“อนุพงษ์” รับมติอกพ.มหาดไทยให้ปลดอดีต”ผู้ว่าฯ-นอภ.” บึงกาฬยกเข่งเอี่ยวโกงยาฆ่าเพลี้ย คาดเล็งใช้ ม.44 สำเร็จโทษ
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกรณีที่อนุกรรมการข้าราชการพลเรือน(อ.ก.พ.) กระทรวงมหาดไทย มีมติปลดนายสมพงษ์ อรุณโรจน์ปัญญา อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ และนายอำเภอทุกอำเภอจำนวน 8 อำเภอ กรณีทุจริตจัดซื้อจัดจ้างสารป้องกันเชื้อรา หรือเพลี้ย (คาร์เบนดาซิมหรือแมนโดแซน) ในปี2554ว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต เมื่อมีการสอบสวนไปถึงผู้ใด ก็ต้องลงโทษทางวินัย ตามกฎหมาย ส่วนขั้นตอนหลังจากปลดอดีตผู้ว่าฯที่เกี่ยวข้องคนดังกล่าวนั้น ต้องอยู่ที่ที่ประชุมอ.ก.พ.กระทรวงมหาดไทย ภายหลังที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ชี้ว่ามีความผิดในลักษณะที่ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบทำให้เกิดความเสียหายหรือมีการทุจริตหรือไม่ ซึ่งที่ประชุมอ.ก.พ.มีมติออกมาแล้ว
“ผมได้รับรายงานแล้วในเบื้องต้น ในแง่ของกฎหมาย เขาจะขอทำเป็นลายลักษณ์อักษร คาดว่าใช้เวลาไม่เกิน2-3วัน ก็จะสรุปขึ้นมา เพราะเขาบอกว่าใครที่ถูกลงโทษไปนั้น มีสิทธิ์ที่จะฟ้องร้องได้ เราก็อยากทำให้รัดกุม เกิดความเรียบร้อยตามกฏหมาย อย่าให้ช่องโหว่ที่จะทำให้เกิดการฟ้องร้องขึ้นมา”รมว.มหาดไทย กล่าว
ต่อข้อถามว่า ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ(ศอตช.) ได้ส่งรายชื่อข้าราชการทุจริต 152 ราย ล็อต 2 ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยมาหรือยัง รมว.มหาดไทย กล่าวว่า ยังไม่ได้รับ คราวที่แล้วก็ไม่ได้ส่งมายังกระทรวงมหาดไทย แต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ยื่นซองส่งด้วยมือตนเองมาให้ตน แต่ครั้งนี้ตนยังไม่ได้พบ
ผู้สื่อข่าวถามว่าในส่วนของกระทรวงมหาดไทยยังไม่รู้จำนวนที่แน่ชัดหรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า “มันคงไม่รู้มั้ง เพราะยังไม่ได้ส่ง”
ส่วนรายชื่อข้าราชการทุจริตของกระทรวงมหาดไทย จะต้องอิงตามมาตรา 44 เลย หรือทางกระทรวงสามารถที่จะดำเนินการได้เลยหรือไม่นั้น รมว.มหาดไทย กล่าวว่า ถ้าล็อตที่ 1 ใช้มาตรา 44 ไป ตนคาดว่า ชุดต่อไปก็คงเป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งคราวที่แล้วท่านนายกฯ เป็นผู้พิจารณาขอให้ไม่ต้องปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเดิม โดยใช้มาตรา 44 ในทุกกระทรวง หรือหน่วยงานที่เกี่วข้อง
