งานวันยางพาราบึงกาฬ 2013 จุดพลุจับคู่ธุรกิจบูมลงทุนธุรกิจยางพาราไทย-จีน ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ Rubber Valley ยักษ์ใหญ่ซื้อขายยางจากเมืองชิงเต่า อาสาเป็นหัวหอกปฏิวัติการค้ายางรูปแบบใหม่ ปั้นตลาดกลางซื้อขายอิงเงินหยวน เล็งลงทุนตั้งโกดังแห่งใหม่ในไทย
เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2556 ที่ศาลากลาง จ.บึงกาฬ มีการจัดงาน “วันยางพาราบึงกาฬ 2013” โดยจังหวัดบึงกาฬ และองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) องค์กรสวนยาง (อ.ส.ย.) พร้อมด้วยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และหน่วยงานเอกชน อาทิ บริษัท สยามคูโบต้า บริษัท รับเบอร์ วัลเลย์ จากเมืองชิงเต่า ประเทศจีน
ในช่วงเช้า ที่โรงแรมเดอะวัน มีการจัดงาน “Business Matching จับคู่ธุรกิจ” พบปะระหว่างเกษตรกรชาวสวนยาง พ่อค้าคนกลาง เจ้าของโรงงาน และคณะผู้บริหารจากบริษัท Rubber Valley บริษัทรับซื้อยางรายใหญ่ โดยมีนายจาง เหยิน ประธานกรรมการ และนายเจิน จ้ง ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัทซับพลาย เชน ในเครือรับเบอร์ วัลเลย์ เข้าร่วม โดยมีพินิจ จารุสมบัติ รองนายกรัฐมนตรี นายนิพนธ์ คนขยัน นายก อบจ.บึงกาฬ ชาวสวนยาง เจ้าของโรงงาน และสหกรณ์สวนยางบ่อทอง จ.ชลบุรี เข้าร่วมพบปะ
นายจาง เหยิน กล่าวว่า การมาครั้งนี้ ไม่ใช่มาเฉพาะรับเบอร์ วัลเลย์ แต่มีศูนย์วิจัยเทคโนโลยี และยางพาราของจีนมาด้วย รวมทั้งบริษัทขนส่งโลจิสติกส์ บริษัทผลิตเครื่องจักร อุปกรณ์ในอุตสาหกรรมยาง ไทยเป็นประเทศที่ผลิตยางและส่งออกมากใหญ่ที่สุด ขณะที่จีนเป็นประเทศที่ต้องการใช้ยางพารามากที่สุดในโลก จึงเป็นการร่วมมือที่ดีในการใช้ยางพาราตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยในงานมีการหารือกัน 3 เรื่องใหญ่ คือ 1.การสร้างแบรนด์ยางพาราของ จ.บึงกาฬ 2.การนำสินค้าไปทำตลาดต่างประเทศ และ 3.การนำเทคโนโลยีมาสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ได้อย่างไร
ปัจจุบันยางมีการผลิตมาก และมีความต้องการมาก แต่ราคากลับตกต่ำลง ซึ่งน่าจะมีสาเหตุจาก 1.การกำหนดราคายางมีปัญหา 2.ระบบตลาดการซื้อขายมีปัญหา ซึ่งจีนและไทยจะร่วมมือกันแก้ไขปัญหา
เจิน จ้ง
ด้านนายเจิน จ้ง ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัทซับพลาย เชน กล่าวว่าตนอยากให้อุตสาหกรรมยางมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
แม้ปัจจุบัน ความต้องการยางธรรมชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ในปี 2556 ผลผลิตยางมีมากกว่าความต้องการ ดังนั้นตั้งแต่ปี 2557-2563 ผลผลิตยางจะมากกว่าความต้องการใช้ สินค้าจะล้นตลาด ทำให้ราคาไม่มีเสถียรภาพ
