LINE : ติดต่อผู้ดูแล

ยินต้อนรับเว็บไซต์ข่าวสารเพจข่าวท้องถิ่นบึงกาฬ

วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2024
ข่าวเด่นบึงกาฬ

จ.บึงกาฬ ส่งท้ายสงกรานต์ด้วยประเพณีแห่น้ำจั้นสรงน้ำหลวงพ่อพระใหญ่พระคู่บ้านคู่เมือง

จังหวัดบึงกาฬ ส่งท้ายสงกรานต์ด้วยประเพณีแห่น้ำจั้นสรงน้ำหลวงพ่อพระใหญ่พระคู่บ้านคู่เมือง

 
เช้าวันที่ 20 เม.ย. 61 เวลา 09.00 น. นายพิสุทธิ์ บุษยพรรณพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ นายนิพนธ์ คนขยัน นายก อบจ.บึงกาฬ นำพุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดบึงกาฬทุกหมู่เหล่า ทำพิธีบวงสรวงและแห่น้ำจั้นศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำโขงบ้านท่าไคร้ ต.บึงกาฬ อ.เมืองบึงกาฬ โดยน้ำจั้นแห่งนี้ บรรพบุรุษได้ใช้น้ำจั้น หรือบ่อน้ำซึม ที่มีความสูงกว่าระดับแม่น้ำโขง ในหน้าแล้ง และไหลลงแม่น้ำโขงตลอดทั้งปีไม่มีแห้ง ใช้เป็นแหล่งน้ำดื่มสำหรับคนในตำบลบึงกาฬในครั้งอดีตที่ผ่านมา และทุกๆ ปีหลังจากวันสงกรานต์จะทำพิธีแห่น้ำจั้น ทั้งในทางบกและทางน้ำล่องขึ้นไปตามลำแม่น้ำโขง เมื่อไปถึงวัดท่าไคร้ ก็จะอัญเชิญน้ำจั้นไปสรงน้ำหลวงพ่อพระใหญ่
สำหรับในปีนี้จังหวัดได้จัดขบวนแห่ฟ้อนรำอันสวยงาม มีชาวจังหวัดบึงกาฬจากหลายเชื้อชาติ หลายเผ่าพันธุ์ กว่า 1,400 คน ต่างพร้อมใจกัน แต่งตัวด้วยชุดรำ ฟ้อนตามขบวนแห่น้ำจั้น เพื่ออัญเชิญน้ำจั้นมาสรงน้ำหลวงพ่อพระใหญ่ พระคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดบึงกาฬ ณ วัดโพธาราม บ้านท่าไคร้ อ.เมืองบึงกาฬ จ.บึงกาฬ ที่นับเป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชน ทั้งชาวไทยและชาวลาว เป็นพระพุทธรูปที่มีความศักดิ์สิทธิ์ ตลอดสองฝั่งแม่น้ำโขง ต่างให้ความเคารพนับถือ ซึ่งมีพุทธศาสนิกชนจากไทย และ สปป.ลาว มาเข้าร่วมพิธีกันอย่างเนืองแน่น ลูกๆ หลานๆ ที่ไปเรียนหนังสือหรือไปทำงานในต่างจังหวัดจะต้องกลับมาบ้านบึงกาฬ เพื่อมาเข้าร่วมพิธีนี้ทุกคนและถือปฏิบัติกันมาเป็นประเพณี โดยในปีนี้จังหวัดบึงกาฬ ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ ผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น และวัฒนธรรมจังหวัด ได้กำหนดให้วันที่ 19 – 21 เม.ย. ของทุกปี เป็นการจัดงานประเพณีแห่น้ำจั้น สรงน้ำหลวงพ่อพระใหญ่ โดยให้ถือปฏิบัติเป็นประเพณีทุกปี และจัดให้มีงานมหรสพสมโภช 3 วัน 2 คืน
หลวงพ่อพระใหญ่ วัดโพธาราม บ้านท่าไคร้ ไม่มีหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด แต่เล่ากันว่าราว 200 กว่าปีก่อน ชาวบ้านอพยพย้ายถิ่นฐานมาจากเมืองยศ หรือยโสธร บุกเบิกป่าทึบแล้วพบหลวงพ่อพระใหญ่ ในสภาพมีเถาวัลย์ปกคลุมรกรุงรังและพระเกศหัก จึงช่วยกันบูรณะเสริมพระเกศขึ้นใหม่ให้สมบูรณ์ และฟื้นฟูพื้นที่โดยรอบสร้างเป็นวัดขึ้น ขณะนี้พระอุโบสถทีประดิษฐานหลวงพ่อพระใหญ่อยู่ในระหว่างการบูรณะก่อสร้างหลังใหม่ใหญ่กว่าเดิม หลวงพ่อพระใหญ่เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 2 ศอก 1 คืบ 4 นิ้ว สูง 3 ศอก 1 คืบ ศิลปะสมัยล้านช้าง แสดงถึงสายสัมพันธ์ศิลปวัฒนธรรมสองฝั่งโขง
พุทธศาสนิกชนมักไปกราบไหว้บูชาตั้งจิตอธิษฐานขอพร ขอให้ทำสิ่งใดๆ ได้สำเร็จ เช่น การสอบเข้าเรียน การเข้าทำงานหรือแม้การขอมีบุตร เมื่อได้สมหวังตามที่ขอพรเอาไว้ ก็จะบูชาเอาบั้งไฟ 9 ดอกไปจุดถวายหลวงพ่อพระใหญ่ ณ จุดที่เตรียมไว้ข้างพระอุโบสถ
สำหรับการสรงน้ำหลวงพ่อพระใหญ่ นั้น ผู้ชายสามารถเข้าไปสรงน้ำหลวงพ่อพระใหญ่ได้ภายในอุโบสถ ส่วนผู้หญิงไม่อนุญาตให้เข้าไปสรงน้ำในอุโบสถ แต่เจ้าหน้าที่ได้ทำบันไดเทียบข้างอุโบสถไว้ให้ขึ้นไปสรงน้ำผ่านท่อที่จัดเตรียมไว้ให้ หรือจะสรงน้ำที่องค์หลวงพ่อพระใหญ่องค์จำลอง ที่ประดิษฐานอยู่นอกอุโบสถก็ได้

‘>

ข่าวเด่นบึงกาฬ ล่าสุด

อัพเดทล่าสุด