จัดยิ่งใหญ่งาน′วันยางพาราบึงกาฬ 2013′ ตั้งแต่ 12-15 ธ.ค.นี้ ภาครัฐ-เอกชนจับมือเพิ่มความรู้-ศักยภาพชาวสวนยาง หนุนเกษตรกรจับมือกันตั้งสหกรณ์แปรรูปยางเพิ่มมูลค่า ตั้งเป้า จ.บึงกาฬ เป็นศูนย์กลางการค้ายางพาราอาเซียน รองรับ ′เออีซี′
จัดแถลง – นายปิยะชาติ มงคลไชยสิทธิ์ กรรมการบริหาร บมจ.มติชน พร้อมด้วยนายวิมล จันทรโรทัย รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายชโลธร ผาโคตร ผู้ว่าฯบึงกาฬ พร้อมพันธมิตร ร่วมแถลงข่าว “วันยางพาราบึงกาฬ 2013” ซึ่งจัดขึ้นที่ศาลากลางจังหวัดบึงกาฬ ระหว่างวันที่ 12-15 ธ.ค. ณ ห้องประชุม บริษัท ข่าวสด จำกัด เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน |
เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ที่ห้องประชุมบริษัท ข่าวสด จำกัด จัดงานแถลงข่าว “วันยางพาราบึงกาฬ 2013” ระหว่างวันที่ 12-15 ธันวาคมนี้ ที่ศาลากลางจังหวัดบึงกาฬ จัดขึ้นโดยจังหวัดบึงกาฬ และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) บึงกาฬ ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) องค์การสวนยาง(อ.ส.ย.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และหน่วยงานเอกชนชั้นนำหลายแห่ง อาทิ บริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท รับเบอร์ วัลเล่ย์ จำกัด ฯลฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศงานเถลงข่าวเป็นไปอย่างคึกคักมีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ นายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีน และส่งเสริมความสัมพันธ์ นายวิมล จันทรโรทัย รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายชโลธร ผาโคตร ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ นายนิพนธ์ คนขยัน นายก อบจ.บึงกาฬ นายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. นายเชาว์ ทรงอาวุธ รองผู้อำนวยการ สกย. นายชนะชัย เปล่งศิริวัธน์ ผู้อำนวยการ อ.ส.ย. นายสงกรานต์ คำพิไสย์ กรรมการบริหาร อ.ส.ย. และคณะผู้บริหารในเครือบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน)
นายพินิจกล่าวว่า อุตสาหกรรมยางพารามีผลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) อย่างมาก รายได้จากการส่งออกยางพาราสูงกว่าการส่งออกข้าว ขณะนี้ยางพาราตันละ 36,000 บาท ถ้าเทียบกับข้าวตันละ 12,000 บาท ยางพารามีบทบาทสำคัญต่อรายได้ของประเทศ ถ้าบริหารจัดการดียางพาราจะสร้างมูลค่าเพิ่ม ถ้าเพิ่มมูลค่าจากต้นน้ำมาเป็นกลางน้ำ จะเพิ่มรายได้ให้กับประเทศและเกษตรกรอย่างน้อยอีกประมาณ 5 เท่าตัว ยิ่งถ้ามีปลายน้ำเองจากต้นยางมาเป็นน้ำยาง แล้วไปสู่โรงงานถุงมือ ถุงยางอนามัย ยางล้อรถยนต์ รายได้จะเพิ่มเป็นร้อยเท่า ขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นนั้น แต่ถ้าเกษตรกรรวมตัวกันสร้างโรงงานทำยางแท่งได้ น่าสนใจมาก ได้พยายามผลักดันให้เกิดการพัฒนาขึ้นมา
