วันที่ 17 ส.ค.65 ที่ศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ ศาลปกครองกลางได้อ่านผลคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่วินิจัยชี้ขาดคำร้องอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกลาง กรณีที่ประชาชน 8จังหวัดริมแม่น้ำโขงฟ้องศาลขอให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)และ 4 หน่วยงาน ยกเลิกสัญญาการซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนไซยะบุรีและปฎิบัติตามกฏหมายโดยเฉพาะการรับฟังจากประชาชนอย่างเพียงพอ โดยมีตัวแทนผู้ฟ้องคดีและตัวแทนชาวบ้าน 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขงเข้าร่วมรับฟัง
ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งของคำพิพากษาระบุว่า คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีว่าโครงการหรือกิจกรรมเพื่อจัดให้มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการไซยะบุรีต้องจัดให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญเกี่ยวกับตนหรือชุมชนท้องถิ่นแสดงความเห็นของตนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาตามมาตรา 57 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 หรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าผู้ฟ้องคดีอ้างเป็นสำคัญว่าเขื่อนไฟฟ้าไซยะบุรี มีกำลังผลิตไฟฟ้า 1,285 เมกะวัตต์ สร้างบนแม่น้ำโขง ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ซึ่งหากดำเนินการผลิตกระแสไฟฟ้าจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง และอ้างว่าหากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กฟผ.) ไม่ได้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ผู้ฟ้องคดีก็จะไม่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายอย่างร้ายแรงอันเนื่องมาจากการดำเนินการผลิตกระแสไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรีนั้น กรณีจึงเห็นได้ว่าเหตุที่ทำให้ผู้ฟ้องคดีจะได้รับความเสียหายร้ายแรงตามคำกล่าวอ้างในคำฟ้องเป็นผลมาจากการดำเนินการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ซึ่งเป็นเขื่อนที่ดำเนินการอยู่นอกเขตอำนาจอธิปไตยหรือสิทธิอธิปไตยของราชอาณาจักรไทย หาใช่เกิดจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการไซยะบุรีแต่อย่างใดไม่ แม้จะฟังได้ว่ากฟผ.ซื้อไฟฟ้าคิดเป็นร้อยละ 95 จากกำลังผลิตไฟฟ้าของเขื่อน การซื้อไฟฟ้าก็หาใช้เป็นการกระทำที่จะก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายอย่างร้ายแรงต่อผู้ฟ้องคดีโดยตรง จึงไม่อยู่ในเงื่อนไขที่ต้องดำเนินการตามมาตรา 57
ส่วนที่ผู้ฟ้องกล่าวอ้างในคำอุทธรณ์ว่าการดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีไม่ได้สอดคล้องกับข้อตกลงแม่น้ำโขง พศ.2538 และกระบวนการตามระเบียบว่าด้วยการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง (PNPCA) เห็นว่าผู้ถูกฟ้องที่ 4 (กรมทรัยากรน้ำ) ได้ดำเนินการโดยจัดเวทีให้ข้อมูลโครงการเขื่อนไฟ้ฟาไซยะบุรี ครั้งที่ 1 ที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ผู้เข้าร่วม 86 คน ครั้งที่ 2 ที่ อ.เชียงคาน จ.เลย มีผู้เข้าร่วม 127 คนจาก จ.เลย หนองคาย บึงกาฬ ครั้งที่ 3 ที่ อ.เมืองนครพนม มีผู้เข้าร่วม 125 คน จากนครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี และประชุมสรุปผลที่กรมทรัพยากรน้ำ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ชำนาญการ อีกทั้งยังได้เปิดเผยข้อมูลโครงการไซยะบุรีเท่าที่ได้รับอนุญาตให้เปิดเผยจากรัฐบาลสปป.ลาว ผู้ถูกฟ้องคดีจึงมิได้ละเลยหน้าที่
ในประเด็นการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ ทั้งในฝั่งไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ในขณะที่ได้มีการดำเนินโครงการเพื่อทำสัญญาจัดซื้อขายไฟฟ้าโครงการไซยะบุรีนั้น ก็มิได้กำหนดให้โครงการสัญญารับซื้อไฟฟ้าต้องดำเนินการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
