ชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬแจงดำเนินงานแปรรูปยางพาราจาก 5 โรงงานได้ไม่ถึง 10% หลังติดปัญหาไม่มีไฟฟ้าและน้ำใช้ในกระบวนการผลิต ชี้ติดขัดระบบราชการและกระบวนการหลายอย่าง ร้องขอความช่วยเหลือจาก “พินิจ จารุสมบัติ” อดีตรองนายกรัฐมนตรี คาดภายใน 2 สัปดาห์ส่งเรื่องถึงรัฐบาล
นายเกษตร สิทธิไกรพงษ์ ที่ปรึกษาชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ เปิดเผยว่า ในปี 2560 ชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ ได้ระดมทุนเพื่อก่อสร้างโรงงานเพื่อแปรรูปยางพาราให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตของเกษตรกร และทางรัฐบาลอนุมัติงบประมาณงบฯกลุ่มจังหวัดอีสานตอนบนกว่า 193 ล้านบาท มาสร้างเป็น 5 โรงงาน ได้แก่ โรงงานผลิตน้ำยางข้น โรงงานผลิตที่นอนยางพารา โรงงานผลิตหมอนยางพารา โรงงานยางแผ่นรมควัน และที่กำลังก่อสร้างฐานรากคือ โรงงานยางรมควันอัดก้อน แต่เมื่อโรงงานเสร็จก็เกิดปัญหาไม่สามารถรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรได้ เนื่องจากการจัดซื้อจัดจ้างหรือระบบการทำงานยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์
“ถึงแม้ว่าทางชุมนุมสหกรณ์จะได้รับอนุญาตให้เข้าพื้นที่ไปดำเนินการผลิตได้ ตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งในเอกสารเสนอโครงการระบุว่า สถานที่ดำเนินการคือที่ดินของชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ แต่สร้างโดยงบประมาณของทางรัฐบาล ทางชุมนุมสหกรณ์จึงไม่มีอำนาจในการเข้าไปบริหารจัดการเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง หรือไปเร่งรัดระบบต่าง ๆ ที่ยังไม่เสร็จสิ้น เพราะหน่วยงานราชการเป็นคนรับผิดชอบในเรื่องนี้ ทางชุมนุมสหกรณ์ทำได้เพียงขอรับเงินอุดหนุนไปที่การยางแห่งประเทศไทย หากได้รับงบฯมาจะสามารถดำเนินการเดินเครื่องจักรโรงงานได้ภายใน 2-3 เดือน”
นายชูศักดิ์ สุทธศรี ผู้จัดการโรงงานฝ่ายผลิตหมอนและที่นอน ชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ เปิดเผยว่า ถึง 5 โรงงานเสร็จแล้ว แต่ยังไม่สมบูรณ์ ไม่มีน้ำ ไม่มีไฟฟ้า ส่วนที่สามารถผลิตหมอนหรือที่นอนจากน้ำยางข้นและทำการแปรรูปได้ในปัจจุบันใช้รถน้ำและซื้อน้ำจากเทศบาลมาปล่อยใส่ระบบ ไฟฟ้าก็พ่วงจากโรงงานเก่าไป รวมแล้วผลิตได้ไม่ถึง 10% จึงได้ทำหนังสือถึงอดีตรองนายกรัฐมนตรี ขอให้ช่วยเร่งกระบวนการต่าง ๆ ให้สมบูรณ์โดยเร็ว นอกจากนี้ ยังรวมเรื่องภาษี เรื่องค่าเช่าที่ดิน เป็นต้น หลักสำคัญคือระบบราชการที่มีอำนาจในการสั่งการ
ด้านนายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษาฝ่ายการตลาดชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า สำหรับโครงการนี้เป็นการนำน้ำยางข้นไปแปรรุูปเป็นผลิตภัณฑ์ หมอน ที่นอน และอื่น ๆ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตมากถึง 3 เท่า นอกจากจังหวัดบึงกาฬแล้ว เกษตรกรจากจังหวัดใกล้เคียงก็จะได้รับประโยชน์ไปด้วย อยากให้รัฐบาลผลักดันและรับโครงการเหล่านี้ไปพัฒนาต่อไป โดยมองว่าการแปรรูปสินค้าการเกษตรเป็นหัวใจสำคัญในการแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร และการพัฒนาประเทศ
“จังหวัดบึงกาฬเป็นเมืองหลวงของยางพาราในภาคอีสาน ชาวสวนยางยังกรีดยางได้ ขายยางได้ ช่องทางจำหน่ายก็ไม่มีปัญหา มีเงินหมุนเวียน แต่ทำอย่างไรที่จะให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จ นี่คือจุดประสงค์สำคัญ และการติดขัดในระบบราชการเป็นเรื่องที่เราจะต้องแก้ปัญหาให้ทุกอย่างดำเนินต่อไปได้ ผมจะประมวลเรื่องเหล่านี้ที่ชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ ขอมาเสนอไปยังผู้นำรัฐบาล ทั้งคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ รองนายกรัฐมนตรี และท่านผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ให้ได้รับทราบข้อเท็จจริงทั้งหมด อาจจะใช้เวลาภายใน 2 สัปดาห์”