อาชีพแอร์โฮสเตสคือหนึ่งในความฝันของสาวๆ หลายคน เพราะไม่ว่าจะเป็นชุดเครื่องแบบ ค่าตอบแทน สวัสดิการ รวมถึงประสบการณ์ที่ได้รับ ล้วนแล้วแต่เป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคนสู้เพื่อให้ได้ตามที่ฝัน
คุณพลอย อภิเดช กริชกำจร แอร์โฮสเตสวัย 21 ปี สาวข้ามเพศที่สามารถตามความฝันนั้นได้สำเร็จ ด้วยความพยายามจนได้รับการตอบรับเข้าทำงานเป็นแอร์โฮสเตสของสายการบิน Scandinavian Airlines (SAS)
วันนี้เราอยากจะชวนคุณมาทำความรู้จักสาวคนเก่งคนนี้ให้มากขึ้น พร้อมเรียนรู้จากเรื่องราวของเธอตั้งแต่เริ่มต้นจนสามารถติดปีกได้สำเร็จ
ก่อนหน้านี้เธอเกิดและเติบโตที่จังหวัดหนองคาย หลังจากนั้นได้ย้ายไปอยู่ที่เกาะสมุย เมื่ออายุได้ราว 5 – 6 ขวบ แล้วก็ไปใช้ชีวิตที่กรุงเทพฯ ประมาณ 1 ปี ก่อนที่จะได้ย้ายไปอยู่นอร์เวย์กับคุณแม่และคุณพ่อบุญธรรม
ตอนเด็กๆ คุณพลอยอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่คุณแม่อยู่ที่เกาะสมุย ทำให้คุณพลอยต้องเดินทางเพื่อไปหาคุณแม่อยู่เสมอ และระหว่างทางนั้นเอง เธอได้รับการดูแลจากพี่ๆ ที่เป็นแอร์โฮสเตส ความประทับใจนั้นได้กลายเป็นจุดหมายของอาชีพในอนาคต ที่เธอวาดฝันว่าจะทำให้สำเร็จ
คุณพลอยเรียนจบจากสาขาการท่องเที่ยวและบริการ และบริหาร เมื่อเรียนจบ เธอได้เริ่มทำงานเป็นพนักงานต้อนรับส่วนหน้าของโรงแรมแห่งหนึ่ง ก่อนจะเปลี่ยนไปทำงานเป็นพนักงานภาคพื้นดินของสายการบิน ทำงานได้ราว 2 ปีกว่า
เดิมที คุณพลอยสมัครงานเป็นแอร์ฯ มาตั้งแต่อายุได้ 18 ปี แต่ไม่ได้รับการตอบรับจากสายการบินไหนเลยจนเธอเริ่มท้อ และคิดว่าอาจเป็นเพราะเพศของเธอที่ทำให้หลายที่ไม่ตอบรับ แต่เธอก็ยังไม่ตัดใจ พออายุได้ 19 ปี (ซึ่งในระหว่างนั้น เธอทำงานเป็นพนักงานภาคพื้นดินไปด้วย) เธอก็เที่ยวสมัครงานแอร์ไปหลายที่ จนได้เข้ารอบสัมภาษณ์ แต่ถึงอย่างนั้น ความฝันของเธอก็ยังไม่สำเร็จ
วันที่เกือบจะยอมแพ้ คุณพ่อและคุณแม่เป็นคนให้กำลังใจเธอ คุณแม่ถึงกับบอกว่า “ให้ส่งใบสมัครจนกว่าเขาจะจำชื่อได้ วันนี้ไม่ได้วันข้างหน้าก้ต้องทำได้” ด้วยกำลังใจนี้ ในที่สุด เธอก็ได้รับการตอบรับจริงๆ
เธอเล่าว่า ตอนย้ายไปอยู่ที่นอร์เวย์ ทั้งภาษาอังกฤษหรือภาษานอร์เวย์ เธอไม่เข้าใจเลยสักคำ แต่อาศัยเรียนรู้ด้วยตัวเอง ผสมกับที่โรงเรียนสอนด้วยภาษาอังกฤษ เธอจึงสามารถพัฒนาทักษะด้านภาษาให้ดีขึ้น
พอถึงช่วงสมัครงาน เธอใช้เวลาเตรียมตัว 1 เดือนเต็ม ลิสต์คำถามที่ถูกถามบ่อยและแนวโน้มของสิ่งที่น่าจะถูกถามเพื่อเตรียมตัวสำหรับการสอบสัมภาษณ์ ซึ่งมันได้ผลดีมาก เธอได้รับคำชื่นชมว่าตอบคำถามได้เก่ง แต่ไม่เป็นตัวเอง นั่นทำให้ทุกครั้งที่ถูกสัมภาษณ์คุณพลอยจะถามฟีดแบ็กจากคณะกรรมการ และนำข้อบกพร่องเหล่านั้นมาพัฒนาตัวเอง
