LINE : ติดต่อผู้ดูแล

ยินต้อนรับเว็บไซต์ข่าวสารเพจข่าวท้องถิ่นบึงกาฬ

วันเสาร์ที่ 2 พฤศจิกายน 2024
ข่าวเด่นบึงกาฬ

วิษณุเปิด’ยางบึงกาฬ’ จัด21-27ม.ค.-ชมแน่น ‘พินิจ’ชี้ระดับนานาชาติ

p0108220159p1

งานยาง – นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯเดินชมผลิตภัณฑ์ยางแปรรูป ระหว่างเป็นประธานเปิด “งานวันยางพาราและกาชาดบึงกาฬ 2559” มีนายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกฯ นายนิพนธ์ คนขยัน นายก อบจ.บึงกาฬและคณะให้การต้อนรับ บริเวณสนามหน้าที่ว่าการอำเภอเมือง บึงกาฬ เมื่อวันที่ 21 มกราคม

‘วิษณุ’ประธานเปิดวันยางบึงกาฬ แห่ชมคึกคัก ‘พินิจ’ชี้เป็นงานนานาชาติ หลายประเทศเข้าร่วม เน้นยกระดับแปรรูปยางพาราเพิ่มมูลค่าเพิ่ม เล็งตั้งโรงงานผลิตหมอน-ที่นอนส่งขายจีน

เมื่อเวลา 18.00 น. วันที่ 21 มกราคม ที่สนามหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองบึงกาฬ จัดพิธีเปิด “งานวันยางพาราและกาชาดบึงกาฬ 2559” โดยความร่วมมือของ จ.บึงกาฬ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) บึงกาฬ เหล่ากาชาดบึงกาฬ หอการค้าจังหวัดบึงกาฬ และองค์การหน่วยงานราชการ-เอกชน มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการเปิดงานเป็นไปอย่างคึกคัก มีนายบัณฑิต หลิมสกุล เลขาธิการกรอบความร่วมมือเอเชีย ACD นายจาง เหย็น ประธานคณะกรรมการบริหารจัดการโครงการรับเบอร์ วัลเล่ย์ บริษัท รับเบอร์ วัลเล่ย์ กรุ๊ป จำกัด, นางนพรัตน์ วิชิตชลชัย ผู้อำนวยการกลุ่มอุตสาหกรรมยาง สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร, นายอนุชิต วาณิชย์เสริมกุล Major Network Co.,Ltd ร่วมพิธีเปิดงาน รวมถึงตัวเเทนจากจังหวัดต่างๆ ตัวเเทนจากประเทศต่างๆ อาทิ สปป.ลาว จีน และมาเลเซีย เป็นต้น รูปเเบบการจัดงานจะเป็นระบบสองภาษาคือ ภาษาไทย เเละภาษาอังกฤษ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้มาเยือนจังหวัดบึงกาฬเป็นครั้งแรกในชีวิต ซึ่งเมื่อครั้งร่วมรัฐบาลร่วมกับคุณพินิจ จารุสมบัติ ได้ยินท่านกล่าวถึง อ.บึงกาฬทุกครั้งเมื่อมีการประชุม เผื่อจะผลักดัน ขับเคลื่อนให้บึงกาฬตั้งขึ้นเป็นจังหวัด พูดไม่หยุดจนกระทั่งมีคนพูดว่า ตั้งๆ ให้แกไปเถอะ จะได้หยุดพูด แต่คิดผิด จนถึงวันนี้คุณพินิจยังไม่เคยหยุดพูดเลย มีความตั้งใจจะทำให้จังหวัดพัฒนาขับเคลื่อนยิ่งขึ้นไปอีก รู้สึกภูมิใจกับชาวบึงกาฬเป็นอย่างยิ่ง ขอขอบพระคุณคณะกรรมการจัดงานและทุกฝ่าย ขอบคุณท่านพินิจ ที่ได้ร่วมกันผลักดันขับเคลื่อน และจัดให้มีงานวันยางพาราขึ้น

“แบบอย่างที่ชาวบึงกาฬกำลังทำอยู่นี้ ต้องใช้คำภาษาอังกฤษว่า ‘บึงกาฬโมเดล’ ที่จังหวัดอื่นๆ ควรมาเรียนรู้และเอาเป็นแบบอย่าง เพราะประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ส่งออกและผลิตยางพาราอันดับ 1 ของโลก ปัญหาเรื่องยางพาราที่เกิดในขณะนี้เป็นปัญหาชั่วคราว ไม่ใช่ปัญหาถาวร เราต้องสร้างโอกาสในวิกฤตขึ้นมาให้ได้ อย่าท้อแท้ อย่าท้อถอย อย่าทิ้งยางพาราไปทำอย่างอื่น เพราะในที่สุดยางพาราก็เป็นที่ต้องการของโลก ไม่อาจหาสิ่งใดมาทดแทน โลกต้องพึ่งพาผลิตภัณฑ์ที่มาจากยางพารา”นายวิษณุกล่าว

