LINE : ติดต่อผู้ดูแล

ยินต้อนรับเว็บไซต์ข่าวสารเพจข่าวท้องถิ่นบึงกาฬ

วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2024
ข่าวเด่นบึงกาฬ

‘โอไมครอน’ โควิดกลายพันธุ์เขย่าโลก

‘โอไมครอน’ โควิดกลายพันธุ์เขย่าโลก

ยามนี้ ทั่วโลกกลับเข้าสู่สภาวะระวังตัวสุดขีดกันอีกครั้ง หลังจากมีรายงานข่าวพบเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ตัวใหม่ ซึ่งมีชื่อรหัสทางพันธุกรรมว่า บี.1.1.529 ที่องค์การ อนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ตั้งชื่อใหม่เพื่อให้ง่ายต่อการเรียกขานว่า ‘โอไมครอน’

‘โอไมครอน’ คือ เชื้อกลายพันธุ์ น่าวิตกกังวล ตัวล่าสุดตามนิยามของดับเบิลยูเอชโอ นักวิทยาศาสตร์ของแอฟริกาใต้ พบเชื้อตัวนี้เป็นครั้งแรกที่จังหวัดโกเต็ง ในแอฟริกาใต้ เมื่อ 24 พฤศจิกายน และแจ้งเตือนต่อองค์การอนามัยโลกโดยทันที เนื่องจากเห็นได้ชัดว่านี่คือเชื้อที่มีการกลายพันธุ์ไปจากเชื้อดั้งเดิมมากที่สุดเท่าที่เคยพบกันมา

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ผู้เชี่ยวชาญของดับเบิลยูเอชโอระบุว่า หลังจากนั้นมีการตรวจพบ ‘โอไมครอน’ แพร่ระบาดในอัตราเร็วที่สุด เร็วกว่าการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ทั้งหลายที่ผ่านมา ซึ่งส่อเป็นนัยว่า ‘โอไมครอน’อาจแพร่ระบาดได้ดีกว่าเชื้อกลายพันธุ์ทั้งหมดที่ผ่านมาก็เป็นได้

ดับเบิลยูเอชโอบอกว่า การตรวจพบโอไมครอน ที่แอฟริกาใต้ เกิดขึ้นควบคู่ไปกับการที่อัตราการติดเชื้อโควิด-19 ของแอฟริกาใต้พุ่งสูงมากในทุกจังหวัดของประเทศ ในหลายจังหวัดเหล่านั้น อาทิ พริตอเรีย ไม่พบผู้ติดเชื้อโอไมครอนเลย แต่แค่เพียง 2-3 สัปดาห์ให้หลัง

โอไมครอนคือเชื้อ ที่แพร่ระบาดเป็นหลักในเมืองใหญ่ของประเทศนี้ ผู้ที่ติดเชื้อโอไมครอนหลายคน เคยติดเชื้อโควิดสายพันธุ์อื่นๆ มาก่อน ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ ทางการของหลายประเทศพบมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าผู้ที่ติดเชื้อโอไมครอน เป็นคนที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว

ลักษณะเด่นแรกสุดของโอไมครอน ก็คือ การเป็นเชื้อไวรัส ซาร์ส-โควี-2 ที่กลายพันธุ์ไปจากเดิมมากที่สุด

ศาสตราจารย์ ทูลิโอ เด โอลิเวรา ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมและการรับมือโรคระบาด ในแอฟริกา ระบุว่า โอไมครอน มีการกลายพันธุ์เป็นกลุ่มก้อนชนิดผิดปกติ มาก ซึ่งทำให้เชื้อกลายพันธุ์ตัวนี้ แตกต่างอย่างใหญ่หลวงจากเชื้อโควิดที่ระบาดกันอยู่ก่อนหน้านี้ ถือเป็นวิวัฒนาการแบบก้าวกระโดด และเกิดกลายพันธุ์มากตำแหน่งกว่าที่เราคาดกันมาก