น.ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวว่า วันนี้ศาลอ่านเฉพาะเรื่องแรกคือ สัญญาซื้อขายไฟฟ้า ว่ารัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 57 เป็นโครงการของรัฐ ที่จะต้องศึกษาผลกระทบกระทบหรือไม่ ศาลอธิบายว่า เป็นกิจกรรมของรัฐ ตามนโยบายพลังงานแห่งชาติ เป็นโครงการของรัฐที่อยู่ในแผนพลังงานแห่งชาติ (PDP) และศาลมองว่า กระบวนการที่ศาลมีมติแล้ว โครงการที่ผ่านกระบวนการเปิดเผยข้อมูล (PNPCA) แล้ว และกระบวนการตรวจสอบสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ถือว่าได้ทำแล้ว กระบวนการและขั้นตอนที่กฟผ.ทำสัญญาซื้อไฟ และกพช. มีมติออกมา ถือว่าเป็นขั้นตอนของรัฐที่จะต้องปฏิบัติตาม และมีการดำเนินการตามมาตรา 57 การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารหรือไม่ ศาลมองว่า เป็นโครงการที่มีผลกระทบโดยตรงต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ ศาลมองว่า สัญญาซื้อขายไฟฟ้านั้นไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ฟ้องคดี แต่ผลกระทบที่เกิดกับแม่น้ำโขนั้นเกิดจากก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี จึงเห็นว่าไม่จำเป็นที่ต้องดำเนินการมาตรา 57 ตามรัฐธรรมนูญ และมองว่าสัญญาซื้อไฟฟ้าไม่ได้เป็นผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมต่อผู้ฟ้องคดี
ในประเด็นกระบวนการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA ตามรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อม พศ.2535ไม่ได้กำหนดว่า สัญญาซื้อไฟฟ้าต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ศาลมองว่า ไม่จำเป็นต้องทำอีไอเอ เห็นพ้องด้วยผลคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
“มีข้อสังเกตว่า การชี้ว่าโครงการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้านี้เป็นโครงการของรัฐที่ถูกต้อง ศาลแยกสัญญาซื้อไฟฟ้า แผนPDP และผลกระทบต่อประชาชน ดังนั้นในอนาคตกรณีผลกระทบข้ามพรมแดนจากเขื่อนแม่น้ำโขง เรา อาจจะต้องพิจารณาผลกระทบของการซื้อไฟฟ้าที่อาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วประเทศ ที่ทำให้ค่าไฟแพงขึ้น ไม่ใช่เพียงผลกระทบต่อประชาชนริมน้ำโขงเท่านั้น” น.ส.รัตนมณี กล่าว
น.ส.เฉลิมศรี ประเสริฐศรี ทนายความกล่าวว่า การที่มองว่าจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพียง 3 พื้นที่ จำนวนคนแห่งละ 100. คน ทั้งๆที่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบมีถึง 8 จังหวัด นอกจากนี้ ปัจจุบันการให้ข้อมูลเผยแพร่ในเวปไซต์ก็ไม่น่าจะเพียงพอกับโครงการที่มีผลกระทบขนาดนี้
นางอ้อมบุญ ทิพย์สุนา1ในชาวบ้าน37 คนที่ฟ้องคดีกล่าวว่า ยอมรับผลการตัดสินของศาล และอย่างน้อยดีใจกว่าคราวที่แล้ว ที่ตุลาการแถลงคดีบอกว่า ข้อโต้แย้งของผู้ถูกฟ้อง บอกว่าโครงการนี้ไม่ใช่โครงการของรัฐ และอยู่นอกเขตอธิปไตย เราก็กังวลว่าขอบเขตอำนาจของศาลไปไม่ถึง
“วันนี้หนึ่งชัดเจนว่าเป็นโครงการของรัฐ และก็ส่งผลกระทบต่อพวกเรา แต่ประเด็นที่เราฟ้องเมื่อ 10 ปีที่แล้ว อาจจะไม่ชัดเจน ซึ่งปัจจุบันนี้ ผลกระทบชัดเจนแล้ว เราเชื่อมั่นว่า สิ่งที่ศาลปกครองสูงสุดชี้ในวันนี้ เป็นประโยชน์กับพวกเราด้วยในแง่ของกระบวนการ ขอบคุณที่ให้กำลังใจกันและกัน” นางอ้อมบุญ กล่าว
ขณะที่อำนาจ ไตรจักร์ ชาวบ้านจากจังหวัดนครพนม และผู้ร่วมฟ้อง กล่าวว่า ได้ทำใจมาจากบ้านแต่แรกแล้ว นอกจากนี้ ในอนาคตจะพยายามเก็บรวบรวมข้อมูลความเปลี่ยนแปลง และผลกระทบของแม่น้ำโขงจากการสร้างเขื่อน เพื่อปกป้องแม่น้ำ
“ศาลท่านให้อ่านคำพิพากษา เรายอมรับ แต่ว่าเราก็รู้ว่า ทิศทางแนวทางที่มันจะเกิดขึ้นต่อไป เราจะทำยังไง เราหนีไม่รอดอยู่แล้ว ในเมื่อผลกระทบแม่น้ำโขงที่มันเกิดขึ้น ท่วมหน้าแล้ง แห้งหน้าฝน แต่ยังไงเราก็ต้องอยู่กับมัน พยายามว่าทำยังไงเราถึงจะฟื้นฟูระบบนิเวศแม่น้ำโขงของเราที่เราเติบโตมากับมัน เราอาศัยว่าความยุติธรรมจะช่วยเรา แต่ในเมื่อท่านยังมองว่ามองต่างมุม เราก็ทำใจมาแต่บ้านแล้ว แต่ยังไงเราก็ต้องอยู่กับมัน”นายอำนาจ กล่าว