นายพินิจกล่าวว่า ชาวสวนยางไม่ใช่กรีดยางแล้วขาย ขายวัตถุดิบ ขายยางแผ่นเท่านั้น ทำอย่างไรเกษตรกรจะรวมตัวกันเป็นสหกรณ์ แล้วทำโรงงานยางแท่ง ส่งไปขายประเทศมาเลเซียหรือประเทศจีน ก็จะได้เงินเพิ่ม ถ้ารัฐบาลทำวิจัยและพัฒนาร่วมทุนกับต่างประเทศทำล้อยางรถยนต์ หรือหนังยางไว้ใช้รัดของ รับรองประเทศไทยผลิตไม่ทันส่ง
นายพินิจกล่าวว่า การจัดงานวันยางพาราปีที่แล้ว เกษตรกรประทับใจมากเพราะได้ความรู้ ถ้าคนมีความรู้แล้ว จะทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ผลลัพธ์ก็จะดี แต่ถ้าไม่มีความรู้ก็จะเกิดความเสียหาย ฉะนั้นงานวันยางพาราจะช่วยให้เกษตรกรมีความรู้เพิ่มศักยภาพมากขึ้น การกรีดยางวันนี้ราคามันลดลง แต่จะทำอย่างไรให้ปริมาณเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยราคาที่ลดลง
นายวิมล จันทรโรทัย รองปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยกว่า 647,000 ล้านบาทต่อปี ที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายขยายพื้นที่ปลูกยางพารา ยกระดับตลาดยางพาราภาคอีสานและภาคเหนือให้มีตลาดมากขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ สำหรับ จ.บึงกาฬ เป็นพื้นที่เป้าหมาย เนื่องจากมีพื้นที่ปลูกยางมากที่สุดในภาคอีสาน มีความพยายามยกระดับให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมยางพาราของประเทศ
“ทั้งนี้ต้องสนับสนุนความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนเทคโนโลยีให้เกษตรกรในพื้นที่ และงานครั้งนี้จะเปิดพื้นที่ให้นักลงทุนซึ่งมีส่วนสำคัญในการพัฒนายางพาราได้เห็นศักยภาพของ จ.บึงกาฬ ที่จะเป็นเเหล่งอุตสาหกรรมยางของภูมิภาค” นายวิมลกล่าว
นายชโลธร ผาโคตร ผู้ว่าฯบึงกาฬ กล่าวว่า การจัดงานปีที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมากมีประชาชนเข้าชมงานวันละ 20,000 คน มีเงินหมุนเวียนไม่ต่ำกว่าวันละ 20 ล้านบาท การจัดงานครั้งนี้มีการพัฒนาต่อยอด และในปีที่ 4-5 จ.บึงกาฬ จะเป็นศูนย์กลางยางพาราของเอเชีย งานนี้จะรวมงานกาชาดของจังหวัดด้วย นอกจากนี้ในปีนี้ยังเป็นปีที่เปิดควาสัมพันธ์กับประเทศคู่ค้ายาง โดยมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ค้าขายยางพารากับจีนโดยตรงโดยมีนายนิพนธ์ คนขยัน นายก อบจ.บึงกาฬ เป็นประธานอนุกรรมการบ้านพี่เมืองน้องบึงกาฬกับเมืองชิงเต่า ของจีน นอกจากนี้ยังมีตัวแทนจากจีน, ลาว, เวียดนาม, กัมพูชา และมาเลเซียมาร่วมงานด้วย
ผู้ว่าฯบึงกาฬกล่าวว่า จ.บึงกาฬ ต้องการความช่วยเหลือเรื่องการขนส่ง เนื่องจาก จ.บึงกาฬ ไม่มีสนามบิน เเละรถไฟมาไม่ถึง การพัฒนาด้านคมนาคม เช่น ถนน 4 เลน หรือรถไฟทางคู่ รวมถึงสะพานมิตรภาพเเห่งที่ 5 จะช่วยเหลือเกษตรกรได้มาก