เด โอลิเวรา ระบุว่า โดยรวมแล้วพันธุกรรมของโอไมครอน กลายพันธุ์ไปมากถึง 50 ตำแหน่ง ที่สำคัญก็คือ ในจำนวนดังกล่าว เกิดการกลายพันธุ์ในส่วนที่เป็นตัวกำหนดให้สร้างโปรตีนหนาม มากถึง 32 ตำแหน่ง แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ มีการกลายพันธุ์ในส่วนที่กำหนดรูปแบบของ รีเซปเตอร์ ไบน์ดิง โดเมน (อาร์บีดี) ของหนามโปรตีนถึง 10 ตำแหน่ง อาร์บีดี คือส่วนที่ไวรัสใช้ในการจับเกาะกับเซลล์ในร่างกายมนุษย์ ตรงบริเวณที่เรียกว่า เอซ 2 เพื่อเปิดช่องให้ไวรัสเข้าไปสู่เซลล์แล้ว ใช้เซลล์ในร่างกายมนุษย์เป็นโรงงานผลิตไวรัสต่อไปไม่สิ้นสุด เชื้อกลายพันธุ์เดลต้า (บี.1.617.2-พบครั้งแรกที่อินเดีย) สามารถแพร่ระบาดได้มากกว่าเชื้ออื่นๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเกิดการกลายพันธุ์ในบริเวณโปรตีนหนามนี่เอง

กระนั้น เดลต้าก็มีการกลายพันธุ์ที่โปรตีนหนามเพียงแค่ 2 ตำแหน่งเท่านั้นเอง แต่การกลายพันธุ์เป็นจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ โอไมครอน เลวร้าย ไปโดยอัตโนมัติแน่นอนแล้วแต่อย่างใด มันเพียงหมายความว่า นักวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องทำงานหนักมากขึ้นกว่าปกติมาก เพื่อวิเคราะห์ให้ได้ว่า การเปลี่ยนแปลงในแต่ละตำแหน่งพันธุกรรมนั้น ทำให้เชื้อกลายพันธุ์ตัวนี้มีพฤติกรรมแตกต่างไปจากเดิมอย่างไร ในทางที่ดีขึ้นหรือแย่ลงมากแค่ไหน เท่านั้น

สิ่งแรกที่ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาเป็นกังวล ก็คือ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับส่วน โปรตีนหนามของโอไมครอน เหตุผลก็เพราะโปรตีนหนาม คือส่วนที่วัคซีนส่วนใหญ่ใช้เป็นเป้าหมายในการ บอก ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายให้ต่อต้านตัวเชื้อ การกลายพันธุ์ถึง 32 จุด ทำให้โปรตีนหนามของโอไมครอนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก และอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดการ รีอินเฟคชั่น หรือการติดเชื้อซ้ำ ของคนที่เคยติดเชื้อมาแล้ว และ เบรกทรู หรือการติดเชื้อโอไมครอนของผู้ที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้วอีกด้วย

หนึ่งในจำนวนการกลายพันธุ์บริเวณโปรตีนหนามอย่าง N501Y เป็นที่รู้กัน (จากที่เคยพบในเชื้อกลายพันธุ์ก่อนหน้านี้) ว่าช่วยให้เชื้อไวรัสระบาดได้เร็วขึ้น เช่นเดียวกับการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง H655Y, N679K และ P681H แต่ยังมีการกลายพันธุ์อีกหลายตำแหน่งมากที่ผู้เชี่ยวชาญยังไม่รู้บทบาท และต้องศึกษาวิจัยกันต่อไป

