การลงพื้นที่สำรวจและประเมินสถานภาพการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พันธุ์พืช ในป่าภูวัว-ภูลังกา จ.บึงกาฬ ของนักวิจัยพันธุ์พืช สํานักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติฯ และจากหลายมหาวิทยาลัย ที่ถูกนำมาเผยแพร่ใน สํานักงานหอพรรณไม้
มีพืชที่ใกล้สูญพันธุ์อีกชนิด นั่นคือ…หญ้าพันเกลียว
เป็นไม้ล้มลุกมีหัวใต้ดิน คล้ายหญ้า สูงประมาณ 1.5-2 ม. แตกกิ่งทุกส่วน มียางใส ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามกัน เป็นรูปแถบยาว 5.5-10.5 ซม. ปลายแหลมโคนสอบเรียว ก้านใบยาว 0.6-1 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจุก มีเพียงดอกเดียว กลีบเลี้ยง 5 กลีบ มีใบรูปหอก ยาว 7-8 มม.
ดอกรูปทรงกระบอกสีครีม มีปื้นสีน้ำตาลยาว 1–1.2 ซม. ปลายดอกด้านในมีขน ปลายแยกเป็น 5 แฉก กลีบดอกรูปแถบ ยาว 4–5.5 ซม. บิดเป็นเกลียว ปลายเรียวแหลม โคนกลีบเป็นติ่งขนกำมะหยี่สีม่วง เป็นที่สังเกตเด่นชัด จึงเป็นที่มาของชื่อหญ้าพันเกลียว
ขอบกลีบมีขนครุย ปลายขนเป็นตุ่มคล้ายกระบอก รูปกระบอง มีกะบังรอบเส้าเกสร มีผลเป็นฝักคู่ ยาวประมาณ 20 ซม. ผิวผลมีช่องอากาศ เมล็ดแบน มีปีก ยาวประมาณ 1.5 ซม.
พบการกระจายพันธุ์และนิเวศวิทยา โดยเฉพาะในทุ่งหญ้าที่ราบบนยอดภูเขาหินทราย บริเวณชายป่าดิบแล้ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับความสูง 300 ม. เป็นพืชถิ่นเดียวในประเทศไทยเท่านั้น
ชื่อไทย ต้นหญ้าพันเกลียว
ชื่อสามัญ Ceropegia Plant.
ชื่อวิทยาศาสตร์ Ceropegia Thailandica Meve.
วงศ์ APOCYNACEAE-ASCLEPIADEAE.
ต้นหญ้าพันเกลียวเป็นพืชถิ่นเดียวของไทย พบเฉพาะที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว จ.บึงกาฬ ขึ้นกระจายห่างๆ ตามทุ่งหญ้าที่ราบบนยอดภูเขาหินทรายชายป่าดิบแล้ง ระดับความสูงประมาณ 300 เมตร เป็นไม้ล้มลุก มีหัวใต้ดินกลมๆ มีรากยาว ลำต้นคล้ายหญ้า สูง 10-30 ซม. แตกกิ่ง มีขนประปรายตามข้อ มียางใส ใบเดี่ยวเรียง ปลายใบแหลม โคนใบเรียว ไร้ก้าน ช่อดอกแบบช่อกระจุกมี
ดอกเดียว กลีบดอก 5 กลีบ บิดเป็นเกลียว สีเขียวครีม อมน้ำตาล ยาว 4-5.5 ซม. ปลายกลีบเรียวแหลมยาว โคนกลีบเป็นติ่ง พับงอ มีขนกำมะหยี่สีม่วงดำ ขอบกลีบมีขนครุย โค้งงอ ยาว 3-3.5 มม.
หญ้าพันเกลียว เดียวดาย ไม้ใบยาว
งามแพรวพราว ดาวเด่น เป็นหญ้าใส
เกิดที่เดียว เปลี่ยวหลง ดงหญ้าไทย
เมืองแสนไกล ในแคว้น แดนภูวัว
ยามลมโชย โบยโบก โยกไหวเอน
พวกจิ้งเหลน เห็นดิ่ง วิ่งหันหัว
มุดกอหญ้า ป่าพง คงเพราะกลัว
ซ่อนพลางตัว ทั่วป่า หญ้าพันเกลียว
จากการประเมินสถานภาพตามเกณฑ์ สหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) พบว่า หญ้าชนิดนี้อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง.
[pdf-embedder url=”http://www.bungkan.net/wp-content/uploads/2020/06/Phuwua_Phulanka.pdf”]’>