ด้านนายนิพนธ์ คนขยัน นายก อบจ.บึงกาฬ กล่าวว่า ประเทศไทยส่งออกยางพารามากที่สุดในโลก โดย จ.บึงกาฬเป็นศูนย์กลางของภาคอีสาน มีเกษตรกรที่ปลูกยางพารา 60% ของประชากรในจังหวัด แต่ยังมีปัญหาเรื่องราคายาง เนื่องจากโรงงานผลิตเเละเเปรรูปยางพาราในจังหวัดทั้ง 3 เเห่งเป็นของนักลงทุนจากภาคใต้ การขายยางต้องผ่านหลายมือ ทำให้ราคายางที่เกษตรกรได้รับมีราคาถูก การเเก้ปัญหาควรเริ่มที่ต้นเหตุ คือการรวมตัวของเกษตรกรตั้งสหกรณ์และตั้งโรงงานผลิตเเละแปรรูปในจังหวัด เพื่อเพิ่มมูลค่าเเละยกระดับคุณภาพยางพาราของประเทศไทย เมื่อเปิดประชาคมอาเซียน จ.บึงกาฬจะเป็นศูนย์กลางยางพาราของภูมิภาค
นายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ในงานนี้ ธ.ก.ส.จะให้สินเชื่อการปลูกยางพารา รวมทั้งสินเชื่อการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่ายางพาราด้วย เรื่องการส่งเสริมสหกรณ์ก็มีความสำคัญในการรวบรวมผลผลิตจากต้นน้ำและทำการแปรรูป
นายเชาว์ ทรงอาวุธ รองผู้อำนวยการ สกย.กล่าวว่า งานในปีนี้ สกย.จะสาธิตการทำสวนยาง และการจัดเสวนาอนาคตยางพารากับการพัฒนาบึงกาฬ เมืองหลวงยางพาราภาคอีสาน และนโยบาย สกย.ในปี 2557 ที่พัฒนาและการส่งเสริมยางพารา โดยงานวันที่ 14 ธันวาคม จะมีเวทีเสวนาเรื่อง “เตรียมความพร้อมเกษตรกรชาวสวนยาง” กับการพัฒนาประเทศไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) และวันที่ 15 ธันวาคม มีการเสวนาเรื่อง “สร้างแนวคิดพัฒนาเกษตรกรเพื่อแก้วิกฤตเรื่องยางพารา” ที่สำคัญจะมีการจัดการแข่งขันกรีดยาง โดยรับสมัครผู้แข่งขันจากทั่วประเทศมาร่วมแข่งขัน ผู้ชนะเลิศอันดับ 1 จะได้เงินรางวัล 1 แสนบาท
ทั้งนี้ งาน “วันยางพาราบึงกาฬ 2013” จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ยางพารากับชีวิตที่มั่นคง” เพื่อตอกย้ำถึงเจตนารมณ์การส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรชาวสวนยางให้มีความรู้ทั้งด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิต การเพิ่มมูลค่าการผลิตยางพารา ตลอดจนความรู้ด้านการตลาด และลู่ทางการลงทุนแก่กลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการยางพารา โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ จ.บึงกาฬก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการค้ายางพาราของอาเซียน
ภายในงานรวบรวมองค์ความรู้ต่างๆ ผ่านนิทรรศการ เสวนา และการอบรมเชิงปฏิบัติการกับผู้เชี่ยวชาญด้านยางพาราทั้งจากภาครัฐและเอกชน เช่น นิทรรศการเทคโนโลยีและนวัตกรรมยางพารา นำเสนอข้อมูลสถิติยางพารา, ยุทธศาสตร์ยางไทยก้าวไกลสู่ยางโลก, แนะนำกล้ายางพันธุ์ดี กระบวนการผลิตยางพารา ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ, การจัดแสดง 77 ผลงานนวัตกรรมจากยางพารา และการเสวนาในหัวข้อต่างๆ เช่น “เตรียมความพร้อมเกษตรกรชาวสวนยาง กับการพัฒนาประเทศสู่ AEC” หัวข้อ “สร้างแนวคิดพัฒนาเกษตรกร เพื่อแก้วิกฤตเรื่องยางพารา” หัวข้อ “เพิ่มมูลค่าให้กับยางพารา…เพิ่มรายได้อย่างยั่งยืนให้กับเกษตรกร” ฯลฯ รวมทั้งมีการอบรมเชิงปฏิบัติการด้านยางพารา ได้แก่ การผลิตปุ๋ยอินทรีย์-เคมี, เทคนิคการกรีดยาง และเทคนิคการลับมีดกรีดยาง เป็นต้น’>