ชาวบ้านหนองกุดทิงเดือดร้อน เดินขบวนยื่นหนังสือคัดค้าน สรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย เกี่ยวกับร่างแผนการอนุรักษ์และคุ้มครองพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่ากุดทิง ต่อผู้ว่าฯ บึงกาฬ
.
เวลา 13.30 น. ของวันนี้ (14 มิถุนายน 2566) ณ ศาลากลางจังหวัดบึงกาฬ ชาวบ้าน 3 ตำบล (ตำบลตำบลบึงกาฬ ตำบลโคกก่อง และโนนสมบูรณ์) ในพื้นที่บริเวณหนองกุดทิง อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ กว่าสองร้อยคน ได้เดินขบวนเข้ามายังหน้าศาลากลางจังหวัดบึงกาฬ รวมตัวกันเพื่อรอเข้าพบและให้ข้อมูลข้อเท็จจริง พร้อมยื่นหนังสือต่อนายนฤชา โฆษาศิวิไลซ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ กรณีขอคัดค้านการประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่ากุดทิง ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 เรื่องสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้องและประชาชน เกี่ยวกับร่างแผนการอนุรักษ์และคุ้มครองพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่ากุดทิง พ.ศ. 2566-2575 ที่มีเนื้อหาและข้อมูลไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริง และเพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว
.
โดยในวันนี้มีนายนฤชา โฆษาศิวิไลซ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ ได้รอรับหนังสือคัดค้านด้วยตนเอง พร้อมทั้งมี พล.ต.ต. ตรีวิทย์ ศรีประภา ผู้บังคับการตํารวจภูธรบึงกาฬ ป้องกันจังหวัดบึงกาฬ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดบึงกาฬ ผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดบึงกาฬ เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมรับฟังข้อเท็จจริง ท่ามกลางบรรยายเป็นกันเองของผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ และเจ้าหน้าที่ ซึ่งได้ใช้วิธีการรับฟังปัญหาจากตัวแทนชาวบ้านและรับเรื่องหนังสือคัดค้านดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการเพื่อพิจารณาข้อเท็จจริง พร้อมทั้งแจ้งแนวทางดำเนินการในขั้นตอนต่อไป แก่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว ได้แสดงความพึงพอใจและขอบคุณต่อการดำเนินงานของจังหวัดบึงกาฬ พร้อมเดินทางกลับในเวลาต่อมา โดยไม่มีเหตุความรุนแรงและสถานการณ์ความตึงเครียดแต่อย่างใด
.
นางรัชนี สิทธิรัตน์ ตัวแทนชาวบ้านที่เดือดร้อน ให้ข้อมูลว่า การยื่นหนังสือขอคัดค้านสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้องและประชาชน เกี่ยวกับร่างแผนการอนุรักษ์และคุ้มครองพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่ากุดทิง พ.ศ. 2566-2575 ครั้งนี้มีเหตุผลเนื่องมาจาก ร่างแผนฯ ดังกล่าว มีการตั้งจุดสกัด มีเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนเยอะขึ้น มีตัวชี้วัดจากการจับกุมและดำเนินคดีที่มากขึ้น รวมถึงจะมีการปิดกั้นในบางพื้นที่ และจากการประชุมรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย เกี่ยวกับร่างแผนฯ นั้นมีการสรุปผลมติของประชาชนไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริง โดยระบุว่ามีประชาชนเห็นด้วยกับร่างแผนดังกล่าวมากกว่าประชาชนผู้ไม่เห็นด้วย ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วนั้นประชาชนส่วนใหญ่มีมติไม่เห็นด้วย เพราะขัดต่อการทำมาหากินของพี่น้องประชาชน และการพัฒนาพื้นที่ของท้องถิ่น จึงมานำเรียนผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว ตัวแทนชาวบ้านที่เดือดร้อน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา นายมงคลชัย สมอุดร รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เลขาของคณะกรรมพิจารณาแก้ไขปัญหาผลกระทบการประกาศเขตห้ามล่าหนองกุดทิง ได้ลงพื้นที่ติดตามและรับฟังข้อเท็จจริง และมอบหมายให้จังหวัดบึงกาฬ จัดทำรายงานสรุปผลปัญหา ข้อเท็จจริง และข้อเสนอแนะ ต่อคณะกรรมการ แต่ผลการประชุมล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน 2565 แจ้งว่ายังไม่ได้รับรายงานสรุปผลดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นความล่าช้าของการดำเนินการของจังหวัดบึงกาฬ
.
