บึงกาฬเป็นจังหวัดที่ 76 แยกตัวออกมาจากหนองคายเมื่อต้นปี 2554 คำขวัญของจังหวัดบึงกาฬ คือ “ภูทอกแหล่งพระธรรม ค่าล้ำยางพารา งามตาแก่งอาฮง บึงโขงหลงเพลินใจ น้ำตกใสเจ็ดสี ประเพณีแข่งเรือ เหนือสุดแดนอีสาน นมัสการหลวงพ่อใหญ่ ศูนย์รวมใจศาลสองนาง”
สังเกตไหมครับว่ายางพาราพืชเศรษฐกิจที่ปลูกกันในภาคใต้ กลับมาปรากฏอยู่ในคำขวัญของจังหวัดเหนือสูงของภาคอีสาน และเมื่อพูดคุยยางพาราบึงกาฬ ก็ต้องให้เครดิต คุณพินิจ จารุสมบัติ ประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีน และส่งเสริมความสัมพันธ์ และอดีตรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกยางพารา จนกลายเป็น ศูนย์กลางยางพาราในภาคอีสาน
แม้กระทั่งในช่วงที่ราคายางพาราตกต่ำ (เช่นตอนนี้ขาย 3 กิโล 100 บาท) รัฐบาลพยายามรณรงค์ให้ไปปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน แต่คุณพินิจยืนยันกับชาวสวนยางมาตลอดว่าอย่าโค่นต้นยางเด็ดขาด เพราะถ้าใช้องค์ความรู้เข้าไปช่วยในการเพาะปลูก และภาครัฐมีการบริหารจัดการที่ดี ชาวสวนยางก็จะมีชีวิตที่สุขสบายได้ ขึ้นอยู่กับว่าผู้บริหารมือถึงหรือไม่
วันเสาร์สบายๆวันนี้ผมเลยอยากประชาสัมพันธ์ “งานวันยางพาราบึงกาฬ” สักหน่อย เริ่มตั้งแต่วันที่ 13-19 ธ.ค. ที่สนามหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองบึงกาฬ งานครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 7 ในวันแถลงจัดงานปีนี้คุณพินิจโต้โผใหญ่ประกาศว่า “เป้าหมายอยากให้เกษตรกรชาวสวนยางยืนอยู่บนลำแข้งตัวเองได้ โดยมีนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาให้เกษตรกรเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งความพยายามตลอดหลายปีที่ผ่านมาทำให้เกษตรกรตื่นตัว ยกระดับจากต้นน้ำไปสู่กลางน้ำ และไปต่อให้ถึงปลายน้ำ เราจะไม่ขายวัตถุดิบอย่างเดียว แต่จะส่งเสริมการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป เช่น ยางล้อรถยนต์ ถุงมืออนามัย และของใช้ต่างๆ”
ลำพังแค่ต้นน้ำไปสู่กลางน้ำก็เพิ่มมูลค่าได้เท่าตัวแล้วครับ อย่างราคายางก้อนถ้วย 19 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อผ่านกระบวนการผลิตเป็นยางแท่งจะได้ราคา 40 บาทต่อกิโลกรัม และถ้าพัฒนาไปถึงปลายน้ำจะยิ่งเพิ่มมูลค่าได้มากกว่าหลายเท่า สิ่งสำคัญต้องทำให้สหกรณ์มีความเข้มแข็ง ไม่เช่นนั้นชาวสวนยางจะถูกพ่อค้าซื้อกดราคาอยู่ร่ำไป
การยกระดับเกษตรกรถึงแม้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่วันนี้มีตัวอย่างเกิดขึ้นให้เห็นหลายกลุ่มแล้ว เช่น สหกรณ์กองทุนสวนยางบ่อทอง จ.ชลบุรี เดิมขายแค่ยางแผ่นรมควัน แต่หลังจากได้มาร่วมงานวันยางพาราบึงกาฬ ทำให้รู้จักพ่อค้าจากเมืองจีน พาไปบุกตลาดที่ ชิงเต่า ชานตง เดี๋ยวนี้ยกระดับกลายเป็น โรงงานยางแท่ง หรือ ชุมชนสหกรณ์ยางบึงกาฬที่รวมกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ตั้ง โรงงานหมอนยางพารา ปัจจุบันทำสินค้าขายแทบไม่ทัน เพราะคนจีนนิยมใช้กันมาก ต้องถือว่างานยางพาราเป็นแหล่งจับคู่ธุรกิจที่มีมูลค่ามหาศาล
ผมยังจำได้ว่างานวันยางพาราบึงกาฬปีแรกเป็นแค่งานระดับจังหวัด แต่ผ่านไปเพียง 6 ปีก็ได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม กลายเป็นงานระดับประเทศไปแล้ว ปีนี้ไม่ได้มีแค่จีนเจ้าประจำ ยังมีอินเดีย ลาว มาเลเซีย เวียดนาม มาร่วมงาน และปีนี้จีนได้ขอเปิดพาวิลเลียนโชว์นวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่ของตัวเองด้วย
อีกสิ่งหนึ่งที่ถือเป็นผลงานชิ้นโบแดงคือ การทำถนนยางพารา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เป็นผู้จุดประกาย นำโมเดลมาเปิดตัวในงานเมื่อ 3 ปีก่อน และพัฒนาสูตรอย่างต่อเนื่อง ตอนนี้รัฐบาลมีแนวทางแก้ปัญหาราคายางพาราด้วยการให้ท้องถิ่น 7,000 กว่าแห่งทั่วประเทศทำถนนยางพารา ซึ่งการทำถนนยางพาราดินซีเมนต์ 1 กิโลเมตรจะใช้น้ำยางสด 12 ตัน กดปุ่มเมื่อไหร่ยางในท้องตลาดหายไป 9 หมื่นตัน
งานปีนี้จะมีการต่อยอดไปทำ สนามฟุตซอล สนามวอลเลย์บอล และโชว์ เครื่องกรีดยาง รุ่นใหม่จากเมืองคุนหมิง เอามาประชันกับเครื่องกรีดยางนกเงือกจากนราธิวาส นอกจากนี้ยังมีนวัตกรรมอีกหลายอย่างที่ช่วยลดต้นทุน เพิ่มคุณภาพน้ำยาง และปลอดภัยต่อสุขภาพ
ผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับยางพาราควรแวะไปเปิดหูเปิดตาครับ.
ขอขอบคุณข่าว ลมกรด ไทยรัฐออนไลน์ https://www.thairath.co.th/content/1444980‘>