หลังจากที่ถูก “แช่แข็ง” มานับตั้งแต่การรัฐประหาร คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เคาะให้วันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 เป็นวันที่ประชาชนที่มีชื่ออยู่ในพื้นที่รับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จะได้เลือกตั้งสมาชิกสภา อบต. และนายก อบต. หลังจากที่ได้เริ่มเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งแรกไปแล้วในระดับจังหวัด คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ไปก่อนเมื่อปลายปี 2563 โดยครั้งสุดท้ายที่มีการจัดเลือกตั้งอบต. ก็ต้องย้อนกลับไปถึงปี 2557 หรือเมื่อเจ็ดปีมาแล้ว
ทั้งนี้ การเลือกตั้ง อบต. ครั้งนี้เป็นผลมาจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2564 ทำให้ตอนนี้ในบรรดาองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมด เหลือเพียงสมาชิกสภาและผู้บริหารกรุงเทพมหานครฯ และเมืองพัทยาเท่านั้นที่ยังไม่มีการปลดล็อคให้มีการเลือกตั้ง
๐ อบต. คืออะไร มีหน้าที่อะไร
อบต. เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีขนาดเล็กที่สุดและมีเขตพื้นที่ที่ต้องดูแลอยู่นอกเขตเมือง ด้วยเหตุนี้ อบต. จึงเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด โดยจัดตั้งขึ้นเพื่อดูแลทุกข์สุขและให้บริการประชาชนในหมู่บ้านและตำบลแทนรัฐหรือส่วนกลาง ที่ไม่สามารถจัดบริการสาธารณะ หรือดูแลประชาชนทั่วประเทศได้อย่างทั่วถึง ข้อมูลจากกรมการส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2563 ระบุว่าทั่วประเทศ มี
อบต. ทั้งหมด 5,300 แห่ง โดยตัวเลขนี้ก็มีแนวโน้มจะลดลงเรื่อย ๆ จากการควบรวม อบต. บางส่วนเพื่อให้การบริหารงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือการยกอบต. ที่มีความเจริญในระดับหนึ่งให้เป็นเทศบาลเพื่อให้มีอิสระในการบริหารงานมากขึ้น
พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 กำหนดให้ อบต. มีอำนาจหน้าที่ดูแลประชาชนอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่ดูแลความระเบียบเรียบร้อย ความสะอาดของถนน ป้องกันโรคและบรรเทาสาธารณภัย ไปจนถึงการจัดการศึกษาอบรมให้กับประชาชน และบำรุงรักษาศิลปะ วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น
ทั้งนี้ อบต. มีแหล่งรายได้จากทั้งหมดสามช่องทาง คือ (1) รายได้ที่รัฐจัดเก็บและแบ่งสรรให้ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ (2) รายได้ที่ท้องถิ่นจัดเก็บเอง เช่น ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีป้าย (3) เงินอุดหนุนจากรัฐ เนื่องจาก อบต. เป็นองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีจำนวนมากที่สุด จึงได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐมากที่สุดตามไปด้วย ในปี 2564 เทศบาลและอบต. ทั่วประเทศได้รับเงินอุดหนุนรวมกันทั้งหมด
226,450 ล้านบาท ในขณะที่อบจ. 77 จังหวัดรวมกันได้เงินอุดหนุนเพียง 28,787 ล้านบาทเท่านั้น การไปเลือกตั้ง อบต. จึงมีความสำคัญมากในการกำหนดผู้ที่จะเข้ามาบริหารงบประมาณก้อนนี้
๐ โครงการสร้าง อบต.
เหมือนกันกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นทุกประเภท เช่น
อบจ. หรือ เทศบาล โครงสร้างของ อบต. ประกอบไปด้วยฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารเช่นเดียวกัน โดยมีสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ทำหน้าที่เป็นฝ่ายบริหาร
สำหรับตำแหน่งนายก อบต. จะมีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน และส่วน ส.อบต. นั้นมีที่มาจากการเลือกตั้งหมู่บ้านละหนึ่งคน โดยใช้เขตหมู่บ้านเป็นเขตเลือกตั้ง เว้นแต่หมู่บ้านใดจะมีประชากรไม่ถึง 25 คน ก็ให้ไปรวมกับหมู่บ้านใกล้เคียงจนครบ 25 คนและให้นับเป็นหนึ่งหน่วยเลือกตั้ง ทั้งนี้ ส.อบต. จะต้องมีอย่างน้อยให้มีหกคน
ทั้งนายก อบต. และ ส.อบต. จะอยู่ในวาระได้ครั้งละสี่ปี แต่ นายก อบต. จะอยู่ในตำแหน่งเกินสองวาระติดกันไม่ได้
๐ ใครเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
1. มีสัญชาติไทย แต่ถ้าแปลงสัญชาติต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
2. อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ในวันเลือกตั้ง
3. มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง
4. คุณสมบัติอื่นตามที่กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด
ดังนั้น ไม่ใช่ประชาชนทุกคนจะมีสิทธิเลือกตั้ง อบต. ประชาชนต้องตรวจสอบว่าที่อยู่ตามทะเบียนบ้านของตนเองอยู่ในเขตความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปใด และตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ชัดเจนก่อนไปลงคะแนน
หากประชาชนมีการย้ายที่อยู่ตามทะเบียนบ้านของตัวเองออกจากตำบลเดิมหลังจากวันที่ 28 พฤศจิกายน 2563 ก็จะขาดคุณสมบัติและถูกตัดมีสิทธิเลือกตั้ง อบต. ในครั้งนี้ ในขณะที่หากใครย้ายทะเบียนบ้านแต่ยังอยู่ในตำบลเดิมก็จะยังมีสิทธิเลือกตั้ง อบต. อยู่
สำหรับใครที่มีความประสงค์จะใช้สิทธิเลือกตั้ง อบต. แต่มีแผนจะย้ายที่อยู่ทะเบียนบ้าน จึงอาจจะต้องรอย้ายทะเบียนบ้านหลังวันเลือกตั้งผ่านไปแล้ว มิเช่นนั้นก็จะถูกตัดสิทธิได้
๐ ตรวจสอบสิทธิอย่างไร
ประชาชนสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ โดยหากเป็นก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 25 วัน สามารถตรวจสอบได้ที่ที่ว่าการอำเภอหรือที่ทำการ อบต. หรือบริเวณที่ใกล้เคียงสถานที่เลือกตั้ง หากเป็นก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 15 วัน ก็สามารถตรวจสอบรายชื่อได้จากเอกสารที่ส่งมายังเจ้าบ้าน
หากพบว่าชื่อของตนเองนั้นตกหล่นจากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือเจ้าบ้านพบว่ามีผู้อื่นอยู่ในชื่อทะเบียนบ้านทั้งที่ไม่ได้อยู่อาศัยจริง ก็สามารถยื่นคำร้องต่อนายอำเภอเพื่อเพิ่ม-ถอนชื่อออกจากรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ภายในเวลาไม่น้อยกว่า 10 วันก่อนวันเลือกตั้ง
๐ ไปเลือกตั้งไม่ได้ต้องทำอย่างไร
หากผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีเหตุอันสมควร เช่น มีธุระเร่งด่วน หรือมีอาการเจ็บป่วย ก็สามารถทำหนังสือถึงนายอำเภอของตัวเองเพื่อชี้แจงเหตุผลได้ ภายในเจ็ดวันก่อนวันเลือกตั้งหรือเจ็ดวันหลังวันเลือกตั้ง
แต่ถ้าไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งหรือไม่มีเหตุผลอันสมควร ก็จะถูกตัดสิทธิการลงสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งทางการเมือง เช่น ส.ส. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงไม่สามารถดำรงตำแหน่งในที่เกี่ยวข้องกับผู้บริหารท้องถิ่นหรือสภาท้องถิ่นได้ โดยจะถูกจำกัดสิทธิครั้งละสองปี
๐ เลือกตั้งอย่างไร
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 สามารถเดินทางไปใช้สิทธิที่หน่วยเลือกตั้งของตนเองได้ตั้งแต่เวลา 8.00 – 17.00 น.
ขั้นตอนการเลือกตั้งมีทั้งหมดห้าขั้นตอน
1. ตรวจสอบรายชื่อและลำดับที่จากบัญชีรายชื่อที่ประกาศไว้หน้าที่เลือกตั้ง
2. ยื่นหลักฐานที่ใช้แสดงตนในการเลือกตั้ง คือ บัตรประชาชน (หมดอายุก็ได้) หรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้ที่มีรูปถ่ายและมีเลขประจำตัวประชาชน เช่น ใบขับขี่ หรือ พาสปอร์ต
3. รับบัตรเลือกตั้ง โดยลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือลงที่ต้นขั้วบัตรเลือกตั้งทั้งสองใบ ใบหนึ่งสำหรับเลือกนายกอบต. และอีกใบหนึ่งสำหรับเลือก ส.อบต.
4. เข้าคูหาลงคะแนนทำเครื่องหมายกากบาท (X) ลงในช่องทำเครื่องหมาย
· บัตรเลือกตั้งนายก อบต. เลือกผู้สมัครได้หนึ่งคน
· บัตรเลือกตั้ง ส.อบต. เลือกผู้สมัครได้ไม่เกินจำนวนที่พึงมีในเขตเลือกตั้งนั้น โดยสามารถเลือกน้อยกว่าได้ แต่เลือกมากกว่าไม่ได้
5. นำบัตรเลือกตั้งที่พับเรียบร้อยแล้ว หย่อนใส่ลงในหีบบัตรเลือกตั้งด้วยตนเอง
สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือการเลือกตั้ง อบต. ครั้งนี้จะไม่มีการเลือกตั้งนอกเขตหรือการใช้สิทธิล่วงหน้าเหมือนกับการเลือกตั้ง ส.ส. ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องเดินทางกลับไปที่ภูมิลำเนาของตัวเองเพื่อเลือกตั้งเท่านั้น
‘>