วันนี้ 26 ต.ค.58 เวลา 19.00 น.ท่านสมสะหวาด เล่งสะหวัด รองนายกรัฐมนตรี สาธารณะรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พร้อมคณะ
ลงพื้นที่จังหวัดบึงกาฬและตรวจเยี่ยมจุดที่จะใช้ก่อสร้างสะพานไทยลาวแห่งที่ 5 บึงกาฬ – ปากซัน ที่บ้านดอนยม ตำบลไคสี อำเภอเมือง จังหวัดบึงกาฬ โดยจุดสร้างสะพานดังกล่าวอยู่ตรงข้ามกับ เมืองปากซัน แขวงบอริคำไซ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมีนายพงษ์ศักดิ์ ปรีชาวิทย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ พ่อค้าประชาชน ร่วมให้การต้อนรับ
นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า เนื่องจากจังหวัดบึงกาฬเป็นจังหวัดที่ 77ของประเทศไทยมีแนวชายแดนยาว 120 กม. มีการค้าขายระหว่างไทยลาวปีละ 5,000 กว่าล้านบาทถ้ามีการสร้างสะพานไทย – ลาว แห่งที่ 5 จะสามารถเชื่อมต่อการค้าขายไปถึงลาวและจีนโดยใช้เส้นทางหมายเลข 13 และ 8 สู่เวียดนามถ้าการสร้างสะพานแล้วเสร็จจะทำให้การขนส่งสินค้าสะดวกขึ้นจะทำให้เพิ่มมูลค่าการส่งออกกว่าหมื่นล้านบาทส่วนสินค้าที่เศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดบึงกาฬได้แก่ยางพาราซึ่งมีพื้นที่ปลูกกว่า 800,000 แสนไร่พื้นที่กรีดแล้ว 400,000 กว่าไร่ มูลค่าเกือบ 2,000 ล้านบาทต่อเดือน
ท่านสมสะหวาด รองนายก สปป.ลาว กล่าวว่า การก่อสร้างสะพานแห่งที่ 5 บึงกาฬ-ปากซัน การสร้างสะพานแห่งนี้มีความสำคัญและความจำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชาวไทยและชาว สปป.ลาว และเป็นการเชื่อมโยงระหว่างอาเซียนเข้าด้วยกัน เมื่อก่อนตอนที่ผมดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศนั้น เคยได้ปรึกษากับรัฐบาลไทยมานานแล้วเรื่องการก่อสร้างสะพานเชื่อมต่อลาวกับไทยว่าอยู่จุดไดระหว่างจุดบึงกาฬ-ปากซัน และจุดจังหวัดอุบลราชธานี-แขวงสาสะวัน และในจุดนี้ทางรัฐบาลของ สปป.ลาว ก็ได้เห็นชอบแผนการก่อสร้างตามแบบที่ทางรัฐบาลไทยจัดทำขึ้น และก็ได้ปรึกษาหารือกับรัฐบาลไทย และในวันนี้คณะกรรมมาธิการร่วมมือลาว ไทย ก็กำลังจัดประชุมอยู่ที่จังหวัดเชียงราย คาดว่าการก่อสร้างสะพานแห่งที่ 5 นี้จะอยู่ในหัวข้อหนึ่งของการประชุมในวันนี้ด้วย หวังว่าการก่อสร้างคงจะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ ส่วนตัวกระผมคิดว่าการก่อสร้างสะพานแห่งนี้หากแล้วเสร็จ ไม่เพียงแต่จะช่วยพัฒนาจังหวัดบึงกาฬเท่านั้น แต่ยังจะช่วยพัฒนาจังหวัดใกล้ๆเคียงอีกด้วย ยกตัวอย่าง การขนส่งสินค้าหากจะส่งสินค้าไปญี่ปุ่น ไปเกาหลีใต้ หรือไปจีน หากมาส่งผ่านสะพานแห่งนี้ และต่อไปยังเส้นทางหมายเลขที่ 8 ของลาวและออกไปยังท่าเรือของเวียดนาม ซึ่งทางเส้นนี้มีระยะทางประมาณ 350 กิโลเมตรเท่านั้น หากจะขนส่งจากบึงกาฬไปยังท่าเรือแหลมฉบังระยะทางกว่า 800 กิโลเมตรคงเป็นเรื่องลำบาก ในเมื่อรัฐบาลไทยอยากสร้างเศรษฐกิจพิเศษขึ้นอยู่ที่จังหวัดบึงกาฬคิดว่าสะพานแห่งนี้จะเป็นจุดหนึ่งที่จะดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา หากผมมีโอกาสได้พบกับผู้นำรัฐบาลไทยก็จะยกเรื่องนี้ขึ้นเสริมผลักดันให้ช่วยกันสร้างสะพานให้ได้โดยเร็ว เมื่อสร้างสะพานแห่งนี้สำเร็จทั้งสองฝ่ายลาวไทย ก็จะมีประโยชน์ร่วมกัน การไปมาหาสู่ระหว่างประชาชนของทั้งสองฝั่งก็จะสบายมากยิ่งขึ้น เพราะคนสองฝั่งลาวไทยไม่ใช่แค่เป็นบ้านใกล้เรือนเคียงธรรมดา แต่เป็นสายเลือดมาด้วยกัน เป็นพี่ เป็นน้องกัน รองนายกรัฐมนตรีกล่าว..
ข่าวสำนักงานประชาสัมพันธ์บึงกาฬ