ที่ ห้องประชุมเดอะวันคอนเวนชันฮอลล์ โรงแรมเดอะวัน อ.เมืองบึงกาฬ จ.บึงกาฬ กรมทางหลวง จัดการประชุมการศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น โครงการก่อสร้างโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงจังหวัดอุดรธานี – บึงกาฬ เพื่อชี้แจงรายละเอียด ความเป็นมา วัตถุประสงค์ และพื้นที่ศึกษาโครงการ รวมถึงเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ โดยมีประชาชนผู้เข้าร่วมรับฟัง และแสดงความคิดเห็นกว่า 100 คน ภายใต้มาตรการป้องกันโรคโควิด-19
นายณัฐพงษ์ ตรีวัชตรานนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานทางหลวงที่ 3 สกลนคร กล่าวว่า โครงการดังกล่าว ขณะนี้มีวัตถุประสงค์ ในการศึกษา คัดเลือกรูปแบบการพัฒนาแนวเส้นทางที่เหมาะสมด้านวิศวกรรม ศึกษา รวบรวม วิเคราะห์สภาพแวดล้อมปัจจุบัน และดำเนินการประเมินผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเนื่องจากการพัฒนาโครงการ พร้อมทั้งนำเสนอมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาตรการป้องกัน แก้ไขผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น มาตรการส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม มาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมทั้งแผนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญคือ เพื่อส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาโครงการ
โดยกรมทางหลวง ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), บริษัท พีเอสเค คอนซัลแตนท์ จำกัด, บริษัท ดีเคด คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท ธรรมชาติ คอนซัลแตนท์ จำกัด ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น โครงการก่อสร้างโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงอุดรธานี-บึงกาฬ
สำหรับประโยชน์ที่จะได้รับ หากโครงการดังกล่าวเกิดขึ้น ก็จะสามารถช่วยให้การเดินทางและการขนส่งมีความสะดวกรวดเร็วขึ้น เพราะจากเดิมที่การเดินทางไปมาระหว่างจังหวัดบึงกาฬ และจังหวัดอุดรธานี ต้องผ่านจังหวัดหนองคายก่อน โดยหากเส้นทางดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ก็จะมีความสะดวกรวดเร็วขึ้น และจะช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัดในเขตเมือง เนื่องจากปริมาณการจราจรที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตหลังการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) รวมถึงเส้นทางดังกล่าว ยังจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาด้านเศรษฐกิจในพื้นที่โครงการ และภูมิภาคในด้านโลจิสติกส์ การบริการ การค้า และการท่องเที่ยว ซึ่งจะส่งผลถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ โครงการดังกล่าว ยังอยู่ในขั้นของการศึกษา และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยมีพื้นที่ศึกษาที่จะกำหนดแนวเส้นทางอยู่ในขอบเขตการปกครอง 30 อำเภอ 174 ตำบล ในจังหวัดอุดรธานี, สกลนคร, หนองคาย และบึงกาฬ
‘>