อุทกภัยใน จ.บึงกาฬ หลังน้ำจากแม่น้ำโขงและแม่น้ำสงครามล้นตลิ่งไหลท่วมพื้นที่ทั้ง 8 อำเภอ ทำให้ชาวนาเดือดร้อนหลังน้ำแห้งนาข้าวกว่า 6 หมื่นไร่เน่าตาย…
เมื่อวันที่ 21 ก.ย.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดบึงกาฬ หลังจากได้รับผลกระทบจากแม่น้ำโขงและแม่น้ำสงครามที่หนุนสูงขึ้นเอ่อท่วมพื้นที่ทั้ง 8 อำเภอ ของจังหวัดบึงกาฬ ซึ่งสถานการณ์เช้าวันนี้ระดับน้ำบางพื้นที่ลดลงจนเข้าสู่ภาวะปกติ มีเพียงบางพื้นที่ที่ยังมีน้ำท่วมขังเล็กน้อย ในบางอำเภอ ส่วนภาพที่เห็นอยู่ขณะนี้เป็นนาข้าวของชาวนาบ้านพันลำ ม.2 ต.วิศิษฐ์ อ.เมืองบึงกาฬ ที่อยู่ติดกับลำน้ำสาขาใกล้แม่น้ำโขงถูกน้ำท่วมขังนาข้าวนานเกือบ 1 เดือน หลังน้ำลดลงจะเห็นสภาพของต้นข้าวยืนต้นตายเป็นจำนวนมาก และในพื้นที่บ้านนาแสงสาคร หมู่ที่ 7 ต.นาแสง อ.ศรีวิไล ผู้นำชุมชน ร่วมกับ เจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอ คณะกรรมการหมู่บ้าน ลงพื้นที่ตรวจสอบนาข้าวของเกษตรกร หลังยื่นความประสงค์ขอรับเงินเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วม พบว่านาข้าวกว่า 60 ไร่ เน่าตายเสียหายสิ้นเชิง หลังถูกน้ำท่วมขังนานนับเดือนเช่นกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นายวิจารณ์ เหล่าธรรมยิ่งยง ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดบึงกาฬ (ปภ.) ได้สรุปรายงานพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมทั้ง 8 อำเภอ 49 ตำบล 417 หมู่บ้าน พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ นาข้าว 58,488 ไร่ / พืชไร่ 8,294 ไร่ / พืชสวน 1,946 ไร่ / ประมง 963 บ่อ/ไร่ มีผู้ที่ได้รับผลกระทบ 9,312 ครัวเรือน 34,199 คน รายละเอียดดังนี้ /1. อ.เมือง จำนวน 11 ตำบล 94 หมู่บ้าน พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ นาข้าว 19,650 ไร่ พืชไร่ 6,367 ไร่ พืชสวน 1,356 ไร่ ประมง 565 ไร่ มีผู้ที่ได้รับผลกระทบ 3,848 ครัวเรือน 13,490 คน /2. อ.บุ่งคล้า จำนวน 3 ตำบล 25 หมู่บ้าน พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ นาข้าว 2,003 ไร่ ประมง 161 ไร่ ปศุสัตว์ 121 ตัว มีผู้ที่ได้รับผลกระทบ 349 ครัวเรือน 1,153 คน /3. อ.ศรีวิไล จำนวน 4 ตำบล 23 หมู่บ้าน พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ ระหว่างการสำรวจ ไม่ท่วมบ้านเรือนประชาชน /4. อ.โซ่พิสัย จำนวน 6 ตำบล 57 หมู่บ้าน พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ ระหว่างการสำรวจ /5. อ.ปากคาด จำนวน 6 ตำบล 31 หมู่บ้าน พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ นาข้าว 7,350 ไร่ พืชไร่ 1,158 ไร่ พืชสวน 391 ไร่ มีผู้ที่ได้รับผลกระทบ 1,099 ครัวเรือน 3,996 คน /6. อ.บึงโขงหลง จำนวน 4 ตำบล 36 หมู่บ้าน พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ นาข้าว 6,476 ไร่ พืชไร่ 632 ไร่ ประมง 207 ไร่ มีผู้ที่ได้รับผลกระทบ 1,200 ครัวเรือน 6,000 คน /7. อ.เซกา จำนวน 9 ตำบล 120 หมู่บ้าน พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ นาข้าว 23,009 ไร่ พืชไร่ 137 ไร่ พืชสวน 78 ไร่ ประมง 30 ไร่ มีผู้ที่ได้รับผลกระทบ 2,816 ครัวเรือน 9,560 คน /8. อ.พรเจริญ จำนวน 6 ตำบล 31 หมู่บ้าน พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบระหว่างการสำรวจ
ส่วนนายสมรัก ภูเดช เกษตรจังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า ขอให้เกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านพืช ยื่นความจำนงขอรับการช่วยเหลือได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอทุกอำเภอ ที่เป็นที่ตั้งของแปลงเพาะปลูก ขอให้เกษตรกรที่ประสบภัยด้านพืช ที่ได้รับความเสียหายจากสถานการณ์อุทกภัย ซึ่งจังหวัดได้ประกาศเป็นเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน และเกษตรกร ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ก่อนเกิดภัยพิบัติแล้ว โดยให้ยื่นความจำนงขอรับการช่วยเหลือได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอ ที่เป็นที่ตั้งของแปลงเพาะปลูกที่ได้รับความเสียหาย ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยจะได้รับความช่วยเหลือตามพื้นที่จริงที่ได้รับความเสียหาย แต่ไม่เกิน 30 ไร่ ซึ่งหากเป็นนาข้าว จะได้รับการช่วยเหลือในอัตรา ไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ ไร่ละ 1,149 บาท และพืชสวน ไร่ละ 1,690 บาท ทั้งนี้ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อได้ที่ สำนักงานเกษตรจังหวัดบึงกาฬ โทรศัพท์ 0 4249 0838
สวนพืชยางพารา สำนักงานการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดบึงกาฬ แจ้งเกษตรกรชาวสวนยาง กรณีหน้ายางเน่าเสีย ต้นยางมีอาการใบเหลืองหรือร่วงหล่น น้ำท่วมสวนยางไม่สามารถกรีดยางได้ไม่น้อยกว่า 1 เดือน หรือกรณีเกิดโรคระบาด ใบร่วง จากเชื้อราไฟทอปธอร่า ต้นยางใบร่วง 80% ต้นยางเกิดโรคเส้นดำ หากเข้าเกณฑ์ กรณีใดกรณีหนึ่ง ให้ถ่ายภาพประกอบแล้วติดต่อกับสำนักงาน กยท.จังหวัดบึงกาฬ หรือสำนักงาน กยท.ย่อยอำเภอเซกา อำเภอเมืองบึงกาฬ เพื่อขอรับสวัสดิการ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนกรณีสวนยางพาราประสบภัยพิบัติได้ทันที หรือโทร 0 4249 2194.
ขอขอบคุณทีมาข่าว อ่านข่าวต่อได้ที่: https://www.thairath.co.th/content/1381052
‘>