ในส่วนของบุคลิกภาพ เธอเล่าว่าที่นอร์เวย์ค่าใช้จ่ายสำหรับการแต่งหน้าทำผมแพงมากๆ เธอจึงเรียนรู้เองจากอินเทอร์เน็ต ส่วนเรื่องของวุฒิการศึกษา ที่นั่นจะไม่ได้ระบุสาขาที่คุณจบมา ขอเเค่จบสูงกว่ามัธยมปลายและเคยมีประสบการณ์ด้านงานบริการมาอย่างน้อย 2 ปี เท่านี้ก็มีสิทธิ์เเล้ว
“การสมัครจะคล้ายกับการสมัครทั่วไป คือเราต้องยื่นใบสมัครผ่านอินเตอร์เน็ต ส่งเรซูเม่เข้าไป จากนั้นเขาก็จะให้กรอกว่าทำไมคุณถึงเลือกที่จะมาสมัครสายการบินนี้ และทำไมคุณถึงเลือกที่จะมาทำงานนี้ มันจะเป็นเหมือนการเขียนข้อความบรรยาย ประมาณ 1 หน้าเป็นภาษานอร์เวย์ (สายการบินอื่นๆอาจจะเป็นอังกฤษ ขึ้นอยู่กับสายการบิน) จากนั้นเขาก็จะดูว่าเราผ่านเกณฑ์ไหม ประกอบกับดูเรซูเม่
หลังจากนั้นเมื่อเราส่งใบสมัครไปแล้ว ก็จะได้รับข้อสอบ 4 ข้อ มีทั้งข้อสอบคณิต ข้อสอบภาษาอังกฤษ เหมือนโทอิค ข้อสอบบุคลิกภาพซึ่งจะมีเรื่องการบริการด้วยค่ะ และข้อสอบว่าคุณเหมาะสมกับองค์กรไหม
พอสอบเสร็จส่งเสร็จ รอประมาณ 4-5 วันก็จะได้คำตอบว่าเราได้ไปต่อไหม ซึ่งรอบต่อไปก็คือรอบสัมภาษณ์ ”
“วันที่ไปสัมภาษณ์ พลอยจำได้ว่ามันมีคนประมาณ 40-60 คนนี่แหละ ไปถึงเราก็ไม่รู้จักใครเลย ก็พยายามทักทาย เฟรนลี่ คุยกับทุกคน พอเข้าไปเสร็จ เขาก็จะให้แยกเป็นกลุ่ม 3-4 ห้อง ในกลุ่มก็จะมี 4-6 คน แล้วก็จะให้การบ้านมา คือการแก้ปัญหาล่วงหน้า บางกลุ่มก็จะได้การแก้ปัญหาบนเครื่อง ถ้ามีผู้โดยสารเป็นแบบนี้ๆ ต้องทำยังไง บางกลุ่มก็จะได้พวกแบบว่า ว่าเราจะขายของบนเครื่องยังไง เป็นเคสให้เราแก้ปัญหา แล้วกรรมการเขาก็จะเดินดู ทุกโต๊ะ แล้วจดบันทึก บางครั้งเขาก็มายืนฟังแล้วก็จด ตอนนั้นเราก็ไม่ได้ใส่ใจ เราก็ทำหน้าที่ของตัวเองไป
พอเสร็จเขาก็จะเรียกตัวไปสัมภาณ์แบบตัวต่อตัว มีกรรมการอยู่ 2 คนค่ะ ส่วนมากคำถามที่พลอยได้ไม่ได้ถามเกี่ยวกับเพศสภาพของพลอยเลยนะ แต่จะเกี่ยวกับเรื่องว่า เราเคยทำอะไรมาก่อน เรียนจบที่ไหน เกี่ยวกับประสบการณ์ บ้างก็ถามว่า เป็นแอร์ฯ นอนน้อย ต้องเดินทางเยอะนะ เธอมีครอบครัวรึเปล่า เธอมีปัญหากับการนอนโรงแรมเยอะๆ รึเปล่า
โดยส่วนใหญ่ก็จะเป็นคำถามเกี่ยวกับงานและประสบการณ์ของเรา แล้วเราจะสามารถแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้ไหม…”
“พลอยว่าจุดแข็งของพลอยก็คือประสบการณ์ที่พลอยเคยมีมา สองคือการศึกษาที่เคยมีมา สามคือภาษา และสุดท้ายคือการที่เราเข้าไปสัมภาษณ์แล้วเราโชว์เขาว่าเรามาด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ จิตใจที่บริสุทธิ์ในที่นี้ก็คือการเป็นตัวของตัวเองและการที่เราบอกเขาไปว่าเราเป็นสาวประเภทสองนะ ก็คือมันแสดงให้เห็นว่าเราซื่อสัตย์ต่อองค์กรจริงๆค่ะ”
