นายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีนและส่งเสริมความสัมพันธ์ ในฐานะที่ปรึกษาด้านการตลาดของชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ
พินิจ นำทีมชุมนุมสหกรณ์สวนยางบึงกาฬชี้แจงสื่อ ถึงปัญหาความล่าช้าในการก่อสร้างโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา มูลค่ากว่า 193 ล้านบาท ว่าเกิดจากความบกพร่องของระบบราชการ ไม่ใช่ประเด็นปัญหาทุจริต
วันที่ 11 ก.ย. 2563 นายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีนและส่งเสริมความสัมพันธ์ นำทีมคณะกรรมการชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ จำกัด ประกอบด้วย นายแน่น จำปาศรี ประธานชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ จำกัด นายเกษตร สิทธิไกรพงษ์ ที่ปรึกษา และนายชูศักดิ์ สุทธิศรี ผู้จัดการโรงงานแปรรูปหมอนและที่นอนยางพารา รวมทั้งนายนิพนธ์ คนขยัน นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ (อบจ.บึงกาฬ) ตั้งโต๊ะแถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาความล่าช้าในการก่อสร้างโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา ของจังหวัดบึงกาฬ
คณะกรรมการชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ จำกัด ร่วมกันให้ข้อมูลว่า ชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยาง จังหวัดบึงกาฬ จำกัด ถูกจัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบริหารจัดการเกี่ยวกับยางพาราให้เกิดประสิทธิภาพทุกมิติ ที่ผ่านมา เกษตรกรขายยางก้อนถ้วยในราคาต่ำ เพราะไม่มีการวัดค่าเปอร์เซ็นเนื้อยางแห้งหรือค่า DRC (Dry Rubber Content) แบบเป็นวิทยาศาสตร์จากพ่อค้าผู้รับซื้อยาง จึงส่งเสริมให้สมาชิกชุมนุมฯ ปรับเปลี่ยนจากขายยางก้อนถ้วยมาเป็นน้ำยางสด เพื่อให้เกษตรกรสามารถขายยางตามคุณภาพเปอร์เซ็นต์เนื้อยางแห้ง ที่วัดตามค่าวิทยาศาสตร์
ขณะเดียวกัน ทางชุมนุมสหกรณ์ฯ ต้องการส่งเสริมการแปรรูปสร้างเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในรูปแบบต่างๆ โดยใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบในการผลิต ปี 2559 ชุมนุมสหกรณ์ได้ระดมทุน และกู้ยืมเงินเพื่อก่อสร้างโรงงานผลิตหมอนยางพาราแห่งแรก ที่เป็นของชุมนุมสหกรณ์ฯ โดยมีกำลังการผลิต 250- 500 ใบต่อวัน ต่อมาทางชุมนุมสหกรณ์ได้ขอกู้เงินกองทุน เพื่อแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มยางพารา ตามนโยบายรัฐบาล ในขณะนั้น โดยมุ่งสร้างโรงานผลิตน้ำยางข้น ซึ่งเป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับใช้ในกระบวนการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางรูแบบต่างๆ แล้ว ยังมีผลต่อการยกระดับราคายางพารา รวมทั้งการขายผลผลิตต่อเกษตรกรทันทีหากเปิดดำเนินการได้
สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดบึงกาฬ รวมทั้งหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ต่างให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ รัฐบาลเล็งเห็น ปัญหาความเดือนร้อนของเกษตรกรชาวสวนยาง จึงอนุมัติงบประมาณกลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนบน 193 ล้านบาท สำหรับก่อสร้างโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา 5 แห่ง ได้แก่ โรงงานแปรรูปหมอนยาง ที่นอนยางพารา โรงงานผลิตน้ำยางข้น โรงงานผลิตยางแผ่นดิบ โรงงานผลิตยางแผ่นรมควัน และโรงงานผลิตยางลูกขุน บนที่ดินของชุมนุมสหกรณ์ฯ ในพื้นที่ตำบลท่าสะอาด อำเภอเซกา
การก่อสร้างโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา ที่ก่อสร้างขึ้นใหม่โดยใช้งบประมาณของรัฐบาลนั้น ประเด็นเรื่องการจัดซื้อ จัดจ้าง กำกับ ควบคุมและดูแล เป็นอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดบึงกาฬ ส่วนชุมนุมสหกรณ์ไม่ได้มีอำนาจ และส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินการก่อสร้างโรงงานแต่อย่างใด
ปัจจุบัน มีเพียงโรงงานผลิตยางแผ่นดิบ แห่งเดียวที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ส่วนโรงงานอีก 4 แห่ง ก่อสร้างเสร็จตามเงื่อนไขสัญญา TOR แต่ยังขาดระบบไฟฟ้าภายในโรงงาน เนื่องจากไม่มีการระบุในสัญญาการก่อสร้าง ดังนั้น แม้ก่อสร้างโรงงานเสร็จ แต่ขาดระบบไฟฟ้า ชุมนุมสหกรณ์ฯ ก็ไม่สามารถดำเนินงานได้ ส่วนประเด็นบ่อบำบัดน้ำเสีย ครั้งแรกมีการตั้งงบประมาณระบุในสัญญา TOR แต่หน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบโครงการนี้ อ้างว่า ประมูลจัดซื้อจัดจ้างไม่ทัน ทำให้งบประมาณเรื่องนี้ ถูกตีตกไป ทำให้โรงงานแปรรูปยางไม่มีบ่อบำบัดน้ำเสียจนถึงทุกวันนี้