ผู้สื่อข่าวถามย้ำอีกว่า ข้าราชการกระทรวงมหาดไทยจะเกี่ยวข้องประมาณกี่ราย รมว.มหาดไทย กล่าวว่า “จะรู้ไหมล่ะ ผมเคยเรียนหลายครั้งแล้วว่าเรื่องนี้มันตั้งแต่ปี55 ทราบว่ามีเยอะจังหวัด หลายจังหวัดที่มีส่วนเกี่ยวข้อง แล้วในส่วนเกี่ยวข้องหมายความว่าแต่ละกรณีก็จะมีส่วนเกี่ยวข้องเยอะ ยกตัวอย่างว่า ซื้อยาฆ่าแมลง เรื่องอะไร เรื่องข้าว เรื่องยาง แล้วมันก็จะมีเจ้าหน้าที่ตรวจรับ ก็จะโดนเป็นชุดๆ ไป เพราะมันเยอะ ผมตอบได้ว่ามันคงหลายคน หลายส่วนที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ต้องมีการสอบสวน”
นอกจากนี้พล.อ.อนุพงษ์ ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม ในกรณีดังล่าวจะมีบ้างหรือไม่ที่เหลือกจากล็อตที่1 มาล็อตที่2 โดยกล่าวว่า ให้ไปถามทางสตง.จะดีกว่า เพราะว่าเขาเป็นคนสอบสวน ตนรู้เพียงคร่าวๆ ตนพูดผ่านสื่อมาหลายครั้งแล้ว และสื่อก็นำไปลงตั้งหลายครั้ง
นอกจากนี้พล.อ.อนุพงษ์ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าในส่วนของกระทรวงมหาดไทย หลังจากรายชื่อข้าราชการทุจริตล็อตที่ 1 ประกาศออกไปแล้วว่า ถ้าการสอบสวนจบแล้วเราก็จะดำเนินการทางวินัยทันที แต่ถ้ายังไม่จบเราต้องตั้งกรรมการสอบสวนจากข้อเท็จจริงที่มีตามลำดับ โดยอิงจากระเบียบที่มี หากตั้งคณะกรรมการสอบสวนจนเสร็จสิ้น เราก็จะมาดำเนินการทางวินัย ขณะที่จะต้องใช้ระยะเวลานานหรือไม่นั้น ในครั้งนี้ถือว่า เร็ว เพราะว่าเรามีการเร่งรัด
“ประเด็นที่มันยุ่งยากก็คือ ในบางกรณีมันเป็นข้าราชการจากกระทรวงอื่นมาเกี่ยวข้อง กรณียาฆ่าแมลงมันมีกระทรวงอื่นเป็นเจ้าหน้าเซ็นรับ ถือว่า ไปเกี่ยวข้องด้วย ในเรื่องนี้ไม่ใช่กระทรวงมหาดไทยที่เกี่ยวข้องเพียงกระทรวงเดียว มันมีหลายกระทรวงและหลายกรมเข้ามาเกี่ยวข้อง” พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวและว่า
เรื่องดังกล่าวท่านนายกฯ มีนโยบายเร่งรัดไปตามกฏหมายและข้อเท็จจริงให้ครบถ้วน โดยกรอบเวลาในการทำงานคือ ต้องทำทันที เพียงแต่ติดปัญหาที่ว่ามีหลายกระทรวงเกี่ยวข้อง ทำให้ติดขัดในเรื่องการสอบสวนและประสานงานอยู่เล็กน้อย ซึ่งปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ดำเนินการในการสอบสวนตามขั้นตอน ตนเพียงแต่กำกับดูแล ในด้านนโยบายเรื่องดังกล่าวก็ต้องเร่ง ปล่อยนิ่งเฉยไม่ได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเอกสารคณะกรรมการ ป.ป.ช.คำสั่งที่ 571/ 2557 ระบุฐานความผิดถึงกรณีทุจริตจัดซื้อจัดจ้างสารป้องกันเชื้อรา หรือเพลี้ย (คาร์เบนดาซิมหรือแมนโดแซน) ในปี2554ว่า กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 สำหรับในกรณีดังกล่าวมีข้าราชการเกี่ยวข้องทั้งหมด 37 คน โดยมีข้าราชการระดับสูงอย่าง ผู้ว่าฯ-ปลัดจังหวัด รวมถึงนายอำเภอ และปลัดอำเภอหลายแห่ง ขณะที่มีเอกชนผู้เกี่ยวข้อง 4 แห่ง
โดยนายสมพงศ์ อรุณโรจน์ปัญญา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ ได้มีประกาศจังหวัดบึงกาฬ เรื่อง ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (โรคระบาดในนาข้าว) ในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2554 และวันที่ 8 กรกฎาคม 2554 โดยประกาศแยกเป็นรายอำเภอ ทั้งที่มิได้เกิดโรคระบาด หรือเกิดความเสียหายรุนแรงจนเกษตรกรต้องการความช่วยเหลือหรือมีภัยพิบัติฉุกเฉินจริง
