นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ลงพื้นที่ตรวจติดตามการดำเนินงานด้านการท่องเที่ยว เส้นทางตามรอยตำนานพญานาค หรือนาคีรูท และเยี่ยมชมโครงการพัฒนาตามผังเมือง (Land mark) ที่จะมีการสร้างปรับปรุงภูมิทัศน์ และสร้างแลนด์มาร์คที่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขงแห่งนี้ ที่ศาลาอเนกประสงค์ ถนนข้าวเม่าริมโขง อ.เมืองบึงกาฬ จ.บึงกาฬ โดยมีนายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรัฐมนตรีที่กำกับติดตามโครงการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันของจ.บึงกาฬ ได้ร่วมให้รายละเอียดของโครงการ ร่วมกับนายสมหวัง อารีย์เอื้อ หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์ สำนักงานจังหวัดบึงกาฬ และมีนายสนิท ขาวสอาด ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ หัวหน้าส่วนราชการ และประชาชนให้การต้อนรับ
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า วันนี้ได้มาเยือนจังหวัดบึงกาฬ ทำให้ได้พบเห็นสิ่งที่ดีหลายๆ อย่างของบึงกาฬ ทั้งสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม และผู้คนที่มีอัธยาศัยไมตรี ประกอบกับการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยวต่าง ๆ ของจังหวัดผ่านสื่อสังคมออนไลน์ จึงคาดการณ์ได้ว่า จังหวัดบึงกาฬในอนาคตจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมอีกเป็นจำนวนมากอย่างแน่นอน ไม่เฉพาะแต่นักท่องเที่ยวชาวไทยเท่านั้น แต่ยังมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่สนใจเข้ามาเยี่ยมชมด้วย โดยเฉพาะสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ แต่สิ่งที่จะตามมาอย่างแน่นอน คือ เรื่องที่พักไม่พอสำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยว
โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้เล่าถึงการลงพื้นที่ของตนในครั้งนี้ว่า แม้ตนจะมาเยือนจังหวัดบึงกาฬในช่วงที่ยังไม่เปิดประเทศ นักท่องเที่ยวในช่วงนี้ก็ถือว่ามากพอสมควร ทำให้การเข้าพักตามที่พักต่าง ๆ ต้องกระจาย กับคณะเดินทางกันหลายที่ ซึ่งหากในอนาคต มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้ความสนใจมาเที่ยวเพิ่มขึ้น หลังการเปิดประเทศ ก็มั่นใจได้อย่างแน่นอนว่า ที่พักจะไม่เพียงพอ ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้นั้น การเตรียมที่พักให้เพียงพอ สำหรับรองรับนักท่องเที่ยว จึงเป็นสิ่งที่ต้องพร้อม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้ความเห็นว่า ในอนาคตหากจะมีนักลงทุนมาลงทุนสร้างที่พักเพิ่มขึ้นก็ถือเป็นสิ่งที่ควรต้องสนับสนุน แต่อนาคตอันใกล้นี้ หากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติสนใจมาเยือนจังหวัดบึงกาฬ สิ่งซึ่งสามารถทำได้ทันที เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนที่พัก คือ การปรับที่อยู่อาศัยของประชาชนที่มีความพร้อม ให้กลายเป็นโฮมสเตย์ ยกตัวอย่างเช่น แต่ก่อนครอบครัวหนึ่งจะอยู่อาศัยกันหลายคน ทำให้บ้านหลังหนึ่งจะมีห้องพัก 4 – 5 ห้อง แต่ปัจจุบันสมาชิกในครัวเรือนได้ออกไปทำงานต่างพื้นที่ จะกลับมาทีก็เฉพาะช่วงเทศกาลสำคัญ ขณะที่บางคนเมื่อแต่งงานก็จะย้ายไปอยู่ที่บ้านอีกหลัง ทำให้ในช่วงปกติ ห้องพักในบ้าน อาจจะไม่มีผู้อยู่อาศัย
สำหรับประชาชนที่สนใจ เราอาจจะพัฒนาห้องพักที่ว่างในบ้านของประชาชน ให้กลายเป็นโฮมสเตย์ได้ ซึ่งนอกจากจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องขาดแคลนที่พักแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างรายได้ให้กับประชาชนด้วย โดยในรายละเอียดอาจจะให้กรมการท่องเที่ยวเข้ามาแนะนำ อย่างไรก็ตาม เมื่อที่เมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น ทางจังหวัดก็ต้องดูแลเรื่องจำนวนที่พักไม่ให้ขยายเพิ่มขึ้นมากจนเกินไป เพราะอาจประสบปัญหาที่พักเกินจำนวนนักท่องเที่ยวได้ พร้อมเน้นย้ำว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ จังหวัดบึงกาฬบึงกาฬจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้นอย่างแน่นอน
‘>