“เราควรปรับกลยุทธ์ใหม่ ต้องเพิ่มการบริการจัดการองค์กรให้ประสิทธิภาพสูงขึ้น เราต้องมีเป้าหมายที่ตรงกันคือการพัฒนาที่ยั่งยืน ต่อเนื่อง และรวบรวมทรัพยากรให้มาอยู่ด้วยกัน และบริหารด้วยกัน สิ่งนี้ไม่ใช่การปฏิวัติ เพราะเราไม่ได้จะทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียประโยชน์ ทุกส่วนทุกขั้นตอนจะอยู่ต่อไป เราก็แค่สร้างกติกาใหม่ วิธีการคือ 1.การซื้อขายยางที่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางหลายมือ สินค้างวดหนึ่งกว่าจะถึงโรงงานต้องผ่าน 127 มือ 2.ระบบการกำหนดราคายางทุกวันนี้ ต้องดูจากตลาดซื้อขายล่วงหน้า ทั้งที่ไทยเป็นประเทศที่ผลิตและส่งออกยางมากที่สุดในโลก แต่ไม่มีสิทธิกำหนดราคายาง ส่วนจีนที่นำเข้ายางมากที่สุดก็ไม่มีสิทธิกำหนดเช่นกัน เพราะนักลงทุนกลับเป็นผู้กำหนดราคา ซึ่งมีเป้าหมายคือการเก็งกำไร 3.ตลาดเริ่มเปลี่ยนแปลง ถือเป็นวิกฤตสำหรับทุกฝ่ายที่ต้องปรับตัว เพราะตั้งแต่ปีนี้ไปจนถึง 2563 ผลผลิตยางจะล้นตลาด ทางออกในการแก้ปัญหาสำหรับบริษัท คือวางกลยุทธ์ใหม่ในการบริหารจัดการองค์กรให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
ด้วยการปฏิรูปวิธีการค้าขายใหม่และระบบการกำหนดราคา โดยดูราคาทั้ง 3 ตลาด ได้แก่ ตลาดซื้อขายล่วงหน้า ตลาดซื้อขายจริง และการซื้อขายโดยการส่งมอบ แล้วมากำหนดราคาอย่าคิดว่าต้องขายตลาดเดียว เพราะขายได้ทั้ง 3 ตลาด เป็นที่มาของการสร้างตลาดกลางของรับเบอร์ วัลเลย์เอง ชื่อว่า Boce-Rubber Valley Natural Rubber Exchange ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน และเอกชน
“ตอนนี้รัฐบาลจีนมีนโยบายกำจัดบริษัทเทรดดิ้งที่ไม่มีการค้าขายจริง เพราะที่ผ่านมามีปัญหาซื้อยางแผ่นรมควันเพื่อเก็งกำไรในตลาดซื้อขายล่วงหน้า จนกระทั่งสินค้าล้น ดังนั้น รับเบอร์ วัลเลย์ ในฐานะองค์กรตัวกลาง จึงได้ออกแบบนำเสนอวิธีการซื้อขาย เพื่อให้อุตสาหกรรมยางพาราทั่วโลกพัฒนาอย่างยั่งยืน การเข้าร่วมกับรับเบอร์ วัลเลย์ ทำให้โอกาสในการขายยางมีสูงขึ้น กำหนดราคาได้ และความเสี่ยงต่ำ”
โดยรับเบอร์ วัลเลย์ มีโกดังเก็บสินค้าทั้งที่ชิงเต่า เทียนสิน เซี่ยงไฮ้ และหนิงโป และมีแผนจะเปิดดำเนินการแห่งที่ 4 ในไทย อาจเป็นที่กรุงเทพฯ หรือแหลมฉบัง โดยในการซื้อขาย ผู้ขายยางสามารถรับเงินสดได้อย่างน้อย 70% ส่วนผู้สนใจจะไปเปิดบริษัทที่ชิงเต่าผ่านรับเบอร์ วัลเลย์ ก็สามารถทำได้ แต่แนะนำให้จัดตั้งเป็นสหพันธ์ขึ้นมา เพื่อรับวัตถุดิบมาแปรรูปเอง หรือจ้างแปรรูป แล้วไปเปิดบริษัทที่ชิงเต่า ในนามของสหพันธ์ยางพารา นอกจากนี้ ช่วงไตรมาส 1 ปี 2557 จะมีการซื้อขายยางพาราด้วยเงินหยวนโดยตรง
พินิจ จารุสมบัติ
นายพินิจ กล่าวว่า สิ่งสำคัญสำหรับเราในวันนี้่ คือ ทำอย่างไรที่จะตัดขั้นตอนพ่อค้าคนกลางออกไปได้ เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตได้มาพบกับ ต้นน้ำคือเกษตรกรทั้งหลาย ตอนนี้ประสบความสำเร็จถึงขั้นที่นายก อบจ.นิพนธ์ คนขยัน จะตั้งโรงงานยางพารา ซึ่งล่าสุดผู้ว่าราชการจังหวัดได้เซ็นอนุมัติให้กู้เงินเรียบร้อยแล้ว ถือเป็นขั้นตอนกลางน้ำซึ่งเราได้ก้าวมาอีกขั้นหนึ่ง และจะต้องกระโดดไปอีกขั้นด้วย อย่างในวันนี้เป็นโอกาสดีที่มีพันธมิตรคือบริษัท รับเบอร์วัลเลย์ จำกัด จากเมืองจีนเข้ามาเห็นความสำคัญเกษตรกร และนำเสนอแผนความร่วมมือต่างๆ แต่จะสำเร็จมีผลอย่างไร ขึ้นอยู่กับเกษตรกรที่จะรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็งแค่ไหน
“การจัดงานวันยางพาราบึงกาฬในขณะนี้ ได้รับความสนใจจากหลายประเทศ อย่างวันนี้ บริษัทรับเบอร์วัลเลย์ ได้เข้ามาแล้ว และได้ยินมาว่าทางประเทศอินเดียก็ให้ความสนใจที่จะมาร่วมด้วยเช่นกัน” นายพินิจกล่าว
‘>