วิษณุ

เครื่องกรีดยาง – นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯเดินชมเครื่องกรีดยางอัตโนมัติ ระหว่างเป็นประธานเปิด “งานวันยางพาราและกาชาดบึงกาฬ 2559” มีนายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกฯ นายนิพนธ์ คนขยัน นายก อบจ.บึงกาฬ และคณะให้การต้อนรับ ที่สนามหน้าที่ว่าการอำเภอเมือง จ.บึงกาฬ เมื่อวันที่ 21 มกราคม

นายวิษณุกล่าวอีกว่า ยางพาราทำรายได้ให้ไทยปีละประมาณสี่แสนล้านบาท หนึ่งล้านห้าแสนคนทั่วประเทศที่ปลูกยาง รัฐตระหนักดีถึงตัวเลขเหล่านี้ และในช่วงนี้วิกฤตยางพาราตกต่ำ ทำไมถึงตกต่ำ สาเหตุสองอย่าง ไปผูกกันแบบแยกกันไม่ได้คือ ธรรมชาติ น้ำ ฝน ดิน อีกอย่างคือตลาดโลก พูดเรื่องความต้องการ เมื่อตลาดโลกกระทบเนื่องจากต้องการน้อยลง เมื่อผู้ซื้อลดลง ผู้ขายจะยืนหยัดอยู่ได้อย่างไร ก็ต้องเกิดเหตุเป็นธรรมดา แต่ความต้องการของผู้ซื้อไม่มีทางหมดไป หากเราไม่เตรียมการในวันนี้ เพื่อพัฒนาให้ยางของเรามีคุณภาพ เราก็อาจเสียโอกาสนั้นไปอย่างน่าเสียดาย วันนี้ราคายางตกต่ำ มีเสียงประชดประชันว่า กี่กิโลร้อยบาท แต่นั่นเป็นเหตุทางธรรมชาติและตลาดโลก แต่รัฐบาลมีหน้าที่แก้ไข สิ่งที่รัฐบาลจะทำท่านก็เห็นอยู่ สิ่งสำคัญคือ ปัญหาเฉพาะหน้าต้องให้เขาอยู่ได้ จากนั้นต้องคิดว่าทำอย่างไรให้เขาอยู่ได้ในอนาคต สามารถผลิตและแปรรูปอย่างไร เมื่อไม่สามารถพึ่งตลาดโลก จะทำอย่างไรให้สามารถซื้อขายกันในประเทศได้

“สำหรับหมอนยาง กรวยยาง ก็คืออีกทางหนึ่งของประเทศไทย ผมดีใจมาก มีคนมาเล่าให้ฟังว่าสหกรณ์ยางบึงกาฬได้ร่วมมือกับจีน คือ บริษัท รับเบอร์ วัลเล่ย์ ที่จะผลิตขายทั้งในและนอกประเทศ โอกาสนี้ ถ้าบึงกาฬจะรับเอาภาระการพัฒนาเรื่องยางพารามาทำก็น่าสนใจมาก ผมถามท่านรองผู้ว่าฯ ว่าสินค้าโอท็อปของบึงกาฬคืออะไร ท่านตอบว่า ข้าวเม่า ผ้าฝ้าย ไข่เค็ม ของเหล่านี้มันไม่อินเตอร์ จะเเข่ง กับที่อื่นก็ยาก ผมว่าเอาหมอนยางนี่แหละเป็นโอท็อปของบึงกาฬ ทำให้ดี ทำให้มีคุณภาพ จะให้ดีต้องแต่งเพลงให้ ผมตั้งชื่อเพลงให้เลยว่า หมอนยางพาราบึงกาฬ ร้องให้ดังกว่าเพลงกุหลาบปากซัน หรือเอาออกทีวีให้ดังกว่าละครที่ฉายอยู่ตอนนี้อย่างเรื่องปดิวรัดา และตามรักคืนใจ” นายวิษณุกล่าว

