เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ (23 ส.ค. 61) ที่ห้องประชุมมังกร โรงแรมเดอะวัน อำเภอเมือง จังหวัดบึงกาฬนายประชา เกษลี ผคป.บึงกาฬ เป็นประธานในการประชุมสื่อมวลชนสัญจร งานศึกษา สํารวจ ออกแบบ งานพัฒนาแหล่งน้ำในเขตจังหวัดบึงกาฬ โดยมี นายประมุข ไทยเสถียร ผอ.สวท.บึงกาฬ นายขวัญประชา ระเริงผู้ช่วยประชาสัมพันธ์จังหวัดบึงกาฬ สื่อมวลชนจังหวัดบึงกาฬ เจ้าหน้าที่โครงการชลประทานบึงกาฬ และชาวบ้านผู้ได้รับประโยชน์และผลกระทบจากโครงการเข้าร่วมประชุม โครงการงานศึกษา สํารวจ ออกแบบ งานพัฒนาแหล่งน้ำในเขตจังหวัดบึงกาฬ เริ่มปฏิบัติงาน วันที่ 15 ก.ย. 60 – 9 ก.ย. 61 ระยะเวลา 360 วัน โดยกรมชลประทานมอบหมายให้กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท มหานคร คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท วิศวชาญ 2002 จำกัด และบริษัท วิศวชลกร จำกัด ดำเนินการจัดทำแผนหลักการพัฒนาแหล่งน้ำ ศึกษาความเหมาะสมโครงการ สำรวจและออกแบบรายละเอียด หาแนวทางการบริหารจัดการน้ำที่เหมาะสม นำไปสู่การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการบรรเทาปัญหาน้ำท่วม ปัญหาภัยแล้งของจังหวัดบึงกาฬ รวมทั้งพื้นที่ใกล้เคียง พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมด้านปริมาณน้ำต้นทุน เพื่อรองรับการเจริญเติบโตและการพัฒนาจังหวัดบึงกาฬ สำรวจและออกแบบรายละเอียด คัดเลือกโครงการต่างๆได้แก่โครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง 33 โครงการ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก 811 โครงการ รวมทั้งสิ้น 844 และโครงการที่มีความสำคัญระดับเร่งด่วนมาทำการศึกษาความเหมาะสมสำรวจและออกแบบรายละเอียด คือโครงการประตูระบายน้ำห้วยกำแพง
โครงการประตูระบายน้ำห้วยกำแพงตั้งอยู่ในลุ่มน้ำห้วยกำแพงมีพื้นที่ 216 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุม 8 ตำบล ในเขต 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองบึงกาฬ และอำเภอศรีวิไล ซึ่งมีความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาด้านน้ำในพื้นที่ศูนย์ราชการจังหวัดบึงกาฬซึ่งประสบปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำ ฝนตกหนักจากหนองเบ็นจะไหลข้ามทางหลวงหมายเลข 212 เข้าสู่ชุมชนเศรษฐกิจเมืองบึงกาฬ การเติบโตของชุมชนเมืองขยายตัวเข้ามาในเขตรอบหนองกุดทิงซึ่งมักประสบปัญหาอุทกภัย ประตูระบายน้ำห้วยกำแพงมีองค์ประกอบเบื้องต้นคือ
1.ปรับปรุงฝายบ้านท่าโพธิ์ ซึ่งเป็นฝายน้ำล้นกั้นปลายห้วยกำแพงใกล้จุดบรรจบกับแม่น้ำโขง
2.ปรับปรุงฝายน้ำล้นห้วยกำแพง ซึ่งกั้นห้วยกำแพงบริเวณปลายหนองกุดทิง โดยการยกระดับน้ำเก็บกักขึ้นอีก
3.สร้าง คันกั้นน้ำรอบพื้นที่ศูนย์ราชการยาวประมาณ 3.15 กม. อาคารบังคับน้ำพร้อมประตูปิด-เปิดจำนวน 3 แห่ง สถานีสูบน้ำ 1 แห่ง
4.ปรับปรุงฝายนาโนน บริเวณหนองเบ็น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและการเก็บกักน้ำ
5.สร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าเพื่อเปิดพื้นที่ชลประทานใหม่จำนวน 5 สถานี และขยายระบบชลประทานของสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าเดิม 1 แห่ง งานศึกษา สํารวจ ออกแบบได้ดำเนินงานมาตามขั้นตอนโดยลำดับและจะมีกิจกรรมประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการในวันที่ 24 ส.ค. นี้
‘>