ชาวสวนยางภาคอีสานไม่มีเงินจะผ่อนค่างวดรถ ปธ.เครือข่ายนครพนม ขู่เคลื่อนไหวใหญ่ร่วมกับอีกหลายจังหวัด ชี้ ยางก้นถ้วยเหลือ กก.ละ 12 บาท บางรายงดกรีด เลิกจ้างแรงงาน หนำซ้ำ อ.ส.ย.ยังปิดรับซื้อ ครวญ ถึงทางตันหนักสุดรอบ 10 ปี…
เมื่อวันที่ 12 ม.ค.59 นายวิชิต สมรฤทธิ์ อายุ 56 ปี เกษตรกรสวนยางพารา ชาว อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม ในฐานะประธานเครือข่ายยางพารา ภาคอีสาน ออกมาเปิดเผยว่า ตนดูแลในเรื่องของการขับเคลื่อน รวมถึงการตั้งวิสาหกิจชุมชน กลุ่มรับซื้อยางพารา เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งในพื้นที่ภาคอีสาน รวม 4 จังหวัด มี นครพนม มุกดาหาร สกลนคร และกาฬสินธุ์ มีเกษตรกรในเครือข่ายมากกว่า 2 แสนราย มีพื้นที่ปลูกมากกว่า 4 แสนไร่ ปัจจุบันกำลังประสบปัญหาเดือดร้อนหนักที่สุดในรอบ 10 ปี
ทั้งนี้ เฉพาะ จ.นครพนม มีพื้นที่ปลูกที่ขึ้นทะเบียนมากกว่า 1 แสนไร่ เปิดกรีดแล้วประมาณ 90,000 ไร่ มากสุดคือ อ.ศรีสงคราม มากกว่า 50,000 ไร่ รองลงมาคือ อ.นาแก ประมาณ 30,000 ไร่ ปกติทุกเดือนจะมีเงินหมุนเวียนสะพัด เดือนละไม่ต่ำกว่า 50 ล้าน แต่ทุกวันนี้เหลือเดือนละไม่กี่ล้าน
นายวิชิต กล่าวอีกว่า ปัจจุบันราคายางตกต่ำมาก ยางก้นถ้วยเหลือกิโลกรัมละ 12 บาท จากต้นทุนประมาณ 30 บาท ส่วนยางแผ่นเหลือราคากิโลกรัมละ 30 บาท จากราคาต้นทุน 60 บาท ทำให้บางรายต้องงดกรีด แต่บางรายยอมกรีดขายขาดทุน เพราะต้องการเงินหมุนเวียน สิ่งที่ตามมาคือ ทุกวันนี้โรงงานรับซื้อองค์การสวนยางปิดรับซื้อแล้ว เพราะสต็อกล้น ตลาดไม่มีที่ส่งออก ต้องอาศัยไปขายให้กับจุดรับซื้อเอกชน ทำให้ถูกกดราคา ที่สำคัญตอนนี้แรงงานกรีดยาง ที่เคยจ้างวันละหลายร้อยคน ถูกเลิกจ้าง เกิดการชะงักงันทุกด้าน ไม่มีเงินหมุนเวียน มีปัญหาภาระหนี้สิน เป็นหนี้ธนาคาร ค่างวดรถไม่มีผ่อนชำระ
“ล่าสุดได้มีการเรียกเครือข่ายสาวชวนยางมาประชุมหารือเพื่อแก้ปัญหา หากรัฐบาลยังไม่ออกมาแก้ปัญหาจริงจัง ภายในสัปดาห์นี้จะมีการเคลื่อนไหวร่วมกับหลายจังหวัดอย่างแน่นอน ฝากรัฐบาลหาทางแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน เพราะที่ผ่านมา เชื่อว่าปัญหามาจากรัฐบาลไม่มีความจริงใจในการแก้ไข” นายวิชิตกล่าว.’>