เมื่อวันที่ 27 มกราคม ผู้สื่อข่าวรานว่า เวลา 20.00 น. บรรยากาศในงานวันยางพาราและกาชาดจังหวัดบึงกาฬ2559 มีการประกวดวงดนตรีลูกทุ่ง “บึงกาฬคอนเทสต์” ซึ่งเป็นการแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ มี 5 ทีมจาก 5 อำเภอที่ผ่านเข้ารอบร่วมแข่งขัน ได้แก่ โรงเรียนบึงกาฬ อ.เมือง, โรงเรียนโซ่พิสัยพิทยาคม อ.โซ่พิสัย, โรงเรียนพรเจริญวิทยา อ.พรเจริญ, โรงเรียนบุ่งคล้านคร อ.บุ่งคล้า และโรงเรียนศรีวิไลวิทยา อ.ศรีวิไล โดยมีกรรมการตัดสินเป็นนักวิจารณ์ระดับประเทศจากรายการชิงช้าสวรรค์ อาทิ ครูสลา คุณวุฒิ นักแต่งเพลงชื่อดัง ครูเทียม ชุติเดช ทองอยู่ และครูเรืองยศ พิมพ์ทอง
สำหรับโรงเรียนที่ชนะการประกวดคือ ร.ร.บึงกาฬ จาก อ.เมืองบึงกาฬ จ.บึงกาฬ ได้รับรางวัลชนะเลิศ พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ1 เป็นของโรงเรียนศรีวิไลวิทยา ได้รับเงินรางวัล 40,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2เป็นของโรงโซ่พิสัยพิทยาคมพร้อมเงินรางวัล 30,000 บาท และรางวัลชมเชย 2รางวัลได้แก่ โรงเรียนพรเจริญวิทยา และโรงเรียนบุ่งคล้านคร รับเงินรางวัลทีมละ 20,000 บาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศในการแข่งขันเป็นไปอย่างสนุกสนาน แต่ละโรงเรียนต่างเตรียมตัวมาเป็นอย่างดีหลังจากที่มีประสบการณ์ขึ้นเวทีมาแล้วในรอบแรก ด้านกรรมการเองก็ได้ให้ความรู้และเทคนิคการร้องเพลงและสร้างเสียงหัวเราะอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ประชาชนเป็นจำนวนมากร่วมชมและเชียร์เยาวชนของจังหวัดบึงกาฬอย่างเนืองแน่น ก่อนจบการแข่งขันในเวลา02.00น. ปิดท้ายงานวันยางพาราและกาชาดบึงกาฬ 2559 อย่างยิ่งใหญ่
โดยน.ส. นฤมล สมหมั่น นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียงบึงกาฬ กล่าวว่า รู้สึกยินดีและตื่นเต้นมากที่โรงเรียนได้รับรางวัล โดยทีมงานได้ฝึกซ้อมมาอย่างเต็มที่ ขอขอบคุณ เพื่อนที่สามัคคีกัน และคุณครูที่ช่วยสนับสนุนการฝึกซ้อมทุกประการ จนโรงเรียนประสบความสำเร็จ สำหรับเวทีนี้ก็ถือเป็นประสบการณ์สำคัญ ที่ช่วยให้เด็กๆได้มีเวทีแสดงออก สำหรับคำแนะนำของกรรมการ ก็จะนำไปปรับใช้ในการแสดงของโรงเรียนให้ครั้งต่อไปดีขึ้น ทั้งนี้ การที่จังหวัดจัดเวทีนี้ขึ้น ถือเป็นเรื่องที่ดีมากสำหรับเยาวชน ที่ได้มาร่วมสนุก และได้ประสบการณ์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการประกวดวงดนตรีลูกทุ่งบึงกาฬคอนเทสต์ในรอบชิงชนะเลิศ ทางคณะจัดงานได้กรรมการซึ่งเป็นครูเพลงชื่อดังระดับประเทศมาร่วมตัดสินด้วย3คนคือ ครูสลา คุณวุฒิ ครูเทียม ชุติเดช ทองอยู่ และครูเรืองยศ พิมพ์ทอง
โดยครูสลา กล่าวว่า พอทราบข่าวงานนี้ก็รู้สึกยินดีมาก การจัดเวทีประกวดวงดนตรีลูกทุ่ง อย่างน้อยที่สุดเป็นการจุดประกายให้กับเด็ก และทำให้คนทั้งประเทศที่ทราบข่าวได้หันมามองจังหวัดบึงกาฬ ซึ่งแม้จะเป็นจังหวัดเพิ่งเกิดใหม่ แต่ว่าผู้บริหารมีวิสัยทัศน์ไกลมาก ซึ่งในเรื่องของความสามารถด้านเพลงลูกทุ่งตอนนี้ เด็กต่างจังหวัดและกรุงเทพฯแทบจะไม่ต่างกันแล้ว หากจะมีปัญหาบ้างก็แค่เรื่องเครื่องมือและเวทีการแสดงออก ตนพบเจอมาเยอะแล้วว่า ถ้ามีเวทีให้เขา เราจะได้พบเจอช้างเผือกเสมอ อยากให้มีเวทีแบบนี้ทุกชุมชน อย่างงานนี้จะทำให้เด็กมีทิศทางมากขึ้น
ด้านครูเทียม กล่าวว่า รู้สึกยินดีมากที่มีการประกวดวงดนตรีลูกทุ่งจัดขึ้นในต่างจังหวัด โดยเฉพาะที่จังหวัดบึงกาฬ ซึ่งถือว่าอยู่ไกลมาก แต่สามารถจัดงานที่มีมาตรฐานระดับประเทศได้ ตนเองที่ได้รับการเชิญมาร่วมตัดสินในครั้งนี้ก็รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ก็อยากเห็นการเอาศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นของภาคอีสานมาอยู่ในการแสดงของเยาวชน ไม่จำเป็นต้องเป็นการแสดงแบบวงดนตรีลูกทุ่งในกรุงเทพฯก็ได้ ยอมรับว่าการประกวดวงดนตรีลูกทุ่งทั่วประเทศลดลงเยอะมาก เพราะเศรษฐกิจไม่ดี ต้องชื่นชมจังหวัดบึงกาฬและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่จัดงานนี้ขึ้นมาได้ เพราะจะช่วยเป็นการสืบสานเพลงลูกทุ่งให้มีลมหายใจต่อไป มีการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาไปได้เรื่อยๆ’>