นายวิษณุกล่าวอีกว่า ในส่วนของภาคเอกชน เครือมติชนก็มีส่วนสำคัญทำให้งานวันนี้ออกมาดี ผมจะเอาเรื่องนี้ไปรายงานให้รัฐบาลทราบ เอาเรื่องเหล่านี้ทั้งหมดกลับไปรายงานรัฐบาล ถ้าพูดถึงยางเเล้วไม่พูดถึงงานกาชาดด้วยก็ดูจะขาดอะไรไปอย่างหนึ่ง เป็นเรื่องดีที่เอามารวมกัน เพราะงานกาชาดใครก็จัดทั้งนั้น เเต่งานวันยางพาราไม่มีใครจัด ถึงจัดก็คงไม่ยิ่งใหญ่เท่าบึงกาฬ ต้องขอบคุณที่หยิบมาผนวกเข้าด้วยกัน ทำให้ทุกอย่างมันเด่นชัดขึ้นมา ขอให้จัดงานเเบบนี้ต่อไป อยากให้คนอื่นได้มาเห็นว่าเรื่องยางพาราไม่ได้สักแต่ปลูกหรือกรีด มันต้องอาศัยความรู้ในเรื่องเทคโนโลยี ความรู้ในการเเปรรูป ความรู้ในเรื่องนวัตกรรม เครื่องมือ ช่วยกันคนละเล็กคนละน้อย ที่เรียกว่าประชารัฐคือแบบนี้ ประชาชนกับรัฐช่วยกัน เป็นพระเอกร่วมกัน

นายฐากูร บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เครือมติชนโชคดีที่ได้จัดงานยางพาราตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน ราคายางเปลี่ยน ใจคนที่นี่ไม่เปลี่ยน ใจดี ใจกว้างอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ปี 2558 จ.บึงกาฬมีรายได้รวมลำดับ 7 ของภาคอีสาน และรายได้เฉลี่ยต่อหัว ค่ามัธยฐานของ จ.บึงกาฬคือ อันดับ 1 ของภาคอีสาน ที่เราอยากเห็นคือ นอกจากมีค่ามัธยฐาน ความเหลื่อมล้ำน้อย รายได้ต่อหัวที่มาจากยางพารา การท่องเที่ยว การค้า การลงทุน สิ่งที่ควรจะเพิ่มขึ้นคือ การเป็นอันดับ 1 ของภาค และเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ ถ้าเครือมติชนจะสามารถมีส่วนทำให้ความฝันนี้เป็นจริง เราก็พร้อมที่จะทำทันที

ดะโต๊ะ นาซิเราะห์ ฮุสเซน เอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำประเทศไทย กล่าวว่า มาเลเซียเคยเป็นประเทศผู้ผลิตยางอันดับ 1 ของโลก เเต่ตอนนี้ถูกไทยเเซงไปแล้ว ปีนี้ถือว่าเป็นช่วงสำคัญของผู้ผลิตยางที่ราคายางพาราตกลง หลังจากนี้คงต้องร่วมมือไม่ให้ราคายางพาราลดต่ำลง เพราะยางพาราเป็นสินค้าที่มีความสำคัญในตลาดโลก

นายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีนและส่งเสริมความสัมพันธ์ กล่าวว่า งานปีนี้มุ่งเน้นสู่การยกระดับเกษตรกรด้วยการเเปรรูปยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์ โดยกลุ่มชุมชนสหกรณ์ผลักดันให้เกิดการตั้งโรงงานผลิตหมอน ผลิตที่นอนเเละสนามเด็กเล่นจากยางพารา เเละมีความร่วมมือจะผลักดันให้ผลิตกรวยจราจรแปดเหลี่ยมซึ่งทำจากยางพารา โดยจะเปิดตัวในงาน รวมถึงนวัตกรรมพิเศษคือเครื่องกรีดยางอัตโนมัติ มีชาวสวนยางหลายภูมิภาคอยากชม อยากรู้กลไกการทำงานของเครื่องกรีดยางซึ่งนำมาเปิดตัวที่บึงกาฬ ดังนั้นจุดเด่นของงานคือการพัฒนาสู่การแปรรูปและการยกระดับนวัตกรรม

“ชาวเกษตรกรสวนยางใน จ.บึงกาฬ ยกระดับสู่การเเปรรูป ซึ่งเกษตรกรในจังหวัดเริ่มพูดคุยในทุกภาคส่วน เพื่อปลุกระดมความคิดสู่การเเปรรูปที่เป็นทางออกของยางพาราที่สำคัญ งานนี้ประโยชน์ไม่ได้มีเเค่เกษตรกรใน จ.บึงกาฬ เท่านั้น เกษตรกรจากจังหวัดต่างๆ ที่เข้าร่วมก็จะได้รับประโยชน์ด้วย มีหลายจังหวัดเดินทางมาร่วม อาทิ จ.ตรัง, พังงา, กระบี่, นครศรีธรรมราช, สุราษฎร์ธานี, หนองคาย, สกลนคร และ จ.อุดรธานี เป็นต้น” นายพินิจกล่าวว่า และว่า งานวันยางพาราเป็นงานระดับนานาชาติ มีบริษัทเเละคณะจากจีน ลาว กัมพูชา เวียดนาม เเละมาเลเซียเข้าร่วม เเละมีเลขาธิการกรอบความร่วมมือเอเชีย ACD มาร่วมงานเป็นปีเเรกด้วย

