LINE : ติดต่อผู้ดูแล

ยินต้อนรับเว็บไซต์ข่าวสารเพจข่าวท้องถิ่นบึงกาฬ

วันพุธที่ 27 พฤศจิกายน 2024
ข่าวเด่นบึงกาฬ

เปิดแผนพัฒนา’บึงกาฬ’ 4 งานใหญ่ กับอนาคตที่สดใสจังหวัดใหม่

 

ผู้ขียน โดย เชตวัน เตือประโคน
ที่มา มติชนรายวัน
เผยแพร่ 26/1/2016

pra02260159p3-e1453784653371

แม้จะเป็นจังหวัดน้องใหม่ท้ายสุดของประเทศไทย มีพระราชบัญญัติจัดตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ.2554 แต่หากมองให้ลึกลงไปแล้ว จะเห็นได้ว่าจังหวัดเล็กๆ ชายแดนไทย-สปป.ลาว ซึ่งเป็นจังหวัดที่ 77 แห่งนี้ มีศักยภาพในการเติบโตอย่างสูงยิ่ง

ไม่ว่าจะตำแหน่งที่ตั้ง ซึ่งมีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งวันนี้เมื่อการเกิดขึ้นของ “ประชาคมอาเซียน” ย่อมได้เปรียบพื้นที่อื่นๆ

ลักษณะภูมิประเทศ ซึ่งมีที่ราบแบบคลื่นลอนลาด สลับกับป่าเขาธรรมชาติที่ภูเขามีความสูงชัน ทำให้นอกจากภาคการเกษตรกรรมอย่างปลูกพืชไร่พืชสวนจะกลายเป็นเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดแล้ว การท่องเที่ยว โดยเฉพาะธรรมชาติที่งดงาม จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับจังหวัดแห่งนี้ได้อีกมาก

สภาพภูมิอากาศ แม้จะจัดอยู่แถบร้อนและแห้งแล้งเช่นหลายๆ จังหวัดในภาคอีสาน หากแต่ในฤดูหนาว อากาศของที่นี่จะหนาวเย็น เหมาะแก่การเดินทางมาท่องเที่ยวสัมผัสหมอกขาวและลมหนาวเป็นอย่างยิ่ง

เมื่อผนวกรวมกับ “แนวทางการพัฒนาจังหวัดบึงกาฬในอนาคต” ตามแผนพัฒนาจังหวัด 4 ปี (พ.ศ.2557-2560) หากเป็นไปตามเป้า จ.บึงกาฬ จะพัฒนาอย่างก้าวกระโดด จนเป็นที่จับจ้องของคนทั้งประเทศ

รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน และชาวต่างชาติที่เห็นศักยภาพของจังหวัดแห่งนี้

 

สะพานแม่น้ำโขงแห่งที่ 5

ลดการเดินทางเชื่อมอาเซียน-จีน

เกิดขึ้นแล้วสำหรับ “ประชาคมอาเซียน” แน่นอนว่าจังหวัดที่มีพรมแดนติดประเทศเพื่อนบ้านย่อมเปรียบเสมือนประตูไป-มาหาสู่กัน
และนั่นหมายถึงโอกาสต่างๆ ในการพัฒนาจังหวัด

สำหรับ จ.บึงกาฬ โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 5 บึงกาฬ-ปากซัน ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินการศึกษาความเหมาะสม และผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ของโครงการวงเงิน 54 ล้านบาท

เส้นทางสายนี้จะช่วยในเรื่องการคมนาคมขนส่งเชื่อมโยงระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นการอำนวยความสะดวกด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่าง จ.บึงกาฬ ไปยังแขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว และต่อเนื่องไปยังประเทศเวียดนามและจีนตอนใต้

แนวการก่อสร้าง จะใช้เส้นทางหมายเลข 8 แยกจากเส้นทางหมายเลข 13 เชื่อมต่อจากไทยเข้าสู่ สปป.ลาว ที่บ้านเวียง เมืองปากกระดิ่ง แขวงบอลิคำไซ ผ่านหลักซาว ไปทางตะวันออกของ สปป.ลาว สู่เวียดนาม และเชื่อมกับเส้นทางหมายเลข 1 ของเวียดนามที่มุ่งหน้าสู่เมืองวิห์ ถึงท่าเรือหวุ่งอ่าง เมืองฮาติน์ รวมระยะทางประมาณ 315 กิโลเมตร

pra02260159p2
วัดอาฮงศิลาวาส

ในการก่อสร้างสะพานแห่งที่ 5 นี้ วงเงินประมาณ 3,400 บาท ซึ่งเมื่อสำเร็จลงจะเป็นเส้นทางสายเศรษฐกิจที่เชื่อมภูมิภาคอาเซียนกับจีนได้เป็นอย่างดี

 

