ด้วยลีลาการฟาดงวงฟาดงา ท่าทางเอาแต่ใจตามประสาช้างเด็กทำให้ “ชบาแก้ว” ลูกช้างป่าหลงโขลงกลายเป็น ขวัญใจของคนจำนวนมาก ที่ต่างลุ้นว่าลูกช้างตัวนี้จะกลับคืนสู่โขลงที่มันจากมาได้หรือไม่
ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว จ. บึงกาฬ พยายามพาชบาแก้วหรือที่บางคนเรียกว่า “แม่ขนตางอน” หรือ “บุญแก้ว” ส่งกลับคืนป่า แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ
การพลัดหลงจากโขลงของลูกช้างป่าตัวนี้มีอะไรมากไปกว่าแค่ความน่ารักน่าสงสาร แต่ยังสะท้อนความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศและความเป็นอยู่ของช้างป่า
ดร. พิเชฐ นุ่นโต ผู้เชี่ยวชาญช้างป่าเอเชียจากคณะกรรมการว่าด้วยการอยู่รอดของสปีชีส์ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติสำนักงานภูมิภาคเอเชีย (IUCN SSC) และหัวหน้าโครงการการวิจัยและพัฒนาระบบเพื่อการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างป่าอย่างสันติ บนฐานพลเมืองมีส่วนร่วมและงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น สกว. บอกกับบีบีซีไทยว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชบาแก้วต้องพลัดหลงฝูงเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิทัศน์ (Landscape) ของพื้นที่ป่า เช่น การขยายตัวของพื้นที่การเกษตรและการก่อสร้างที่เป็นอุปสรรคในการเดินทางของช้างป่า
“ในขณะเดียวกันลูกช้างอาจจะขาดประสบการณ์และไม่ชินกับพื้นที่ ส่วนผู้นำโขลง แม้ว่าจะปรับตัวกับการอยู่กับชุมชนได้ แต่ก็ยังขาดประสบการณ์ต่อการเปลี่ยนแปลงทางภูมิทัศน์ใหม่ ๆ ที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์” ดร. พิเชฐกล่าว
ลำดับเหตุการณ์ “ชบาแก้ว” หลงโขลง
ปัญหาแท้จริงอยู่ตรงไหน
ดร.พิเชฐ อธิบายว่าระบบป่าและระบบชุมชนถือเป็นสองระบบนิเวศที่มีการเปลี่ยนแปลงในหลายสิบปีที่ผ่านมา ในระบบป่า สัตว์ป่ามีความต้องการอยู่รอดและสืบพันธุ์ ในขณะที่ช้างตัวผู้จะต้องหาอาหาร เช่น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง เพื่อเพิ่มความสมบูรณ์ตัวเอง ในการเจริญพันธุ์ แต่ในระยะหลังสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างช้างป่าและคนในชุมชนริมป่ากลับมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น เพราะพืชเกษตรที่เกษตรกรปลูกดึงดูดช้างป่าให้ออกมาหากินพื้นที่ชุมชนมากขึ้น
“กรณีนี้เราเรียกว่า ช้างเข้าสู่สภาวะใหม่ที่ช้างไม่สามารถแยกได้ว่าส่วนไหนคือระบบนิเวศป่า ส่วนไหนคือระบบนิเวศเกษตร” ดร.พิเชฐกล่าว
โครงการการวิจัยและพัฒนาระบบเพื่อการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างป่าฯ พบว่าในรอบ 8 ปีที่ผ่านมามีพื้นที่มีปัญหาระหว่างคนกับช้างทั้งหมด 51 พื้นที่ หรือคิดเป็น 71% ของพื้นที่อนุรักษ์ที่พบช้างป่าทั้งหมด 71 พื้นที่
การวิจัยยังพบด้วยว่า สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างคนและช้างป่ามีแนวโน้มสูงขึ้นมาโดยตลอด กล่าวคือจำนวนพื้นที่ที่มีปัญหาเพิ่มจาก 20 พื้นที่ในปี 2546 เป็น 41 พื้นที่ในปี 2561
คนต้องเข้าใจระบบป่าของช้าง
