อีกหนึ่งไฮไลต์ในงาน วันยางพาราบึงกาฬ 2019 มหกรรมยางภาคอีสานสุดยิ่งใหญ่ที่จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 นั่นคือโซนสุดพิเศษ CHINA PAVILION ที่จัดขึ้นอย่างสวยงาม อลังการ
โซนนี้ตกแต่งด้วยสไตล์จีนร่วมสมัย มีการปูพรมสีแดงสดทอดยาวถึงประตูไม้สูงใหญ่สีน้ำตาลแดงซึ่งเป็นทางเข้าที่บ่งบอกถึงความแข็งแกร่งและความยิ่งใหญ่ของประเทศจีน พร้อมตกแต่งด้วยโคมไฟสีสันสดใส
ภายใน CHINA PAVILION ได้รวบรวมเอาผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมยางพาราที่มีศักยภาพสูงของจีนมาร่วมจัดแสดงนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากยางพารา อาทิ ผู้ผลิตยางรถยนต์ของจีน บริษัท Double Coin, บริษัท DELINTE, บริษัท Sentury Tire, บริษัท Dcenti Wheels&Tires – Thailand, บริษัท Landsail, บริษัท Ground speed, บริษัท EVE Rubber Institute, บริษัท Sailun Group, บริษัท Nercrat, บริษัท Mesnac, บริษัท ไทยฮั้วระยองยางพารา จำกัด และบริษัท เบทต้า ลาเท็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
เติ้นจี้ ฮุย นายกสมาคมยางพาราแห่งสิบสองปันนา ประธานบริษัท เตี๋ยนเหย่ราเป้อ จำกัด เป็นหนึ่งในนักธุรกิจจากประเทศจีนที่นำนวัตกรรมใหม่ล่าสุดเข้ามาเปิดตัวในงานครั้งนี้ บอกกล่าวว่า ครั้งนี้ทางสิบสองปันนานำนวัตกรรมมีดกรีดยางไฟฟ้า รุ่น WYD001F มาเปิดตัวครั้งแรกในวันยางพาราบึงกาฬ 2019 ที่จังหวัดบึงกาฬ ซึ่งมีดกรีดยางเป็นนวัตกรรมใหม่ มีน้ำหนักเบา ใช้งานง่าย ทำให้ชาวสวนกรีดยางได้อย่างสะดวกรวดเร็ว กรีดได้น้ำยางออกมามากขึ้นและถนอมต้นยางด้วย
ทั้งนี้ ในโซน CHINA PAVILION ยังมีนิทรรศการบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของจีนเบื้องต้น นิทรรศการความสัมพันธ์อันดีระหว่างจีนและไทย โดยมีพระฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรพระราชวังโบราณที่ประเทศจีน พร้อมกับผู้นำของประเทศจีน ตลอดจนพระเมตตาโปรดเกล้าฯฉายภาพร่วมกับเด็กยุวชนชาวจีนที่มาเฝ้าทูลละอองรับเสร็จด้วย ล้วนเป็นภาพที่สะท้อนเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์ไทยกับผู้นำจีน และชาวจีนได้อย่างดีเยี่ยม
อีกหนึ่งเรื่องราวที่น่าสนใจในโซนนี้ คือนิทรรศการเรื่อง นโยบายวันเบลต์ วันโรด หรือเส้นทางสายไหม ซึ่งบอกเล่าถึงที่มาที่ไป ตลอดจนความความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนบนเส้นทางสายไหมที่มีมาตั้งแต่อดีต พร้อมทั้งยังมีกิจกรรมพิเศษให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานได้ร่วมสนุก โดยตอบคำถามเกี่ยวกับนิทรรศการที่จัดแสดงภายในงาน ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก
หากพูดถึงความร่วมมือระหว่างไทยกับจีนในงานวันยางพาราบึงกาฬ คงต้องพูดถึง จาง เหย็น ประธานกรรมการบริหาร เครือบริษัท รับเบอร์วัลเล่ย์ กรุ๊ป ที่เข้ามาร่วมงานตั้งแต่ครั้งแรกเมื่อปี 2555 จนถึงครั้งล่าสุด และยังเป็นผู้ชักชวนนักธุรกิจจากประเทศจีนเข้ามาร่วมงานทุกปี รวมถึงนำคณะผู้แทนจากศูนย์วิจัยยางพารารายใหญ่ในประเทศจีนเข้ามาร่วมงานด้วย
จาง เหย็น เล่าให้ฟังว่า ผมรอคอยการจัดงานนี้ทุกปี และต้องการให้มาถึงเร็วๆ เหมือนกับการรอคอยเทศกาลตรุษจีน เทศกาลที่สำคัญที่สุดของชาวจีน การมาร่วมงานในครั้งนี้ได้เห็นทั้งรอยยิ้มและความสุขของคนชาวบึงกาฬ ยิ่งได้เห็นทั้งมิตรเก่าและเพื่อนใหม่ยิ่งทำให้มีความสุขและประทับใจมาก ผมเคยมาร่วมงานยางพาราบึงกาฬทั้งหมด 6 ครั้ง มาตั้งแต่การจัดงานครั้งแรก