ปัจจุบันทางชุมนุมสหกรณ์ฯ ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมธนารักษ์ ให้เข้ามาใช้ดำเนินการในโรงงานต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ค. 2563 ขณะนี้ ชุมนุมสหกรณ์ ฯ กำลังเร่งประสานงานขอรับการช่วยเหลือสนับสนุนจากหน่วยงานส่วนราชการและเอกชน เพื่อการดำเนินงานโรงงานแปรรูป สัมฤทธิ์ผลและเกิดประโยชน์แก่พี่น้องประชาชนในเร็ววัน
“คณะกรรมการชุมนุมสหกรณ์ฯ ขอให้ความมั่นใจแก่พี่น้องเกษตรกรทุกท่านว่า เรามั่นใจในศักยภาพทั้งด้านพื้นที่ปลูกยางพาราและมีศักยภาพในการคัดสรรบุคคลากรที่มีความรู้ความสามารถให้เข้าปฏิบัติงานในโรงงาน ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่พี่น้องเกษตรก โดยยึดหลักธรรมาภิบาลเป็นสำคัญ”
ส่วน นายนิพนธ์ คนขยัน นายก อบจ.บึงกาฬ ในฐานะที่ปรึกษาชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ ชี้แจงสื่อว่า อบจ.บึงกาฬเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องการก่อสร้างโรงงานแปรรูปยาง เพราะตามอำนาจและหน้าที่ใน พรบ.กระจายอำนาจ ที่ให้โอกาส อบจ.ในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้ามาส่งเสริมการลงทุน รวมทั้งดูแลช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรให้มีอาชีพและรายได้ที่มั่นคงได้ ทางอบจ.บึงกาฬเล็งเห็นว่า หากขายยางได้ราคา ชาวบ้านก็มีความสุข อบจ.ก็พร้อมเข้าไปดูแลช่วยเหลือเกษตรกรในเรื่องต่างๆ เช่น สร้างลานตากสินค้าเกษตร ลานรวบรวมผลผลิตยางพารา เป็นต้น
ส่วนการก่อสร้างโรงงานแปรรูปยางพาราของชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ ที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์เต็มที่ เนื่องจากไม่มีระบบน้ำใช้ ระบบบำบัดน้ำเสีย และระบบไฟฟ้าภายโรงงาน ในเร็วๆ นี้ อบจ.บึงกาฬจะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของสภา อบจ. เพื่อจัดสรรงบประมาณเข้ามาสนับสนุนการติดตั้งระบบไฟฟ้าภายในโรงงานผลิตหมอน ที่นอนยางพารา เพื่อให้โรงงานสามารถเปิดดำเนินงานได้ ส่วนระบบน้ำใช้ อบจ.บึงกาฬประสานขอสูบน้ำจากแม่น้ำสงคราม รวมทั้งก่อสร้างระบบธนาคารน้ำใต้ดินลึก 10 ไร่ เพื่อนำมาใช้ภายในโรงงานแปรรูปยาง
ด้าน นายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีนและส่งเสริมความสัมพันธ์ ในฐานะที่ปรึกษาด้านการตลาดของชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า กระแสข่าวที่เผยแพร่ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา มีทั้งเนื้อหาที่เป็นความจริง แต่บางส่วนก็คลาดเคลื่อนไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เนื่องจากมีกลุ่มคนบางรายต้องการบิดเบือนใส่ร้ายทางการเมือง ตนจึงต้องออกมาแถลงข่าวให้ประชาชนเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องชัดเจน
“ผมมองเห็นว่า การแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรเป็นประเด็นสำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจนของพี่น้องเกษตรกร และพัฒนาขีดความสามารถของเกษตรกรชาวสวนยางเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เหมือนอย่างชาวนาญี่ปุ่น ไม่ได้ขายข้าวเปลือกในราคาเกวียนละ 9,000-12,000 บาท แต่นำข้าวไปแปรรูปเป็นเหล้าสาเกขายได้ขวดละ 15,000 บาท วันนี้ เกษตรกรขายน้ำยางดิบที่ ก.ก.ละ 20 กว่าบาท เมื่อนำมาแปรรูปเป็นน้ำยางข้นจะมีรายได้เพิ่ม 8-9 บาท หากนำมาแปรรูปเป็นหมอนยางพาราจะมีมูลค่าเพิ่ม 3 เท่าตัว นี่เป็นตัวอย่างที่ดี สำหรับสินค้าหมอนยาง และที่นอนยางพาราที่ผลิตได้ในจังหวัดบึงกาฬ ไม่ต้องห่วงเรื่องการตลาด เพราะตลาดจีน มีความต้องการซื้อสินค้าจากไทยจำนวนมาก ขณะเดียวกัน ทางลาซาด้า พร้อมจะสนับสนุนการขายผลิตภัณฑ์ยางแปรรูปของเกษตรกรอย่างเต็มที่ จึงต้องเร่งก่อสร้างโรงงานแปรรูปยางให้เสร็จสมบูรณ์พร้อมเปิดดำเนินการให้เร็วที่สุด เพื่อยกระดับราคาขายยางให้สูงขึ้น เกษตรกรชาวสวนยางจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนในอนาคต” นายพินิจกล่าวในที่สุด’>