นายชัยธวัช เนียมศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ รักษาการเเทนผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า งานวันยางพาราและกาชาดบึงกาฬจัดขึ้นเพื่อเสริมสร้างสนับสนุนผู้ผลิตยางพาราให้เกิดการเรียนรู้ เเลกเปลี่ยนนวัตกรรม เพื่อให้เกิดการพัฒนาเตรียมความพร้อมทุกภาคส่วน ซึ่งคาดหวังว่างานยางพาราและกาชาดบึงกาฬครั้งนี้จะทำให้ชาวเกษตรกรสามารถก้าวต่อไป เเละมีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือในอนาคต

นายนิพนธ์ คนขยัน นายก อบจ.บึงกาฬ กล่าวว่า งานวันยางพาราเเละกาชาดบึงกาฬปีนี้ถือว่าเป็นปีที่มีความพิเศษ คือได้รับเกียรติจากเพื่อนบ้านหลายประเทศมากขึ้น จัดงานยิ่งใหญ่ 7 วัน 7 คืน เป็นการยกระดับจากงานยางพาราทั่วไปให้ยิ่งใหญ่ขึ้น โดยเป็นการยกระดับเพิ่มในห้วงวิกฤตราคาตกต่ำ ต้องขอบคุณรัฐบาลที่ออกมาตรการเเก้ปัญหายางพาราในห้วงวิกฤต ซึ่งออกมาตรงกับงานวันยางพาราจังหวัดบึงกาฬพอดี

“พวกเราพร้อมที่จะรวมพลังในการเเก้ปัญหาด้วย ขอเพียงรัฐบาลสนับบสนุน สร้างผลิตภัณฑ์ทุกอย่างจากยางพาราเพื่อใช้ยางให้หมด ในส่วนของการเเก้ปัญหายางพารา เกษตรกร จ.บึงกาฬ รวมกลุ่มสหกรณ์เพื่อทำโรงงานทำหมอน ทำที่นอนเเละสนามกีฬาจากยางพารา เเละรัฐบาลมีมาตรการเเก้ปัญหาให้โรงพยาบาล หน่วยงานทหารใช้หมอน ใช้ที่นอนยางพารา เเละมีเเนวคิดทำถนนจากยางพารา นอกจากนี้ทุกภาคส่วนทุกกระทรวงจะนำยางพารามาใช้ ท้ายที่สุดจะเป็นการเเก้ปัญหาให้เกษตรกรอย่างมาก” นายนิพนธ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 17.30 น. มีการลงนามความร่วมมือ (MOU) 4 ฝ่าย ในการรับซื้อผลิตภัณฑ์แปรรูปยางพาราจากชุมชนสหกรณ์กองทุนสวนยาง จ.บึงกาฬ มีนายสมนึก เศษสมบูรณ์ ประธานชุมชนสหกรณ์กองทุนสวนยาง จ.บึงกาฬ, นายจาง เหย็น ประธานคณะกรรมการบริหารจัดการโครงการรับเบอร์ วัลเล่ย์ บริษัท รับเบอร์ วัลเล่ย์ กรุ๊ป จำกัด, นายจะกอ จะทอ ตัวเเทนบริษัท ไทยเบสท์ ลาเท็กซ์ จำกัด และนายซื่อซิง เเซ่ลี้ ตัวเเทนบริษัท ไทยปาร์ค สเน็คฟาร์ม จำกัด ร่วมลงนาม โดยทั้ง 3 บริษัทจะรับซื้อยางพาราจากบึงกาฬเพื่อผลิตหมอนเเละที่นอนยางพาราในล็อตเเรก บริษัทละ 20,000 ใบ โดยชุมชนสหกรณ์กองทุนสวนยาง จ.บึงกาฬ จะดำเนินการตั้งโรงงานผลิตหมอนเเละที่นอนส่งให้ทั้ง 3 บริษัทอย่างเป็นรูปธรรม