ศาสตราจารย์ ริชาร์ด เลสเซลส์ นักวิชาการด้านไวรัสวิทยาจากมหาวิยาลัยแห่ง ควาซูลู-นาทัล ในแอฟริกาใต้ บอกเอาไว้ว่า โอไมครอนทำให้เรากังวลมาก ว่าเชื้อกลายพันธุ์นี้อาจสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการระบาด มีศักยภาพในการแพร่จากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งได้อย่างรวดเร็ว แล้วยังอาจมีขีดความสามารถในการหลีกเลี่ยงการตรวจจับบางส่วน หรือหลายส่วนของระบบภูมิคุ้มกันของเราได้ดีพร้อมกันไปด้วย ข้อสังเกตอีกประการเกี่ยวกับโอไมครอน ที่น่าสนใจมากก็คือ ที่ผ่านมา เชื้อโควิดกลายพันธุ์ที่มีความสามารถหลีกเลี่ยงการตรวจจับของภูมิคุ้มกันได้ดีที่สุด (หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นเชื้อที่ดื้อภูมิคุ้มกันที่สุด) ก็คือเชื้อเบต้า (บี.1.351-พบครั้งแรกในแอฟริกาใต้) แต่ในที่สุดก็ก่ออันตรายให้กับโลกได้ไม่มากนัก เนื่องจากขีดความสามารถในการแพร่ระบาดของเบต้า สู้เชื้อกลายพันธุ์เดลต้าไม่ได้

ศาสตราจารย์ รวี คุปตะ นักไวรัสวิทยาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ชี้ว่า เบต้าดื้อภูมิคุ้มกัน (ทั้งที่ร่างกายสร้างขึ้นจากการติดเชื้อมาก่อน และวัคซีนช่วยกระตุ้นให้สร้างขึ้น) ได้ดี แต่ทำอย่างอื่นได้ไม่ดี ส่วนเดลต้าระบาดได้ดีมากแต่หลีกเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ไม่มากนัก ทำให้ที่ผ่านมาวัคซีนที่โลกพัฒนาขึ้นโดยใช้เชื้อโควิดที่เคยระบาดที่อู่ฮั่นเป็นต้นแบบ ยังคงใช้จัดการกับเชื้อเดลต้าได้

ข้อสังเกตที่น่าสนใจอีกประการก็คือ เชื้อโอไมครอนแสดงผลการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี พีซีอาร์ ที่เป็นวิธีการตรวจหาเชื้อมาตรฐาน แปลกไปจากเดิม ผลการตรวจหาเชื้อ จะแสดงให้เห็นว่าเชื้อที่พบไม่มี เอส-ยีน (S-gene dropout) คือไม่มีหน่วยพันธุกรรมที่สร้างโปรตีนหนาม ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ว่าผู้ที่ถูกตรวจแล้วให้ผลดังกล่าว ไม่ได้ติดเชื้อ ซึ่งนั่นอาจหมายความว่า โอไมครอนอาจแพร่ระบาดไปทั่วประเทศแอฟริกาใต้แล้ว และอาจแพร่อยู่ในโกเต็งสูงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ติดเชื้อที่นั่นก็เป็นได้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า โอไมครอนจะมีความสามารถในการแพร่ระบาดเหนือเชื้อกลายพันธุ์อื่น โดยเฉพาะเดลต้า ที่ต้องพิสูจน์กันต่อไป

นักวิชาการยังต้องหาคำตอบของคำถามสำคัญอีกหลายประการให้ได้โดยเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คำถามที่ว่าโอไมครอนก่อให้เกิดอาการป่วยไม่รุนแรงนัก จริงหรือไม่? และโอไมครอน จะมีความสามารถแพร่ระบาดในประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูง มากๆ อย่างไร แค่ไหน? เพราะข้อเท็จจริงก็คือ แอฟริกาใต้เพิ่งฉีดวัคซีนไปแค่ 24 เปอร์เซ็นต์ของประชากร ในขณะที่ทั่วแอฟริกาทั้งทวีป เพิ่งฉีดวัคซีนไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง ก่อนที่คำตอบเหล่านี้จะชัดเจนขึ้นในอีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า โอไมครอนก็ยังจะกลายเป็นเชื้ออันตรายเขย่าโลกทั้งใบได้ต่อไป

‘>

ข่าวเด่นบึงกาฬ ล่าสุด

อัพเดทล่าสุด