร่วมจัดแสดงโชว์นวัตกรรมในงานวันยางพาราฯนี้ แต่ก็มีแนวคิดและงานวิจัยดีๆ มาร่วมแลกเปลี่ยนเช่นกัน
จุดเริ่มต้นจากการเข้ามาช่วยชาวสวนยางครั้งนี้ เสฏฐพันธ์ เลิศบวร เล่าว่า ตอนแรกทำสนามกีฬามาก่อน โดยเป็นยางสังเคราะห์นำเข้าจากต่างประเทศ มีวันหนึ่งรู้สึกว่ายางพาราล้นตลาด ซึ่งน่าจะนำมาทำอะไรกับสนามได้บ้าง จึงเริ่มหาข้อมูล จนมารู้ว่ากรมวิทยาศาสตร์บริการ โดย ดร.อรสา อ่อนจันทร์ นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานยาง กรมวิทยาศาสตร์บริการ เป็นผู้คิดค้นนวัตกรรมที่เอายางพารามาแปรรูปและทำพื้นสนามกีฬา จึงเกิดความสนใจ
ปัจจุบันจึงมีแผ่นพื้นสนามที่ทำจากยางพาราในรูปแบบพื้นลู่วิ่ง พื้นสำหรับผู้สูงอายุในสวนสาธารณะ พื้นสนามกีฬา พื้นในศูนย์เด็กเล็กและคนชรา เพื่อใช้ทดแทนพื้นกระเบื้องหรือปูน โดยการผลิตไม่มีสารเคมี จึงไม่เป็นอันตราย และมีการออกแบบให้ไม่ลามไฟ กล่าวคือ พอมีไฟไหม้มันจะดับเอง อันเป็นไปตามมาตรฐานการส่งออก
“ผมมองว่าพื้นสนามยางพารามีประโยชน์ ทั้งทำให้เกิดการใช้ยางพาราในประเทศมากขึ้น ภาพรวมอุตสาหกรรมราคาสูงขึ้นตามกลไกตลาด ซึ่งตอนแรกมีความพยายามติดต่อภาคเอกชน แต่ก็มองว่าเงินไม่ถึงมือภาคประชาชนจริงๆ จึงมองหาสหกรณ์ที่มีศักยภาพในเรื่องเครื่องมือ เครื่องจักรในการแปรูป จนมาเจอชุมนุมสหกรณ์อุตสาหกรรมยางพาราภาคใต้ฯ และมีการความร่วมมือโดยการลงนามความร่วมมือ (MOU) โดยในเรื่องการตลาดเราจะเป็นตัวแทนจำหน่ายให้กับภาคสหกรณ์”
เสฏฐพันธ์บอกอีกว่า ยังมีการคิดค้นนวัตกรรมอื่นคือ หลักกิโลเมตรที่ทำจากยางพาราซึ่งอยู่ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง โดยประมาณเดือนมีนาคมน่าจะผลิตแสนกว่าต้น ซึ่งจะระบายยางประมาณ 3,000 ตัน นอกจากนี้ยังมีแนวคิดทำแผ่นยางรองคอกปศุสัตว์ กำลังดูเรื่องของการดีไซน์
สำหรับหลักกิโลเมตรจากยางพาราเป็นนวัตกรรมที่เกิดขึ้นมาใหม่ นอกจากจะช่วยเพิ่มการใช้ยางแล้ว ยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนใช้รถใช้ถนนด้วย
ณัฐกาญจน์ เสนเนียม หนึ่งในผู้ร่วมผลักดันโครงการครั้งนี้ เล่าว่า เสาหลักกิโลเมตรเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่พวกเราเข้ามาช่วยกันคิด ช่วยกันทำ และพัฒนา โดยเสาที่ทำจากคอนกรีตคือนำยางพารามาผสม โดยมีความร่วมมือกับกรมทางหลวงซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องของความปลอดภัย เนื่องจากการนำยางพารามาใช้ ทำให้ลดแรงกระแทกได้ดี และช่วยลดความรุนแรงจากอุบัติเหตุให้บรรเทาเบาบางลงได้
“นอกจากนี้ยังมีแนวคิดจะทำเรื่องเสาล้มลุกที่ใช้ทดแทนเสาสีส้มที่เป็นพลาสติก แตกง่าย และเรื่องขอบฟุตปาธ แท่งแบริเออร์ข้างทางที่ทำจากคอนกรีต รวมถึงราวกันชนเหล็กตามทางโค้ง ซึ่งหากนำยางพารามาผสมได้จะเพิ่มการใช้ยางจำนวนมาก และยังช่วยลดอุบัติเหตุด้วย”
ณัฐกาญจน์ระบุอีกว่า พวกเราทำงานร่วมกับสหกรณ์ทุกภูมิภาค ไม่ได้เน้นว่าช่วยไปที่ภาคใดภาคหนึ่ง เพราะเราต้องการกระจายการซื้อยางจากภาคต่างๆ สิ่งที่คาดหวังให้ทางภาครัฐช่วยสนับสนุนเกษตรกรให้มีความรู้ในด้านการตลาดและการจับคู่ตลาดให้ ตลอดจนการสอนเขาทำผลิตภัณฑ์เช่นเขามีสินค้าในมือ หรือมีสวนยางอะไรก็ตาม เขาสามารถรวมตัวกันได้
“เราอาจช่วยลงทุนในเรื่องเครื่องจักรเพื่อให้เขาสามารถต่อยอดได้ คือเข้าไปช่วยสอน ช่วยให้องค์ความรู้ ช่วยบอกเขาว่าตอนนี้ตลาดต้องการอะไร” ณัฐกาญจน์กล่าว
ขณะที่ ธนกฤต อังคณากุลชัย สมาชิกสำคัญอีกท่านหนึ่งของสยามสนามอธิบายเพิ่มเติมว่า ที่นำยางพารามาใส่ในนวัตกรรมบนท้องถนน เนื่องจากคุณสมบัติของยางพารามีความหนืดและยืดหยุ่นในตัว
“การนำยางพารามาทำหลักนำทาง ผลที่ได้มีความต่างจากเดิมไม่มาก แต่ความปลอดภัยเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีความยืดหยุ่น เช่น รถมอเตอร์ไซค์ชนหลักนำทาง ถ้าเป็นปูนที่มีความแข็งโอกาสเจ็บหนักหรือเสียชีวิตก็มีมากขึ้น แต่หลักที่ทำจากยางจะช่วยเรื่องแรงกระแทกดีขึ้น ผมเชื่อว่าจะเห็นผลมากในเรื่องความปลอดภัย”
ธนกฤตระบุอีกว่า สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นคือเรื่องการนำยางมาสร้างนวัตกรรมเป็นรูปแบบที่ยั่งยืน ไม่ใช่ว่าพอราคายางตกเราก็มาคิดช่วยเกษตรกร คิดการวางนโยบายสนับสนุนยางพารา
“ความช่วยเหลือควรเป็นกระบวนการสอน การนำความรู้ การนำตลาดเข้าไปเพื่อให้เขาสร้างตัวเองได้ รวมถึงการปลูกฝังให้คนไทยรู้ว่าเรามียางพาราที่ดีที่สุดในโลก ยางเรามีคุณภาพดีมาก แต่เราไม่สามารถนำมาใช้ได้อย่างยั่งยืนเพราะขาดการสนับสนุนที่ต่อเนื่อง” ธนกฤตทิ้งท้าย
ขอขอบคุณที่มา มตินออนไลน์ https://www.matichon.co.th/news/813052’>