ที่โรงแรมบีเคเพลส อ.เมืองบึงกาฬ จ.บึงกาฬ กรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม จัดการประชุมกลุ่มย่อยในระดับพื้นที่ โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างท่าอากาศยานบึงกาฬ อ.เมืองบึงกาฬ จ.บึงกาฬ เพื่อนำเสนอข้อมูลเบื้องต้นของโครงการฯ ตำแหน่งพื้นที่ตั้งท่าอากาศยานที่มีศักยภาพเบื้องต้น การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการเวนคืนที่ดิน รวมถึงมีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังความคิดเห็นของตัวแทนภาคประชาชนในพื้นที่ศึกษาโครงการฯด้วย โดยมีนายสนิท ขาวสอาด ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ เป็นประธานในการกล่าวเปิดการประชุม และมีตัวแทนภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนเข้าร่วม จำนวนกว่า 50 คน
นายสนิท ขาวสอาด ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า เวลาจะเดินทางไปที่เมืองไหน สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นลำดับแรก ๆ ก็คือ เรื่องความสะดวกในการเดินทาง, ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน, และเมืองนั้น ๆ ต้องมีอัตลักษณ์เป็นของตนเอง การสร้างสนามบิน ถือเป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้เมืองบึงกาฬมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็อยู่ในแนวคิดการพัฒนาจังหวัดบึงกาฬ ในด้านการ “สร้างเมือง” อย่างไรก็ตาม เมื่อมีสนามบินแล้ว ทำอย่างไรจะให้คนมาลงทุน และคนบึงกาฬจะได้ประโยชน์ ก็ต้องมีการ “สร้างคน” ไปพร้อม ๆ กันด้วย และหากทำสำเร็จก็จะนำไปสู่การ “สร้างรายได้” ให้กับชาวบึงกาฬทุกคน สุดท้ายสิ่งที่มีความสำคัญอีกประการ ก็คือการทำความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการฯ เพราะมีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เราจึงต้องมีการจัดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นขึ้นในวันนี้ และจะมีการจัดขึ้นอีกหลังจากนี้
นายสนธิ เอมะรุจิ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบสนามบิน กล่าวว่า ขณะนี้ กรมท่าอากาศยาน ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ ซึ่งมีพื้นที่ศึกษาความเป็นไปได้ จำนวน 6 แห่ง คือ A1 พื้นที่รอยต่อของตำบลหอคำและตำบลโนนสว่าง หนองเมือกและหนองอาฮง, A2 พื้นที่ในตำบลไคสี ตำบลวิศิษฐ์, B1 พื้นที่ในตำบลโป่งเปือย ตำบลวิศิษฐ์, B2 พื้นที่ในตำบลนาสวรรค์ ตำบลโนนสมบูรณ์, C1 บริเวณรอยต่อตำบลถ้ำเจริญ ตำบลคำแก้ว, C2 บริเวณรอยต่อตำบลคำนาดี ตำบลหนองหัวช้าง ตำบลศรีสำราญ ซึ่งบริษัทที่ปรึกษาได้ลงสำรวจพื้นที่ ศึกษาข้อมูลตามหลักเกณฑ์การคัดเลือก ซึ่งประกอบด้วย ด้านปฏิบัติการบิน ด้านวิศวกรรมและจราจร ด้านเศรษฐกิจและการลงทุน ด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ บริษัทที่ปรึกษาจะต้องลงไปศึกษาข้อมูลความเหมาะสมของพื้นที่ ทั้งการสำรวจบริเวณพื้นที่โครงการ การรวบรวมข้อมูลระวางที่ดิน สิ่งปลูกสร้างและการประมาณราคา สำรวจสภาพชั้นดิน รวบรวมข้อมูลในการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น วิเคราะห์ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ความคุ้มค่า การประเมินค่าชดเชยเบื้องต้น มานำเสนอต่อที่ประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 นี้ ซึ่งจะใช้พื้นที่ในการสร้างท่าอากาศยานประมาณ 2,500 ไร่ (มีความกว้าง 1 กิโลเมตร, ความยาว 4 กิโลเมตร) โดยนายสนธิ เอมะรุจิ กล่าวในตอนท้ายด้วยว่า สนามบินถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เมื่อเทียบกับมูลค่าทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น เพราะสนามบินสามารถนำผู้คนมาที่บึงกาฬได้มากกว่า เมื่อเทียบกับการลงทุนสร้างถนน
นายพีรวุฒิ ทองอินทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้ที่ดิน กล่าวว่า ที่ดินส่วนใหญ่ในพื้นที่ศึกษา เป็นที่ดิน ส.ป.ก. เพราะในการศึกษาโครงการจะหลีกเลี่ยงพื้นที่ชุมชนให้มากที่สุด โดยกระบวนการหลังจากโครงการได้รับการอนุมัติ กรมท่าอากาศยานจะมีการดำเนินการติดต่อไปที่สำนักงาน ส.ป.ก. เพื่อขอใช้ที่ดิน และติดต่อกับผู้มีสิทธิใน ส.ป.ก. แปลงนั้น ๆ เพื่อขออนุญาตผู้มีสิทธิในที่ดิน ส.ป.ก.ด้วย ก่อนจะดำเนินการชดเชยการสละที่ดินทำกินให้กับผู้มีเอกสารสิทธิในที่ดิน ส.ป.ก. และในกรณีที่ตรวจพบว่า ผู้ครอบครองพื้นที่ดังกล่าว ไม่มีเอกสารสิทธิครอบครอง จะต้องให้ผู้มีสิทธิในการทำกินบนที่ดินของ ส.ป.ก. ดำเนินการติดต่อ ส.ป.ก. เพื่อออกหนังสือยืนยันการครอบครอง โดยขั้นตอนกระบวนการจะต้องมีการพูดคุยทำความเข้าใจ และทำประชาพิจารณ์แน่นอน
ด้าน นางฉัตรโสภา กลิ่นพันธุ์ ผู้จัดการโครงการฯ กล่าวว่า สำหรับโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างท่าอากาศยานบึงกาฬ จะแล้วเสร็จในปลายเดือนมากราคม 2564 ซึ่งกระบวนการหลังจากนั้น จะเป็นการนำเสนอข้อมูลการศึกษาให้กับกรมท่าอากาศยานอนุมัติ เมื่อผ่านการอนุมัติเรื่องจะถูกส่งต่อไปที่กระทรวงคมนาคม และหากกระทรวงคมนาคมอนุมัติ ก็จะมีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมฉบับเต็ม (EIA) ก่อนจะนำสู่การจัดหางบประมาณ และการจัดสร้าง ซึ่งต้องผ่านการทำประชาพิจารณ์ รับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างแน่นอน และหากโครงการดำเนินไปตามกระบวนการ ก็คาดว่า จะสามารถเปิดใช้ท่าอากาศยานบึงกาฬได้ ในปี 2570
‘>