วันที่ 13 ก.ย. 58 เวลา 07.00 น. เป็นที่ทราบกันดีว่า การรับน้อง หรือ กิจกรรมต้อนรับนักเรียนหรือนักศึกษาใหม่ คือ กิจกรรมที่นิสิตรวมถึงนักศึกษาหรือนักเรียนรุ่นพี่ จัดขึ้นสำหรับ นักศึกษาใหม่ที่เข้ารับการศึกษา เพื่อทำให้นักศึกษาที่เข้าใหม่ได้ทำความรู้จักกับรุ่นพี่ของสถานศึกษานั้น และเรียนรู้วิธีการประพฤติปฏิบัติตัวในสังคมสถานศึกษา ในขณะเดียวกันก็มีปัญหาการประพฤติตัวที่ไม่เหมาะสมของรุ่นพี่ บางกลุ่มใช้ความเป็นรุ่นพี่ไม่ถูกทาง เช่นการที่รุ่นพี่สั่งไม่ชอบหน้ารุ่นน้อง โดยสั่งให้รุ่นน้องทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การสั่งให้วิ่งรอบสนาม การให้ผู้ชายสองคนจับอวัยวะเพศของกันและกัน หรือ การสั่งให้ถอดเสื้อผ้ากลางที่สาธารณชน เป็นต้น ถ้ารุ่นน้องไม่ปฏิบัติตามจะถูกรุ่นพี่ กล่าวหาว่าไม่เคารพเลยถือเป็นปัญหาเหตุผลที่ตามมา แทนที่รุ่นน้องจะได้รับการศึกษาและแนวทางปฏิบัติที่ดี กลับมีรุ่นน้องบางคนได้เรียนรู้วิธีการลงโทษและการแกล้งจากรุ่นพี่ นำกลับมาใช้ในการรับน้องของปีต่อไปแทน
มหาลัยราชภัฏอุดรธานี ศูนย์การศึกษาบึงกาฬ ได้เล็งเห็นข้อสำคัญและข้อบกพร่องในหลายๆด้าน จึงจัดประเพณี “พาน้องขึ้นภู เชิดชูราชภัฏ ฮักแพง แบ่งปัน” เพื่อปลูกฝังให้นักศึกษามีความรักและศรัทธาในสถาบัน เกิดความรักความสามัคคีในหมู่คณาจารย์และนักศึกษา สร้างจิตสำนึกรักและหวงแหนธรรมชาติ รวมถึงการบูรณาการแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติของท้องถิ่นให้เป็นแหล่งเรียนรู้
ดร.ธีระพล เพ็งจันทร์ ผู้ช่วยอธิการบดี มหาลัยราชภัฏอุดรธานี ศูนย์การศึกษาบึงกาฬ กล่าวว่า โครงการประเพณี “พาน้องขึ้นภู เชิดชูราชภัฏ ฮักแพง แบ่งปัน”จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักศึกษาเกิดความรัก ความภาคภูมิใจและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทานตราพระราชลัญจกร ประจำพระองค์เป็นตราประจำมหาวิทยาลัย การจัดกิจกรรมประเพณี “พาน้องขึ้นภู เชิดชูราชภัฏ ฮักแพง แบ่งปัน” ขึ้นปีนี้จัดขึ้นเป็นปีแรก โดยทุกคนจะร่วมกันเดินจากหน้าสำนักงานศูนย์จัดการกลุ่มป่าสงวนแห่งชาติ ที่ 154 ป่าดงดิบกะลา ป่าภูสิงห์ และป่าดงสีชมพู ขึ้นสู่บริเวณลานธรรมภูสิงห์ระยะทาง 1 กิโลเมตรที่มีความสูงชัน ไว้ทดสอบพลังจิตใจทั้งนักศึกษาน้องใหม่ นักศึกษารุ่นพี่ นักศึกษาเก่า รวมถึงคณาจารย์ และบุคลากรของมหาวิทยาลัย ที่จะร่วมกันเดินไปให้ถึง เปรียบเสมือนอุปสรรคที่จะร่วมกันผ่าฝันและแสดงออกถึงความสามัคคีและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันที่จะมุ่งไปให้ถึงจุดหมาย จากนั้นก็ร่วมกันทำบุญตักบาตร ถวายปิ่นโต พระสงฆ์ 9 รูปเพื่อความเป็นสิริมงคล ก่อนจะจัดพิธีบายศรีสู่ขวัญ ผูกข้อต่อแขนฮักแพงแบ่งปั่นระหว่างนักศึกษาน้องใหม่ นักศึกษารุ่นพี่ นักศึกษาเก่า คณาจารย์บุคลากรของมหาวิทยาลัย การรำบายศรีแบบพื้นบ้านอีสาน โดยมีปราชญ์ชาวบ้าน และบุคคลสำคัญในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ณ บริเวณลานธรรม ที่เป็นลานกว้างอยู่ด้านทิศเหนือของภูสิงห์ มีหินทรายแดงขนาดใหญ่มองดูคล้ายสิงโตหมอบอยู่ข้างลาน จึงเป็นที่มาของชื่อ “ภูสิงห์” และ มีพระพุทธรูป ”หลวงพ่อพระสิงห์” ประดิษฐานอยู่ เป็นสถานที่พระสงฆ์และฆราวาสใช้เป็นที่สวดมนต์ภาวนาและจัดกิจกรรมทางศาสนาประจำทุกปี
ซึ่งไม่เพียงเท่านี้ยังปิดท้ายด้วยกิจกรรมดีๆที่มีขึ้นในวันนี้ด้วยการปลูกป่า บริเวณจุดชมวิวปากกระดิ่งก่อนจะแบ่งนักศึกษาออกเป็นสองกลุ่มรับฟังขั้นตอนการฝายชะลอน้ำแบบผสมผสานให้สามารถกักตะกอนอยู่ได้ และหากเป็นช่องที่น้ำไหลแรงก็สามารถช่วยในการชะลอการไหลของน้ำให้ช้าลงด้วย เพื่อการกักเก็บตะกอนเอาไว้ไม่ให้ไปทับถมลำน้ำตอนล่าง อันเป็นเป็นวิธีการอนุรักษ์ดินและแหล่งน้ำ นอกจากนี้ยังนิยมสร้างฝายชะลอน้ำในพื้นที่ต้นน้ำที่แห้งและเสื่อมโทรม โดยมักจะสร้างในบริเวณร่องน้ำ เมื่อฝนตกฝายจะทำการชะลอน้ำไม่ให้ไหลเร็วจนเกินไป ทำให้ในบริเวณดังกล่าวมีความอุดมสมบูรณ์ ดินเกิดการอุ้มน้ำ ต้นไม้เจริญเติบโตได้ดียิ่งขึ้น พื้นที่มีความชุ่มชื้น อันจะส่งผลดีต่อบริเวณโดยรอบ ซึ่งสอดคล้องกับแนวพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เกี่ยวกับการพัฒนาและฟื้นฟูป่าไม้ ด้วยการใช้ทรัพยากรที่เอื้ออำนวย เกิดการสัมพันธ์ซึ่งกันและกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด ให้ทุกคนได้มีโอกาสร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการทำนุ บำรุงศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่นให้คงอยู่คู่กับวิถีชุมชน และธรรมชาติ ต่อด้วยพิธีโบกธงนักศึกษาพร้อมใจแสดงพลังสามัคคีจับมือกันร้องเพลง ประสานเสียงและกิจกรรม “บูม มหาวิทยาลัย”โดยทั่วหน้ากัน
‘>