เมื่อเวลา 10.00น.วันที่ 17ธันวาคม ที่สนามหน้าที่ว่าการอำเภอเมือง จ.บึงกาฬ จัด “งานวันยางพารา บึงกาฬ 2562” โดยจังหวัดบึงกาฬ ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) บึงกาฬ และหน่วยงานราชการและภาคเอกชนจัดขึ้นต่อเนื่อง ระหว่างวันที่ 13-19 ธันวาคม โดยบรรยากาศในวันที่ 5 ของการจัดงานเป็นไปอย่างคึกคักมีเกษตรกรชาวสวนยางพารา ตลอดจนประชาชนทั่วไป นักเรียนนักศึกษาในจังหวัดบึงกาฬ เข้าร่วมงานต่อเนื่องตลอดทั้งวัน
ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า ภายในงานวันยางพาราบึงกาฬยังมีบูธจำหน่ายหมอนยางพาราจากบริษัท ศรีแก้วรับเบอร์เทค จำกัด ที่นำผลิตภัณฑ์การแปรรูปจากน้ำยางพาราเข้ามาจำหน่ายในรูปแบบหมอนยางพารา หลากหลายชนิดมา ในราคาพิเศษ อาทิ หมอนนวลจันทร์, หมอนเด็ก ,หมอนรองคอ ,อาสนะเรียบ/คลื่น ,Topper ยางพารา ,ที่นอนพับ ,ที่นอนปิกนิค เป็นต้น
นายธนวณิช ชัยชนะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีแก้วรับเบอร์เทค จำกัด กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่ทางบริษัทได้นำผลิตภัณฑ์หมอนจากยางพาราเข้ามาจำหน่าย ซึ่งผลิตภัณฑ์หมอนยางพารา และผลิตภัณฑ์อื่นๆเป็นงานที่ผลิตด้วยมือ หรืองานแฮนด์เมด เป็นสินค้า Handmade ที่ผลิตขึ้นมาจากน้ำยางพาราของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนยางพาราเหล่าทอง ต.เหล่าทอง อ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ ที่ได้รวบรวมกลุ่มชาวสวนยางเข้ามาเป็นสมาชิกในรูปแบบเกษตรแปลงใหญ่
“บึงกาฬมีเกษตรแปลงใหญ่หลายด้าน ผมเองก็เป็นประธานเกษตรแปลงใหญ่ของจังหวัดอยู่ ก็จะมีแปลงใหญ่ยางพารา แปลงใหญ่ข้าว แปลงใหญ่ปศุสัตว์ บึงกาฬเรามียางพารามากจึงเน้นยุทธศาสตร์เรื่องยางพารา ก็เลยเกิดการรวมกลุ่มเพื่อให้เกษตรกรเข้มแข็ง โดยนำผลผลิตของเกษตรกรมาผลิตในท้องถิ่นและใช้แรงงานท้องถิ่น โดยให้สมาชิกนำน้ำยางพาราที่ได้ในสวนมาขายให้กับบริษัท ศรีแก้วรับเบอร์เทค จำกัด แล้วแปรรูปจากน้ำยางสดให้เป็นน้ำยางข้น Drc 60 เปอร์เซ็นต์ ก่อนจะนำมาแปรรูปเข้าขบวนการผลิตหมอน ที่นอน จากยางพารา โดยแทบทุกขั้นตอนผลิตด้วยมือและที่สำคัญเป็นสินค้าที่ต่างประเทศให้ความสนใจเป็นอย่างมาก และตอนนี้ตลาดหลักของเราอยู่ในต่างประเทศถึง 80 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะที่ประเทศจีน คนจีนอีกหลายล้านคนเขายังมีความต้องการหมอนยางพาราจากไทยเยอะ ยิ่งหลังๆมานี้หมอนที่ติดคำว่า “Handmade” ติดไว้ในผลิตภัณฑ์ยิ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ส่วนทางยุโรปก็มีส่งออกบ้าง เช่น ประเทศรัฐเซีย ส่วนประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว ที่อยู่ใกล้เคียงมีมาถามถึงขบวนการขั้นตอนในการผลิตเยอะ ก็อยากจะให้กลุ่มเกษตรกรในท้องที่เรา ในท้องถิ่นเรา โดยเฉพาะจังหวัดบึงกาฬ มีการแปรรูปด้วยตัวเองให้มากขึ้น วันนี้ตลาดรองประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นตลาดออนไลน์ ซึ่งมีการทำตลาดเป็นรูปแบบ และก็ตลาดตัวแทนจำหน่าย”’>