เวลา 14.00 น. ที่โซน “77 บึงกาฬ เมืองสร้างสรรค์” นางศศิธร ปรีชาวิทย์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดบึงกาฬ กรรมการเหล่ากาชาดจังหวัด พร้อมด้วย น.ส.ปานบัว บุนปาน รองกรรมการผู้จัดการสายการตลาด บมจ.มติชน ร่วมเปิดนิทรรศการ “ฝากไทย” ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งเเรกในภาคอีสานอย่างเป็นทางการ

นางศศิธรกล่าวว่า จากที่เดินชมงานนิทรรศการรู้สึกประทับใจเรื่องการออกเเบบที่ส่วนใหญ่เป็นธรรมชาติ ชอบการออกเเบบของ จ.บึงกาฬ มากที่สุด หลายอย่างสามารถนำไปทำเป็นของที่ระลึกของจังหวัดได้เลย

น.ส.ปานบัวกล่าวว่า นิทรรศการฝากไทยที่นำมาจัดแสดงในงานวันยางพาราและกาชาดบึงกาฬ นับเป็นครั้งแรกที่มีการสัญจรมาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากประประทับใจตั้งแต่ครั้งจัดที่กรุงเทพฯ จึงให้ทีมงานประสานไปที่ “ศูนย์บันดาลไทย” กระทรวงวัฒนธรรม เพื่อทำเรื่องขอยืมของมาใช้จัดแสดง ซึ่งก็ได้รับความอนุเคราะห์ด้วยดี สาเหตุที่เลือกมาให้ชาว จ.บึงกาฬ ได้ชมนิทรรศการ เพราะมองว่าเป็นจังหวัดน้องใหม่ และยุทธศาสตร์จังหวัดที่จะมุ่งไป ซึ่งนอกจากการเป็นศูนย์กลางยางพาราในภาคอีสานแล้ว ยังเป็นในเรื่องของการค้าและการท่องเที่ยวรับประชาคมอาเซียนด้วย

น.ส.ปานบัวกล่าวว่า เชื่อว่านิทรรศการฝากไทยจะมีประโยชน์กับทุกฝ่าย ทั้งผู้ประกอบการร้านค้า โรงแรมที่พัก หรือหน่วยงานราชการ จังหวัด อบจ. อบต. อยากให้ส่งคนมาดูงานนี้เพื่อไปพัฒนาเป็นสินค้าโอท็อปที่เพิ่มมูลค่าได้

เวลา 14.30 น. ที่เวทีเสวนาปราชญ์ชาวบ้าน จัดเสวนาหัวข้อ “สถานการณ์ราคายางในปัจจุบัน เกษตรกรจะอยู่รอดได้อย่างไร” โดย นายไกรสร นนทเกษม หัวหน้าสำนักผู้อำนวยการ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาเพื่อความอยู่รอดก็คือต้องเร่งลดต้นทุนการผลิตยาง อย่าปลูกยางเป็นพืชเชิงเดี่ยว ต้องกระจายความเสี่ยงปลูกพืชหลายชนิดในพื้นที่ เช่น ปลูกพืชเสริมพืชแซมในสวนยาง รวมทั้งเลี้ยงสัตว์เพื่อให้มีรายได้เข้ากระเป๋าหลายทาง โดยภาครัฐสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการลงทุนแก่เกษตรกรครัวเรือนละ 100,000 บาท ไม่เกิน 1 ล้านครัวเรือน ขณะนี้เกษตรกรแจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการยังไม่ครบจำนวนที่กำหนด ยังมีช่องว่างให้เกษตรกรที่สนใจอาชีพเสริมในครัวเรือนสามารถยื่นใบสมัครได้

เวลา 17.00 น. มีการเปิดงานกาชาดบึงกาฬอย่างเป็นทางการ มีของรางวัลที่นำมาให้ประชาชนได้ร่วมลุ้นรับโชคกว่า 6,000 รายการ โดยมีกิจกรรมการเเข่งขันกรีดยางพาราระดับ จ.บึงกาฬ กิจกรรมอบรมอาชีพเด่นเพื่อชาวบึงกาฬ การประกวดวงดนตรีลูกทุ่งบึงกาฬคอนเทสต์ 2016 ซึ่งมีประชาชนใน จ.บึงกาฬ เเละจังหวัดใกล้เคียงให้ความสนใจเข้าร่วมจำนวนมาก โดยงานวันยางพาราและกาชาดบึงกาฬ 2559 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-27 มกราคม จะมีเวทีกิจกรรมความรู้และความบันเทิงตลอดทั้ง 7 วันการจัดงาน

Logo‘>

ข่าวเด่นบึงกาฬ ล่าสุด

อัพเดทล่าสุด