ต่อมาวันที่ 19 กรกฎาคม 2554 นายสมพงศ์ แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดราคากลาง สารเคมีคาร์เบนดาซิม ประกอบด้วย นายอรรถนนท์ โนสุวรรณ ปลัดจังหวัดบึงกาฬ เป็นประธานกรรมการ นายเฉลิมพล เขตบุรี รักษาการเกษตรจังหวัดบึงกาฬ เป็นกรรมการ และนายปริญญา สายสุพรรณ์ รักษาการป้องกันจังหวัดบึงกาฬ เป็นกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการกำหนดราคากลางดังกล่าว กำหนดราคากลางที่ควรจัดซื้อผลิตภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช (คาร์เบนดาซิมหรือแมนโคเซน) 50% ระหว่าง 400-500 บาท/250 ซีซี หรือ 1,600-2,000 บาท/1,000 ซีซี ซึ่งมีนายสมพงศ์ เห็นชอบตามราคาที่เสนอ ทั้งที่ราคาดังกล่าวสูงเกินจริง
แหล่งข่าวในที่ประชุมอนุกรรมการข้าราชพลเรือน (อ.กพ.) กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในที่ประชุมวานนี้ ( 27 พ.ค.) มีมติให้ลงโทษ (วินัยร้ายแรง) ปลดออกจากราชการ ดังนี้อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ ปลัดจังหวัดและป้องกันจังหวัด รวมถึงนายอำเภอ 8 อำเภอ ขณะที่โทษลดเงินเดือน ( วินัยไม่ร้ายแรง ) ได้แก่ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และเสมียนตราอำเภอ 8 เภอ อย่างไรก็ตามที่ประชุม อ.กพ.มท. ยังได้ ระบุอีกว่า เมื่อผู้ถูกลงโทษไม่เห็นด้วยกับโทษดังกล่าวสามารถใช้สิทธิในการอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิทักษ์คุณธรรม (ก.พ.ค.) ภายใน 30 วัน หากมีผลวินิจฉัยอุทธรณ์แล้วไม่เห็นด้วยสามารถนำคดีไปฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในกรณีการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าว ได้มีข้าราชการหลายกระทรวงในระดับสูงและระดับรอง ๆ ลงมาเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริตมีจำนวนเกือบ 4,000 คน โดยบางส่วนยังคงรอผลการสอบสวนจากองค์กรอิสระ
อาทิ สตง. และป.ป.ช.ดำเนินการสอบสวนอยู่ หากผลการดำเนินการแล้วเสร็จเร็วจะทำให้มีข้าราชการถูกดำเนินการลงโทษเป็นจำนวนมากในประวัติศาสตร์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เป็นมติคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน กรณีทุจริตจัดซื้อจัดจ้างสารป้องกันเชื้อรา (คาร์เบนดาซิมหรือแมนโดเซน) ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยโรคระบาดในข้าว ในท้องที่จังหวัดบึงกาฬ
(อ่านประกอบ : ผู้ว่าฯบึงกาฬย้ายที่อยู่! หลังป.ป.ช.ตั้งอนุฯไต่สวนจัดซื้อยาปราบศัตรูพืช)
—-
พฤติการณ์ในการกระทำความผิด