ขณะการเผชิญหน้าระหว่างคนกับช้างป่าที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตทั้งของคนและช้างก็มีแนวโน้มสูงขึ้นเช่นกัน กล่าวคือในปี 2557 มีเพียง 8 กรณีเท่านั้น ในขณะที่ปี 2561 พบว่ามีทั้งหมด 27 กรณี
“สิ่งที่สำคัญ คือ ชุมชนจำเป็นต้องเข้าใจการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว คนต้องเข้าใจช้างมากขึ้น โดยหนึ่งในข้อเสนอคือ การทำโซนนิ่งของคนและช้างเพื่อลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างกัน โดยอาจจะให้เกษตรกรปลูกพืชที่ไม่เป็นอาหารช้าง รวมทั้งการขุดบ่อต่าง ๆ ก็ขอให้มีความลาดชันน้อยลง เพื่อลดความรุนแรงของอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นกับช้าง” เขาแนะนำ
แม้ว่าสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างคนและช้างในไทยจะดูน่าเป็นห่วง แต่หากมองในภาพรวมแล้ว สถานการณ์ช้างป่าในไทยในแง่ของจำนวนประชากรยังถือว่าอยู่ในระดับดีกว่าอีกหลายประเทศในภูมิภาคนี้
โดยพื้นที่การปรากฏและจำนวนประชากรช้างในเอเชีย ในเมียนมาลดลงมาจาก 4,000 – 5,000 ตัวมาอยู่ที่ 1,619 ตัวในปี 2011 ส่วนเวียดนามถึงกว่าอยู่ในภาวะวิกฤต ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ เช่น ลาว มาเลเซียและอินโดนีเซีย ล้วนมีแนวโน้มลดลง ในขณะที่ไทยมีช้างป่าอยู่ประมาณ 3,000 – 3,500 ตัวในปัจจุบัน และจำนวนประชากรช้างโดยรวมอยู่ในภาวะคงที่ ไม่แตกต่างจากเมื่อ 14 ปีที่แล้วนัก และในบางพื้นที่ยังมีแนวโน้มเป็นประชากรที่ยั่งยืน เช่น กลุ่มป่าตะวันตก ป่าตะวันออก ป่าดงพญาเย็น ฯ ป่าแก่งกระจาน ป่าภูเขียวน้ำหนาว เป็นต้น
อะไรคือความเสี่ยงจากการคืนช้างสู่ป่า
เมื่อวันที่ 18 ก.ย. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ภูวัว และทีมสัตว์แพทย์ได้ตัดสินใจนำชบาแก้ว ตามโขลงช้างไปและส่งคืนโขลงแม่ช้างได้สำเร็จ ทว่าหลังจากนั้นเพียง 2 วัน กลับพบชบาแก้วหลุดโขลง อยู่ตามลำพังในป่าอีกครั้ง โดยพบในจุดที่ห่างจากจุดที่เคยปล่อยประมาณ 1 กิโลเมตร จึงทำให้เจ้าหน้าที่ต้องนำตัวกลับมาดูแลอีกครั้ง
ดร. พิเชฐ บอกว่าการที่ชบาแก้วไม่สามารถเข้าโขลงได้ อาจเป็นเพราะแม่โขลงไม่รับ ในขณะที่ตัวชบาแก้วเองก็อยู่แบบช้างเลี้ยงมานาน ประกอบร่างกายยังไม่แข็งแรงจึงทำให้อาจจะตามโขลงไม่ทัน ที่น่าเป็นห่วงคือลูกช้างมีอัตราการเสียชีวิตสูงในช่วง 5 ปีแรก
น.สพ.นิกร ทองทิพย์ ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกสัตว์ใหญ่และสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน กล่าวกับบีบีซีไทยว่า ในการนำชบาแก้วมาดูแลนั้นต้องเฝ้าระวังเรื่องโรคเฮอร์ปีส์ไวรัส (Elephant Endotheliotropic Herpes Virus : EEHV) ซึ่งถือเป็นภัยเงียบที่คร่าชีวิตลูกช้างได้ เนื่องจากชบาแก้วเคยถูกนำไปดูแลใน จ.สุรินทร์ ซึ่งเคยเป็นจุดระบาดของโรค
น.สพ.นิกรเสนอให้ทีมสัตวแพทย์ตรวจสอบให้แน่ใจว่าชบาแก้วมีเชื้อโรคนี้แฝงในตัวหรือไม่ แม้ว่าจะไม่แสดงอาการ แต่ก็สามารถเป็นพาหะนำโรคนี้เข้าสู่โขลงช้างป่าได้ โดยโรคนี้จะทำลายเส้นเลือด ทำให้เกิดเลือดออกในกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อหัวใจ และทำให้ช้างล้มหรือตายได้ โดยเฉพาะเมื่อลูกช้างมีภูมิคุ้มกันอ่อนแอหรืออยู่ในภาวะเครียด
‘>