ท่าอากาศยานบึงกาฬ

บินตรงจากเมืองหลวง

เกือบ 10 ชั่วโมง สำหรับการเดินทางจากกรุงเทพฯไป จ.บึงกาฬ นับเป็นระยะเวลาที่ค่อนข้างยาวนานพอสมควร ยังไม่นับสิ่งที่สูญเสียไปจากการเดินทางในแต่ละครั้ง ไม่ว่าเรื่องเวลาหรืออุบัติเหตุความเสียหาย

วิถีชาวประมงในจังหวัดบึงกาฬ – พัฒนาโครงข่ายทางหลวง
หากแต่อีกไม่นาน จ.บึงกาฬ กำลังจะมีโครงการก่อสร้าง “ท่าอากาศยานบึงกาฬ” ซึ่งขณะนี้ได้ทำการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้น จนได้ข้อสรุปแล้วว่า

สถานที่ดำเนินการก่อสร้างสนามบินตั้งอยู่ที่บ้านดอนปอ ต.หนองแข็ง อ.เมือง ระยะห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 25 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 212 ตอนหนองคาย-บึงกาฬ

ซึ่งในขณะนี้ กรมการบินพลเรือนได้แต่งตั้งผู้แทนเข้าร่วมคณะทำงานโครงการศึกษาความเหมาสมในการก่อสร้างท่าอากาศยานบึงกาฬเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ในอนาคตเมื่อเกิดขึ้น นอกจากจะช่วยย่นระยะเวลาในการเดินทางแล้ว เมืองเล็กๆ ชายแดนไทย-สปป.ลาว แห่งนี้จะต้องต้อนรับผู้มาเยือนไม่ขาดสาย

 

พัฒนาโครงข่ายทางหลวง

เชื่อมโยงอาเซียน

โครงข่ายทางหลวงยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญสำหรับการไปมาหาสู่ ซึ่งแม้จะมีสนามบินเกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตามยังไม่ไปถึงเมืองหนึ่งเชื่อมอีกเมืองหนึ่ง

การพัฒนาโครงข่ายทางหลวงจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

pra02260159p1
ภูทอก

ดังนั้น “โครงการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงอาเซียน (บึงกาฬ-หนองคาย)” จึงนับเป็นนิมิตหมายที่ดี โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การสัญจรรวมถึงการขนส่งสินค้าที่ต้องผ่านสายบึงกาฬ-หนองคาย ซึ่งเป็นทางหลักที่จะมุ่งหน้าสู่กรุงเทพมหานครนั้น ส่วนใหญ่เป็นถนน 2 ช่องจราจร ทำให้ไม่สะดวกปลอดภัย โดยเฉพาะในเรื่องการขนส่งสินค้า จึงจำเป็นต้องขยายช่องจราจรจาก 2 ข่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร

การพัฒนาโครงข่ายทางหลวงนี้ จะช่วยให้การขนส่งสะดวกรวดเร็ว และมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

 

เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ

หมุดหมายนักลงทุน

ถึงวันนี้ คงไม่มีใครไม่เคยได้ยินคำว่า “เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ”

นี่คือพื้นที่ซึ่งจัดตั้งขึ้นเป็นการเฉพาะตามกฎหมาย เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมสนับสนุน และอำนวยความสะดวก รวมทั้งให้สิทธิพิเศษบางประการในการดำเนินกิจการต่างๆ เช่น การอุตสาหกรรม การพาณิชยกรรม การบริการ หรือกิจการอื่นใดที่เป็นประโยชน์แก่การเศรษฐกิจของประเทศ

จ.บึงกาฬ เองก็เป็นหนึ่งในพื้นที่ซึ่งเข้าข่ายและเตรียมผลักดันไปสู่การเกิดขึ้นของรูปการณ์นี้

โดยคณะกรรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดบึงกาฬ และคณะทำงานเตรียมความพร้อมในการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ มีมติเห็นชอบเสนอพื้นที่ 2 แปลง คือ 1.บริเวณบ้านโนนสว่าง ต.โนนสว่าง อ.เมืองบึงกาฬ พื้นที่ขนาด 1,707.75 ไร่ และ 2.บริเวณบ้านห้วยดอกไม้ ต.วิศิษฐ์ อ.เมืองบึงกาฬ พื้นที่ขนาด 989.46 ไร่

เตรียมรองรับการเกิดขึ้นของ “เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ” ที่จะกลายเป็นหมุดหมายของนักลงทุน ตลอดจนสร้างเงินสร้างงานให้กับคนพื้นที่ต่อไปในอนาคต

นี่คือแผนพัฒนา กับ 4 งานใหญ่ของจังหวัดบึงกาฬ จังหวัดน้องใหม่ที่อนาคตสดใสเป็นอย่างยิ่ง

http://www.matichon.co.th/news/13757

‘>

ข่าวเด่นบึงกาฬ ล่าสุด

อัพเดทล่าสุด