นายสมพงศ์ อรุณโรจน์ปัญญา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ มีประกาศจังหวัดบึงกาฬ เรื่อง ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (โรคระบาดในนาข้าว) ในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2554 และวันที่ 8 กรกฎาคม 2554 โดยประกาศแยกเป็นรายอำเภอ ทั้งที่มิได้เกิดโรคระบาด หรือเกิดความเสียหายรุนแรงจนเกษตรกรต้องการความช่วยเหลือ หรือมีภัยพิบัติฉุกเฉินจริง
วันที่ 19 กรกฎาคม 2554 นายสมพงศ์ แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดราคากลาง สารเคมีคาร์เบนดาซิม ประกอบด้วย นายอรรถนนท์ โนสุวรรณ ปลัดจังหวัดบึงกาฬ เป็นประธานกรรมการ นายเฉลิมพล เขตบุรี รักษาการเกษตรจังหวัดบึงกาฬ เป็นกรรมการ และนายปริญญา สายสุพรรณ์ รักษาการป้องกันจังหวัดบึงกาฬ เป็นกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการกำหนดราคากลางดังกล่าว กำหนดราคากลางที่ควรจัดซื้อผลิตภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช (คาร์เบนดาซิมหรือแมนโคเซน) 50% ระหว่าง 400-500 บาท/250 ซีซี หรือ 1,600-2,000 บาท/1,000 ซีซี ซึ่งมีนายสมพงศ์ เห็นชอบตามราคาที่เสนอ ทั้งที่ราคาดังกล่าวสูงเกินจริง
ต่อมาสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดบึงกาฬ มีบันทึกข้อความ ด่วนที่สุด ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2554 ถึงคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด เสนอความเห็นให้อำเภอที่เกิดสถานการณ์โรคระบาด เป็นหน่วยงานดำเนินการให้ความช่วยเหลือ จัดสรรวงเงินทดรองราชการในอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ จัดซื้อสารป้องกันเชื้อรา งบประมาณช่วยเหลือทั้งสิ้น 48,300,228 บาท ซึ่งนายสมพงศ์ เห็นชอบให้ดำเนินการ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2554
ระหว่างวันที่ 2 สิงหาคม 2554 ถึงวันที่ 5 สิงหาคม 2554 เสมียนตราอำเภอ จำนวน 7 อำเภอ ได้แก่นางเอื้อจิตร พิมพะนิตย์ เสมียนตราอำเภอศรีวิไล น.ส.สุชาดา หมื่นท้าว เสมียนตราอำเภอโซ่พิสัย นางพูนศรี ดวงปาโคตร เสมียนตราอำเภอปากคาด นางราตรี อึ้งตระกูล เสมียนตราอำเภอเซกา นางสุปราณี มิระสิงห์ เสมียนตราอำเภอเมืองบึงกาฬ และนายราเชนทร์ กมลคราม เสมียนตราอำเภอบึงโขงหลง ได้ขออนุมัติจัดซื้อสารเคมีคาร์เบนดาซิม 50% ราคา 856 บาท/500 ซีซี หรือ 1,712 บาท/1,000 ซีซี และมีการจัดทำเอกสารของผู้เสนอราคาและหลักฐานประกอบการขออนุมัติเบิกจ่ายเงินอันเป็นเท็จ เพื่อช่วยเหลือให้ผู้ขายได้ทำสัญญาซื้อสารเคมีคาร์เบนดาซิม 50% ราคา 856 บาท/500 ซีซี หรือ 1,712 บาท/1,000 ซีซี กับอำเภอต่าง ๆ ตามที่กำหนดราคาไว้
ในขั้นตอนการจัดซื้อสารเคมีคาร์เบนดาซิม 50% นั้น คณะกรรมการต่อรองราคาและตกลงราคาแต่ละอำเภอ จำนวน 7 อำเภอ ได้แก่