ทั้งนี้ นายนฤชา โฆษาศิวิไลซ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ ได้รับเรื่องคัดค้านและรับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าว จากตัวแทนชาวบ้าน พร้อมทั้งกล่าวว่า จากที่ได้รับฟังข้อสงสัยของพี่น้องประชาชน เรื่องสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้องและประชาชน เกี่ยวกับร่างแผนการอนุรักษ์และคุ้มครองพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่ากุดทิง พ.ศ. 2566-2575 ที่มีเนื้อหาและข้อมูลไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงนั้น จังหวัดบึงกาฬจะมีการหารือแนวทางเบื้องต้นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางออกให้เร็วที่สุด โดยแนวทางดำเนินการของประเด็นแรก คือ ให้มีการจัดทำประชามติใหม่ เรื่องสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้องและประชาชน เกี่ยวกับร่างแผนการอนุรักษ์และคุ้มครองพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่ากุดทิง โดยให้เป็นไปตามระเบียบและข้อบังคับทางกฎหมาย และแนวทางดำเนินการของประเด็นที่สอง คือการติดตามรายงานสรุปผลปัญหา ข้อเท็จจริง และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับผลกระทบการประกาศเขตห้ามล่าหนองกุดทิง โดยจะแต่งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ภายในระยะเวลา 30 วัน คือภายในวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 จะต้องมีข้อสรุปแจ้งให้แก่พี่น้องประชาชนได้ทราบโดยทั่วกันทั้งสองประเด็น และจะหาแนวทางการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวกับประชาชนได้ให้สามารถทำมาหากินเลี้ยงชีพต่อไปได้ โดยไม่ขัดต่อ พ.ร.บ. ข้อบังคับและกฎหมาย
.
ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบรายหนึ่ง เปิดเผยข้อมูลว่า ได้รับผลกระทบและมีความเดือดร้อนในการดำรงชีวิตหาเลี้ยงชีพเป็นอย่างมาก ต้องการให้มีการเพิกถอนเขตห้ามล่าสัตว์ป่ากุดทิงออกไป โดยเร่งด่วน ซึ่งกรณีที่ผ่านมาที่ได้รับผลกระทบก็คือ เจ้าหน้าที่ได้มีการติดป้ายประกาศไม่ให้ชาวบ้านเข้าไปในพื้นที่ พร้อมสร้างรั้วล้อมรอบหนองกุดทิงกว่า 2 เมตร ซึ่งเป็นพื้นที่แหล่งน้ำ สำหรับ ทำประมง การเกษตร เลี้ยงสัตว์ หาพืชผลของป่า เห็ดป่า เพื่อดำรงชีวิตมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ก็มีเจ้าหน้าที่มาห้ามไม่ให้เข้าไปในพื้นที่ หลังมีการประกาศให้เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ชาวบ้านก็เริ่มโดนห้ามไม่ให้เข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ และทราบมาว่าอาจจะถึงขั้นดำเนินคดีจับกุมกับชาวบ้านหากรุกล้ำเข้าไปยังพื้นที่ดังกล่าว จากเดิมที่เป็นที่สาธารณะประโยชน์ที่ชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้โดยไม่ต้องขออนุญาตใคร
.
สำหรับการประกาศให้หนองกุดทิง ต.โนนสมบูรณ์ อ.เมืองบึงกาฬ จ.บึงกาฬ เป็นพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่า 9,000 กว่าไร่ จากพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 17,000 ไร่ สืบเนื่องมาจากการประกาศให้หนองกุดทิงเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำโลก หรือ แรมซาร์ไซต์ ลำดับที่ 11 ของประเทศไทย มีความหลากหลายเชิงระบบนิเวศน์ จึงต้องการอนุรักษ์พื้นที่ดังกล่าว โดยมีการสำรวจและกำหนดพื้นที่ร่วมกับประชาชนที่ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าว ในช่วงที่น้ำลดลงมากที่สุด เพื่อให้เป็นพื้นที่ไม่ทับซ้อนกับพื้นที่ทำมาหากินของประชาชน เพื่อต้องการพัฒนาพื้นที่หนองกุดทิงเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงระบบนิเวศน์ อนุรักษ์นกหลากหลายสายพันธุ์ กว่า 40 ชนิดไว้เป็นจุดทัศนศึกษา ของนักเรียน นักศึกษา กลุ่มชมรมดูนก ต่อยอดการสร้างรายได้ให้ชุมชนพื้นที่จังหวัดบึงกาฬต่อไป