นพ.สสจ.บึงกาฬ แถลง สถานการณ์โควิด-19 ของจ.บึงกาฬ ภาพรวมลดลงอย่างต่อเนื่อง เน้นย้ำประชาชนวัคซีนเข็มกระตุ้นเตรียมตัวเข้าสู่โรคประจำถิ่น
นายแพทย์ภมร ดรุณ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดบึงกาฬ แถลงว่าสถานการณ์โควิด-19 ของประเทศไทยมีแนวโน้มดีขึ้น รวมถึงของจ.บึงกาฬด้วยที่มียอดผู้ติดเชื้อลดลงเรื่อยๆ ผู้ป่วยรายวันถ้านับรวมทั้ง ATK และ RT-PCR รวมกันประมาณวันละ 50-200 คน แล้วแต่ช่วงวันบางวันก็ 100 กว่าคนบางก็ไม่ถึงร้อยคน สำหรับผู้ป่วยในแทบจะไม่มีแล้ว เพราะส่วนใหญ่จะรักษาตัวที่บ้าน ปัจจุบันข้อมูลผู้ป่วยที่รักษาตัวทั้งหมดมีประมาณ 350 คน ซึ่งรักษาตัวที่บ้านเกือบทั้งหมดประมาณ 310 คน และรักษาอยู่ในโรงพยาบาลแค่ประมาณ 40 คน และผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยสีเขียวที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย ผู้ป่วยอาการหนักก็แทบไม่มีแล้ว ใกล้จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว
สำหรับสถานการณ์การได้รับวัคซีนของจังหวัดบึงกาฬ ขณะนี้ถ้านับตามประชากรที่อาศัยอยู่จริง เข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ฉีดไปได้เกือบ 80% แล้ว สิ่งที่ต้องเร่งให้เร็วขึ้นคือการได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น จากข้อมูลล่าสุดจังหวัดบึงกาฬ ฉีดไปได้กว่า 20% เท่านั้น ถือว่าค่อนข้างน้อย เราต้องการให้ได้ 60% ขึ้นไป จึงจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่เพื่อความปลอดภัยในการเป็นโรคประจำถิ่นต่อไป สำหรับการเกิดโรคประจำการที่เป็นโรคประจำถิ่นของในแต่ละพื้นที่ มีเกณฑ์ที่สำคัญประมาณ 3 ข้อ คือ 1) จำนวนผู้ป่วย ซึ่งของเราก็มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ จำนวนผู้ป่วยที่ครองเตียงคือที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลก็ไม่เกินเกณฑ์ 2) ส่วนยอดผู้เสียชีวิตก็ถือว่าน้อยมากคือ 42 คน จากยอดผู้ป่วยสะสมทั้งหมดหลายหมื่นคน 3) วัคซีนเข็มกระตุ้น ที่ต้องเร่งฉีดให้ได้ 60%ขึ้นไป เพราะตอนนี้ฉีดไปได้เพียง 20% ตอนนี้ก็รณรงค์ฉีดวัคซีนในทุกพื้นที่ อีกส่วนหนึ่งคือผู้ที่ติดเชื้อโควิดไปแล้วครบ 3 เดือนสามารถมาฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นได้ ตอนนี้ก็เริ่มมีกลุ่มนี้ทยอยมาฉีดวัคซีนกันแล้ว และกลุ่มผู้สูงอายุ หรือกลุ่ม 608 ก็ฉีดเข็มกระตุ้นไปได้เพียงประมาณ 20% เช่นกัน ก็ยังคงมีการเร่งฉีดให้กลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดบึงกาฬ ย้ำว่า วัคซีนไม่มีความขาดแคลน มีวัคซีน 3 ยี่ห้อหลักคือ ซิโนแวค แอสตร้าเซเนกา และไฟเซอร์ ซึ่งมีจำนวนมากเพียงพอสำหรับประชากร ซึ่งต่อไปที่โรคโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นนั้นคือ โรคโควิดจะคล้ายกับโรคไข้หวัดชนิดหนึ่ง คือพี่น้องประชาชนก็ยังคงต้องดูแลตัวเองตามมาตรการด้านสาธารณสุขเช่นเดิม เช่น การสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือ การดูแลสุขอนามัยของตนเอง การเว้นระยะห่างก็ยังคงต้องมีอยู่แต่อาจจะไม่ต้องเคร่งครัดมากเท่าเดิม การสวมหน้ากากอนามัยถ้าอยู่ในพื้นที่โล่งหรือไม่ได้อยู่ในที่แออัดก็สามารถถอดหน้ากากอนามัยได้ แต่ถ้าอยู่ในพื้นที่แออัด มีคนรวมตัวกันอยู่มากๆ ก็รณรงค์ให้ยังคงสวมหน้ากากอนามัยอยู่ต่อไป การล้างมือก็เป็นการดูแลสุขอนามัยที่ดีอยู่แล้ว ควรทำบ่อยๆเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว ส่วนการเว้นระยะห่างก็เราต้องพยายามหลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่แออัดอยู่แล้วเพราะจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย
สรุปก็คือให้เราดูแลตัวเองเหมือนๆกับการป้องกันโรคไข้หวัด โรคทางเดินหายใจทั่วๆไปก็ให้ทำแบบเดียวกัน แต่ว่ากิจกรรมกิจการต่างๆนี้ก็สามารถทำได้ตามปกติ เช่น การประชุม การจัดอบรม การทำโครงการต่างๆ การทำกิจกรรมแข่งขันกีฬา แม้กระทั่งสถานบันเทิงต่างๆ ก็คาดว่าเดือน ก.ค. น่าจะทยอยเปิดกันได้ แต่ว่าต้องใช้มาตรการไม่ให้แออัดมากเกินไป ซึ่งก็น่าจะมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆมากขึ้น