1.คณะกรรมการต่อรองราคา ตามคำสั่ง อ.ศรีวิไล ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2554 ประกอบด้วย นางจินตนา แสงทองอร่าม ปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ) เป็นประธานกรรมการ นายชาติชาย คีรีพันธ์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ เป็นกรรมการ และนายเติม เชื้อดวงผุย เจ้าพนักงานการเกษตรชำนาญงาน เป็นกรรมการ
2.คณะกรรมการต่อรองราคาและตกลงราคา ตามอำสั่งอำเภอโซ่พิสัย ลงวันที่ 3 สิงหาคม 2554 ประกอบด้วย นายธีระพล ขุนพานเพิง ปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ) เป็นประธานกรรมการ พันจ่าเอกฐิราเชษฐ เลื่อมใส ปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครองปฏิบัติการ) เป็นกรรมการ และนายวงศกร มองเพชร ปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครองปฏิบัติการ) เป็นกรรมการ
3.คณะกรรมการต่อรองราคา ตามคำสั่งอำเภอปากคาด ลงวันที่ 4 สิงหาคม 2554 ประกอบด้วย นายทฤษฎี วิเศษ ปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ) เป็นประธานกรรมการ นายสมศักดิ์ สาลี ปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ) เป็นกรรมการ และนายสุทิน คำเพชร ปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ) เป็นกรรมการ
4.คณะกรรมการต่อรองราคา ตามคำสั่งอำเภอเซกา ลงวันที่ 5 สิงหาคม 2554 ประกอบด้วย นายกิตติ อึ้งตระกูล ปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ) เป็นประธานกรรมการ พันจ่าเอกไพฑูรย์ สายสุวรรณ ปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ) เป็นกรรมการ และนางประเสริฐ วรสิงห์ เจ้าหน้าที่ปกครองชำนาญงาน เป็นกรรมการ
5.คณะกรรมการต่อรองราคา ตามคำสั่งอำเภอบุ่งคล้า ลงวันที่ 4 สิงหาคม 2554 ประกอบด้วย นายวิชิต มหัตกุล ปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ) เป็นประธานกรรมการ นายวัชรพล กมลวัชรพันธุ์ ปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครองปฏิบัติการ) เป็นกรรมการ และนายทาดร เดโชรัมย์ เจ้าพนักงานการเกษตรชำนาญการ เป็นกรรมการ
6.คณะกรรมการต่อรองราคา ตามคำสั่งอำเภอเมืองบึงกาฬ ลงวันที่ 4 สิงหาคม 2554 ประกอบด้วย นายสุรชัย สุริยะ ปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ) เป็นประธานกรรมการ นายภูมินทร์ ศรีโฉม ปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครองปฏิบัติการ) เป็นกรรมการ และนางสุวภรณ์ พลบุตร เจ้าหน้าที่ปกครองชำนาญการ เป็นกรรมการ
7.คณะกรรมการต่อรองราคาและตกลงราคา ตามคำสั่งอำเภอบึงโขงหลง ลงวันที่ 4 สิงหาคม 2554 ประกอบด้วย นายขจรศักดิ์ พรมเทศ ปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครองปฏิบัติการ) เป็นประธานกรรมการ นายราเชนทร์ กมลคราม เสมียนอำเภอบึงโขงหลง เป็นกรรมการ และนายอดิศักดิ์ คำสงค์ เจ้าพนักงานการเกษตรชำนาญการ เป็นกรรมการ
