ทีมกู้เรือกำปั่นไอน้ำโบราณที่จมแม่น้ำโขง บริเวณบ้านท่าไคร้ จ.บึงกาฬ สามารถดึงซากเรือขึ้นฝั่งได้แล้ว โดยยังไม่พบสมบัติอะไรเนื่องจากในเรือมีทรายกลบฝังแน่น แต่พบระเบิด 3 ลูกแจ้ง จนท.เก็บกู้แล้ว ส่วนกระดูกที่พบต้องพิสูจน์อีกที…
เมื่อเวลาเวลา 16.30 น. วันที่ 20 เม.ย.2559 ผู้สื่อข่าวรายงานจากริมน้ำโขงบ้านท่าไคร้ หมู่ 5 ต.บึงกาฬ อ.เมืองบึงกาฬ จ.บึงกาฬ ว่า การกู้เรือก็ยังดำเนินการไปเรื่อยๆ เนื่องจากช่วงเช้ามีฝนตกลงมาอย่างหนักทำให้เป็นอุปสรรคกับการทำงานของทีมกู้เรือ ซึ่งครั้งแรกสามารถดึงลำเรือขึ้นมาจากน้ำโขงได้เกือบค่อนลำ เนื่องจากตัวเรือมีความยาวประมาณ 25 เมตร สูง 3 เมตร กว้าง 4.50 เมตร จึงไม่มีพื้นที่จะรองรับตัวเรือ ต้องใช้รถแบ็กโฮขุดดินริมตลิ่งโขงออกให้เป็นทางลาดเอียงที่ไม่ชันมากนัก เพื่อให้เป็นพื้นที่จอดเรือได้
นายวีระ แก้วเทพ ผู้ใหญ่บ้านท่าไคร้ กล่าวว่า วันนี้ต้องใช้รถแบ็กโฮ 3 คัน รถเครนขนาด 25 ตัน 2 คัน จึงสามารถลากเรือกำปั่นไอน้ำที่มีหนักประมาณ 30 ตัน ขึ้นจากน้ำโขงได้ เนื่องจากในตัวเรือโดยเฉพาะส่วนหัวช่วง 6 เมตร จะมีทรายกลบฝังแน่นอยู่ในเรือสูงถึง 2 เมตร ใช้ทั้งการฉีดน้ำละลายทรายและดูดทรายและน้ำออกแต่ก็ยังไม่หมด จึงลากเรือขึ้นฝั่งได้ทั้งลำ ส่วนสมบัติที่มีค่าอยู่ในเรือยังไม่พบอะไรเลย เนื่องจากดูดทรายออกยังไม่หมด แต่พบลูกระเบิดเก่า 3 ลูกเป็นอาร์พีจี 2 ลูกและระเบิดขว้าง 1 ลูกจึงให้ส่วนเกี่ยวข้องนำไปทำลายแล้ว
ส่วนกระดูกที่พบในเรือมีกระดูกฟัน และคาดว่าน่าจะเป็นกระดูกเชิงกรานมนุษย์ จะต้องพิสูจน์ก่อนว่าเป็นกระดูกอะไรแน่ เพราะมีความใหญ่ คาดว่าการดูดทรายออกเพื่อกู้เรือขึ้นไปเก็บไว้ในวัดโพธาราม หรือวัดหลวงพ่อพระใหญ่ให้ลูกหลานไว้ศึกษา และการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับชาวฝรั่ง 2 สามีภรรยา ที่ยอมสละชีวิตจมน้ำตายไปกับเรือกำปั่นนั้น ก็จะดำเนินการต่อไปภาย หลังที่เก็บกู้เรือสำเร็จแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการกู้เรือว่า ภายหลังจากฝนตกลงมาอย่างหนักช่วงเช้าทีมกู้เรือก็เริ่มปฏิบัติการตามแผนที่วางไว้ ประชาชนที่ทราบข่าวและติดตามข่าวการกู้เรือมาตลอดระยะเวลา 1 เดือน ก็มาคอยลุ้นว่าจะพบสมบัติอะไรในเรือกำปั่นโบราณลำนี้ ตลอดทั้งเป็นการมาให้กำลังใจ ซึ่งทำให้สถานที่ริมโขงที่มีอยู่ประมาณ 5 ไร่เต็มไปด้วยผู้คนประมาณ 2,000 คน ทำให้เกิดเป็นตลาดย่อยๆ สารพัดสินค้าที่นำมาขายทั้งผลไม้ อาหารการกินและน้ำดื่ม ทั้งสถานที่จอดรถและที่คนนั่งดูชื้นแฉะไปด้วยน้ำฝน เดินไม่สะดวกเนื่องจากพื้นดินลื่นไปด้วยดินโคลน.
ที่มา http://www.thairath.co.th/content/608613
‘>