เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศงาน “วันยางพาราบึงกาฬ 2013” ที่ศาลากลางจังหวัดบึงกาฬ จ.บึงกาฬ ในวันสุดท้ายว่าตั้งแต่ช่วงเช้ามีประชาชน นักเรียน นักศึกษา เกษตรกรชาวสวนยาง เดินทางเข้าชมนิทรรศการจำนวนมากกว่าทุกวัน โดยเฉพาะชาวสวนยางที่เดินทางมาเข้าร่วมงานมากเป็นพิเศษ เนื่องจากวันนี้ที่ลานแข่งขันภายในงานวันยางพาราบึงกาฬ 2013 มีกิจกรรมการแข่งขันกรีดยางพาราชิงแชมป์ประเทศไทย โดยผู้ชนะและรองชนะเลิศจะได้รับโล่รางวัลของนายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 21 และได้รับเงินรางวัลจากนายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีนและส่งเสริมความสัมพันธ์ โดยนายชโลธร ผาโคตร ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ เป็นผู้มอบรางวัล
ผลการแข่งขันปรากฏว่า นายราวี ไชยสุข จ.บึงกาฬ ได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันกรีดยางพาราชิงแชมป์ประเทศไทย ได้รับโล่รางวัลและเงินรางวัล100,000 บาท นายทองสุข ทองสวรรค์ จ.ชัยภูมิ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 โล่รางวัลและเงินรางวัล 10,000 บาท นายธนชัย พรมชาติ จ.จันทบุรี ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 โล่รางวัล และเงินรางวัล 5,000 บาท จากนายชโลธร ผาโครต ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ และรางวัลชมเชย 2 รางวัล ได้รับเงินรางวัล 2,000 บาท ได้แก่ นายพิชัยศักดิ ศรีบุญทา จ.บึงกาฬ และนายสุรักษ์ เชื้อหงษ์ จ.กาฬสินธุ์
นายธิติวุฒิ จอดนอก ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ประธานอำนวยการการแข่งขันกรีดยางพาราชิงแชมป์ประเทศไทย กล่าวว่า การแข่งขันครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ทั้งเกษตรจังหวัด สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) องค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) โดยทั้ง 3 หน่วยงานจะส่งตัวแทนมาเป็นกรรมการให้คะแนนทั้งสิ้น 7 ท่าน โดยจะมีเกณฑ์การแข่งขัน คือ 1.กรีดลงท่อน้ำยาง 2.มุมกรีดจะต้องทำมุม 30 องศา เพราะเป็นมุมที่ทำให้ได้น้ำยางมากที่สุด 3.หน้ายางที่กรีดจะต้องเรียบและการกรีดจะต้องไม่ถึงเนื้อไม้ และ 4.ท่าทางการกรีดจะต้องกระตุกมือสลับเท้า การสลับเท้าเป็นท่าการกรีดยางที่เหมาะสมเวลากรีดจริงพื้นดินจะไม่เรียบการก้าวเท้าช่วยให้ข้ามผ่านสิ่งกีดขวาง หรือป้องกันการสะดุดล้มได้
“ผู้เข้าแข่งขันในครั้งนี้จะเป็นตัวแทน แต่ละอำเภอแต่ละจังหวัดคัดเลือกมาแล้ว มีตัวแทนจากทั่วประเทศของไทย ทั้งภูเก็ต จันทบุรี ระยอง กาฬสินธุ์ ฯลฯ ทั้งสิ้น 64 คน และผ่านการฝึกอบรมทั้งสิ้น 7 วัน เพื่อฝึกการกรีดยางที่ถูกต้องในขั้นพื้นฐาน ขั้นพัฒนา และขั้นประนีต จะครอบคลุมในเกณฑ์การแข่งขันทั้ง 4 ข้อ” นายธิติวุฒิกล่าว
ด้านนายราวี ผู้ชนะเลิศการแข่งขั้นการกรีดยางพาราชิงแชมป์ประเทศไทยครั้งนี้ กล่าวว่า เป็นเกษตรกรชาวสวนยางอยู่แล้ว มีสวนยางกว่า 60 ไร่ กว่าจะมาแข่งขันครั้งนี้ผ่านการฝึกฝนมากว่า 10 ปี มองการกรีดยางว่าเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง เมื่อทราบว่าชนะการแข่งขันกรีดยางพาราครั้งนี้ก็รู้สึกดีใจมาก ส่วนตัวเท่าที่เห็นการกรีดยางของผู้ร่วมการแข่งขันท่านอื่นก็มั่นใจพอสมควรว่าต้องได้รับรางวัล ตั้งใจจะนำเงินไปสร้างบ้านให้เสร็จและขยายพื้นที่การปลูกยางพาราเพิ่มมากขึ้นอีก
นอกจากนี้ ภายในงานยังการประกาศและมอบรางวัลการแข่งขันประเภทต่างๆ โดยนางดาราวรรณ์ ศรีสว่าง จ.บึงกาฬ ได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันการดัดลวดรองรับถ้วยยาง นายสมภาน สุพร ได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันลับมีดกรีดยาง และ อ.ปากคาด จ.บึงกาฬ ได้รับรางวัชนะเลิศการแข่งขันกองเชียร์ยางพารา
‘>