คณะกรรมการต่อรองราคาและตกลงราคาดังกล่าว ได้จัดทำบันทึกหลักฐานการต่อรองราคาและบันทึกยืนยัน/ต่อรองราคา เสนอนายอำเภอ โดยเห็นควรอนุมัติซื้อสารป้องกันเชื้อรา (คาร์เบนดาซิม) จากผู้เสนอราคา 856 บาท/500 ซีซี หรือ 1,712 บาท/1,000 ซีซี ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าความเป็นจริง โดยที่มิได้พบหรือต่อรองราคากับผู้เสนอราคารายใดแต่อย่างใด
สำหรับนายอำเภอ จำนวน 7 อำเภอ ได้แก่ นายกรณ์ เจนศุภวงศ์ นายอำเภอศรีวิไล นายนิวัฒน์ โฆสิตาภา นายอำเภอโซ่พิสัย นายโอภาส ชูฤทธิ์ นายอำเภอปากคาด นายสาธิต ทองศรี นายอำเภอเซกา นายเปรมศักดิ์ กีรานนท์ นายอำเภอบุ่งคล้า นายชัยวัฒน์ สารสมบัติ นายอำเภอเมืองบึงกาฬ และนายกรณ์ มาตย์นอก นายอำเภอบึงโขงหลง ในฐานะประธานคณะกรรมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยระดับอำเภอ
ทราบว่ามีการระบุพื้นที่ความเสียหาย โดยไม่มีการสำรวจให้ตรงกับข้อเท็จจริง และระบุราคาสารเคมีคาร์เบนดาซิม 50% ราคา 856 บาท/500 ซีซี หรือ 1,712 บาท/1,000 ซีซี ก่อนการกำหนดราคากลาง รวมทั้งราคาที่เจ้าหน้าที่พัสดุจัดซื้อสารเคมีคาร์เบนดาซิมดังกล่าว สูงกว่าความเป็นจริง มิใช่ราคาที่ซื้อขายในท้องตลาด อีกทั้งมิได้มีการเสนอราคากันจริง
ซึ่งนายอำเภอทั้ง 7 อำเภอ ในฐานะผู้บังคับบัญชามีหน้าที่พิจารณาอนุมัติการจัดซื้อสารเคมีคาร์เบนดาซิม ได้ละเว้นไม่ดำเนินการเพื่อให้มีการยกเลิกการดำเนินการเกี่ยวกับการเสนอราคา แต่กลับอนุมัติและลงนามในสัญญาซื้อขายสารเคมีคาร์เบนดาซิม
การกระทำดังกล่าวข้างต้น มี น.ส.นัติชดา สายทองคำ หุ้นส่วนผู้จัดการ หจก.นัติชดา นายศุภชัย ศุภสรรพตระกูล หุ้นส่วนผู้จัดการ หจก.โชติชนิด น.ส.เพ็ญวิไล ด้านคำมี หุ้นส่วนผู้จัดการ หจก.เมืองเลยเพิ่มทรัพย์รุ่งเรือง และ น.ส.ศิริพร อุดมทรัพย์ หุ้นส่วนผู้จัดการ หจก.รับทรัพย์รุ่งเรือง จ.กาฬสินธุ์ เป็นผู้สนับสนุน
โดยเหตุการณ์ทั้งหมด เกิดขึ้นระหว่างเดือนมิถุนายน 2554 ถึงสิงหาคม 2554 ที่จังหวัดบึงกาฬ
ฐานความผิด
กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542
สำหรับกรณีนี้ มีข้าราชการเกี่ยวข้องทั้งหมด 37 คน โดยมีข้าราชการระดับสูงอย่าง ผู้ว่าฯ-ปลัดจังหวัด รวมถึงนายอำเภอ และปลัดอำเภอหลายแห่ง ขณะที่มีเอกชนผู้เกี่ยวข้อง 4 แห่ง
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ เคยเกิดกรณีคล้าย ๆ กัน คือ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดการทุจริตสอบโรงเรียนนายอำเภอ เมื่อปี 2552 ส่งผลให้ อธิบดีกรมการปกครอง และข้าราชการจำนวนกว่า 119 คน ถูกลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรง ให้ไล่ออกจากราชการ
– See more at: http://www.bungkan.net/?p=3549#sthash.mqe5BrHH.dpuf
‘>