สำหรับสายการบิน SAS ที่คุณพลอยทำงานอยูมีข้อกำหนดให้พนักงานต้องพูดได้อย่างน้อย 2 ภาษา คือ 1 ภาษาอังกฤษ และ 2 ภาษาสแกนดิเนเวีย (นอร์เวย์ เดนมาร์ก สวีเดน ) และเนื่องจากคุณพลอยเป็นคนไทย จึงสามารถพูดได้ถึง 3 ภาษา (ภาษาไทย อังกฤษ และนอร์เวย์)
“ครอบครัวๆ เพื่อนๆ มาร่วมยินดี โดยเฉพาะคุณแม่ คุณพ่อบุญธรรม เขาเห็นว่าเรามีความพยายามมานาน ทุกคนรู้ว่าพลอยใฝ่ฝันอยากเป็นแอร์ฯมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว เพียงแค่ว่าไม่มีใครคิดว่าจะเป็นไปได้
เหตุผลเพราะ หนึ่งเลย ในไทยยังไม่มีสายการบินไหนที่รับสาวประเภทสองตอนนี้ค่ะ เลยทำให้หมดหวัง แต่พอพลอยทำได้ พวกเขาก็ดีใจด้วย หลายคนบอกพลอยว่า มีคนอื่นๆ ที่มีความฝันอยากเป็นหมอ เป็นครู เป็นพยาบาล แต่น้อยคนที่จะพาตัวเองไปถึงฝันนั้นได้สำเร็จ…”
“บินที่กรุงออสโลไปเมืองฮัมบวร์ก ประเทศเยอรมนีค่ะ ไฟล์ทแรกเป็นไฟล์ที่ชิลมาก เพราะผู้โดยสารไม่เยอะ ดีใจเพราะถ้าผู้โดยสารเยอะ คงจะตื่นเต้นมากเกินไป แต่นี่เราสามารถรับมือได้
รู้สึกว่าตัวเองโชคดีมากเพราะเพื่อนร่วมงานรวมถึงครูฝึกสอนและหัวหน้าลูกเรือเป็นมิตรมาก พวกเขาพยายามจะสอนเราให้หมดทุกอย่าง ทำให้เรามีความมั่นใจมากขึ้น”
“ลูกเรือของ SAS เวลาเราไปบิน เรื่องโรงแรม เรื่องรถแท๊กซี่ การเดินทางก็ถูกจะจัดเตรียมไว้ให้อยู่แล้ว ห้องของเราเป็นส่วนตัว เราไม่ได้นอนกับคนอื่น ตอนไปทำงานก็จะมีรถมารับ แล้วก็ถ้าจะซื้อตั๋วเครื่องบิน ก็จะได้ในราคาพนักงาน ถูกกว่าบัตรผู้โดยสารทั่วไป เช่น สายการบินที่พลอยทำงานอยู่เป็นพันธมิตรกับ Star Lion และการบินไทย เวลาพลอยจะซื้อตั๋วพลอยก็จะได้ราคาถูก คือเราจะได้บินถูกหรือเราจะซื้อให้เพื่อน หรือให้ครอบครัวก็ได้ ไปเที่ยวกับพ่อแม่ก็จะบินถูกแต่มันก็จะมีให้เป็นลิมิตต่อปี”
สุดท้ายแล้ว คุณพลอยอยากบอกกับทุกคนที่มีฝันเป็นแอร์โฮสเตสว่า “อย่าท้อ” สำหรับคนที่ยังเรียนอยู่ คุณพลอยบอกว่า “เกรด” เป็นหนึ่งในสิ่งที่สำคัญมาก เพราะท่ามกลางคนเก่ง สิ่งแรกที่พวกเขาจะให้ความสนใจก็คือเกรด ดูการหยุดเรียน เพราะสายการบินต่างก็อยากได้พนักงานที่มีความรับผิดชอบ ตรงต่อเวลา
ส่วนคนที่เรียนจบแล้ว การเรียนอย่างเดียวไม่สามารถช่วยให้ประสบความสำเร็จได้ เพราะโดยมากคณะกรรมการจะดูว่าคุณเคยทำอะไรมาบ้าง จะสามารถทำงานบริการหรือดูแลคนอื่นๆ ได้หรือไม่ นั่นหมายถึง สุดท้ายแล้ว ประสบการณ์และความสามารถก็เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
นอกจากนี้ เธอยังให้กำลังใจคนที่มีความฝันว่า แม้ไม่ได้เรียนธุรกิจการบินมาก็ไม่เป็นไร เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่ได้การันตีว่าคุณจะประสบความสำเร็จ แต่ทุกอย่างอยู่ที่คุณถามใจตัวเอง แล้วพุ่งไปให้สุดต่างหาก
อ่านเพิ่มเติม https://www.bbc.com/thai/thailand-48110744