ปีที่ผ่านมาติดภารกิจ ไม่สามารถกลับมาร่วมงานได้ทัน จึงพลาดงานไปครั้งหนึ่ง แต่จริงๆ แล้วรู้สึกรักงานยางพาราบึงกาฬนี้ จึงอยากขอบคุณผู้จัดงานทุกท่านที่ทำให้เกิดงานนี้ขึ้น โดยเฉพาะเครือมติชน ที่จัดงานนี้ได้ยิ่งใหญ่มาก วางแผนได้ดีในทุกรายละเอียด
บุคคลที่ต้องขอบคุณเป็นพิเศษคือ นายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกฯ และประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีนและส่งเสริมความสัมพันธ์ที่สนับสนุนให้เกิดงานนี้ขึ้นทุกปี ขอเป็นตัวแทนผู้ประกอบการยางพาราในจีนและตัวแทนของบริษัท ขอบคุณทุกฝ่ายที่จัดงานยางพาราบึงกาฬนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะเจอกันที่งานวันยางพาราบึงกาฬในอีกทุกๆ ปีต่อไป
จาง เหย็น บอกอีกว่า ในฐานะที่ผมเป็นตัวแทนนักธุรกิจชาวจีนที่ทำเกี่ยวกับยางพารา ขอบอกว่าจีนมีความคาดหวังกับยางพาราของไทย อยากเห็นราคายางพาราปรับขึ้น อยากให้เกษตรกรชาวสวนยางของประเทศไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ก็อย่างที่ทราบกันดีว่าราคายางพาราไม่ได้อยู่ที่ดีมานด์-ซัพพลาย แต่ขึ้นอยู่กับตลาดการซื้อขายล่วงหน้า ภาวะเศรษฐกิจโลก และราคาน้ำมันดิบ ซึ่งเป็นปัญหาที่ซับซ้อนมาก
วันนี้สถานการณ์การเมืองโลกค่อนข้างจะซับซ้อน โดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน หากพูดกันตามตรงคือไม่มีประเทศใดประสบความสำเร็จอย่างแท้จริงระหว่างสงครามการค้าครั้งนี้ ตอนนี้จีนยังอยู่ระหว่างการเจรจาในทุกๆ เรื่องกับสหรัฐ แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีในการทำให้วิกฤตกลายเป็นโอกาส ที่ทำให้เห็นว่าในเวทีโลกมีประเทศใดเป็นมิตรที่แท้จริงบ้าง ตอนนี้ที่เห็นแล้วก็คือประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานยางบึงกาฬนี้ ทำให้เรามองเห็นว่าอนาคตในข้างหน้า ควรไปในทิศทางใด ตอนนี้มีโรงงานผลิตยางล้อรถยนต์เข้ามาลงทุนในไทยแล้ว 4-5 ราย ซึ่งมีทั้งเงินลงทุน และเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากที่สุด จาง เหย็น บอกกล่าว
เราต้องขอบคุณสหรัฐ เพราะหากไม่มีสหรัฐ ผู้ประกอบการและนักลงทุนของจีนจะไม่ตื่นตัว ไม่พัฒนาตนเองและไม่หาโอกาสเข้ามาลงทุนยังต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ถือเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทย เพราะว่าในช่วงเวลาที่ไทยเปิดประตูประเทศต้อนรับนักลงทุนและผู้ประกอบการ ยินดีให้มีการตั้งโรงงานผลิตยางล้อของจีนในไทย ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางไทยมีส่วนได้รับผลประโยชน์ไปด้วย นอกจากการขายน้ำยางให้โรงงานเหล่านี้แล้ว ยังสามารถแปรรูปยางแผ่นป้อนเข้าสู่โรงงานเหล่านี้ได้อีก ถือเป็นการยกระดับคุณภาพยางพาราไทย
ขณะเดียวกันจีนจะนำเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ และเงินทุน เข้ามาในไทยเพิ่มมากขึ้น เพื่อพัฒนายางพาราให้ดียิ่งขึ้น หากไทยมีการปรับเปลี่ยนช่องทางการซื้อขายให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น อาทิ การซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเฉพาะเว็บไซต์อาลีบาบา ที่ได้เข้ามามีบทบาทในไทยมากขึ้นในปัจจุบัน
การมาร่วมงานครั้งนี้ได้หารือกับผู้ประกอบการของไทยเพื่อนำยางพาราไทยไปขายบนเว็บไซต์ จะทำให้ผู้ประกอบการไทยจำหน่ายยางพาราได้มากขึ้น และคนจีนเองก็ซื้อยางพาราได้ถูกลง โดยจะนำโมเดลรับเบอร์วัลเล่ย์ มาใช้ เพื่อลดพ่อค้าคนกลาง ลดต้นทุนให้ต่ำมากที่สุด การจำหน่ายสินค้าจะใช้ทั้งระบบออฟไลน์และออนไลน์ร่วมกัน จะทำให้ผู้บริโภคสามารถซื้อยางพาราในราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาด ผ่านโมเดลใหม่นี้ด้วย จาง เหย็น สรุปทิ้งท้าย
ขอขอบคุณภาพข่าว มติชน https://www.matichon.co.th/economy/news_1277861‘>