ที่ห้องสิรินธารา 2 โรงแรมเดอะวัน นายนฤชา โฆษาศิวิไลซ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ เป็นประธานในการเปิดการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “การตลาด 4.0 New Normal – Digital Marketing” โดยสำนักงานพาณิชย์จังหวัดบึงกาฬ ตามโครงการพัฒนาศักยภาพด้านการค้า การลงทุน และการตลาด ผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตร OTOP/SMEs จังหวัดบึงกาฬ เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีศักยภาพในการค้าขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ เป็นการเพิ่มช่องทางการขาย และกลุ่มเป้าหมายให้กว้างขึ้น บรรเทาผลกระทบ และขยายตลาดในช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดยมีนางพิรุณวรรณน์ จงใจภักดิ์ พาณิชย์จังหวัดบึงกาฬ และหัวหน้าส่วนราชการร่วมให้การต้อนรับ
นายนฤชา โฆษาศิวิไลซ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า จังหวัดบึงกาฬ แม้จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 แต่หากเทียบกับพื้นที่อื่นแล้ว โดยเฉพาะพื้นที่สีแดงเข้ม หลายๆ อย่างยังสามารถทำได้ และยังมีศักยภาพที่ดี อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องทำ ก็คือ การคำนึงถึงหลักการตลาด 4P ได้แก่ 1.Product (สินค้า) ที่ต้องน่าสนใจ/ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย 2.Price (ราคา) ต้องเหมาะสม และคำนึงถึงต้นทุน 3.Place (สถานที่) ต้องมทำเลที่ตั้ง เหมาะกับการขาย หรือการโฆษณา 4.Promotion (โปรโมชัน) ต้องมีการลดราคา หรือสิ่งล่อใจให้ผู้ซื้อสนใจซื้อสินค้าของเรา พอรู้หลัก 4 P นี้แล้ว ในสถานการณ์โควิด-19 ก็ต้องคำนึงถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปด้วย จากเดิมที่เราซื้อขายสินค้าแบบต้องเดินทางไปซื้อ ตอนนี้ผู้ซื้อสามารถซื้อสินค้าได้ เพียงเปิดสมาร์ทโฟน ผ่านช่องทางออนไลน์รูปแบบต่างๆ ในวันนี้จึงถือเป็นโอกาสดี ที่ผู้ประกอบการจะได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และสอบถามความรู้เกี่ยวกับประเด็นการค้าขายออนไลน์ กับวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อนำไปปรับใช้ และปรับตัวให้ได้ในสถานการณ์โควิด-19 แบบนี้
สำหรับโครงการดังกล่าว เป็นผู้เข้าร่วมการอบรมสัมมนาเป็น 2 รุ่น คือ รุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 16-18 ส.ค. 2564 และรุ่นที่ 2 วันที่ 19-21 ส.ค.2564 โดยเนื้อหาส่วนใหญ่ประกอบด้วยเทคนิคการขายและการตลาดในยุค New Normal เพื่อให้ผู้ผลิตสามารถสร้างช่องทางการตลาดออนไลน์ให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้า หรือกลุ่มผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้วิถีชีวิตตามปกติของผู้คนเปลี่ยนแปลงไป คือส่วนใหญ่ไม่สามารถออกไปซื้อสินค้าต่างๆได้ตามปกติ พฤติกรรมการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคก็เปลี่ยนแปลงไปตามไปด้วย ทำให้ภาคธุรกิจการค้า การลงทุนต่างๆมีอัตราการขยายตัวลดลง ดังนั้นผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายจึงต้องก้าวทันการตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป และปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการเลือกซื้อของผู้บริโภคด้วยการเปิดช่องทางการขายออนไลน์เพิ่มมากขึ้นเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ
การฝึกอมรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากวิทยากรหลากหลายท่านที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการขายและการตลาดออนไลน์ มาให้ความรู้และแนะนำเทคนิคต่างๆ เช่น การเลือกใช้ช่องทางการจำหน่ายสินค้าผ่านออนไลน์แอพพลิเคชั่นต่างๆ เช่น LAZADA, Shopee, หรือ Facebook ,เทคนิคการขายของออนไลน์, การสร้างแบรนด์, เทคนิคการถ่ายภาพสินค้า รวมไปถึง การแต่งภาพด้วยมือถือเพียงเครื่องเดียว ฯลฯ ดังนั้นผู้เข้าอบรมหลักสูตรนี้จะสามารถนำความรู้ไปปรับใช้ในธุรกิจของตนเองได้ อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับฐานรากในชุมชนให้เติบโตได้ในยุคการดำเนินธุรกิจดิจิทัลอีกด้วย
‘>