เบื้องลึก! สินค้าบัญชีนวัตกรรม ‘Water Purifying’ ป.ป.ช.บึงกาฬ ชงภาค 4 สอบ ‘อดีตผู้ว่าฯ-8 นายอำเภอ’ หลังพบโครงการนับร้อยแห่งมีปัญหา กำหนดขนาดชุมชนไม่ตรงตามแผนงาน พร้อมส่งเรื่องสำนักงบฯ ถอดจากบัญชีด้วย ด้านตัวแทนเอกชนแจงเป็นสินค้ามีประโยชน์ มีความตั้งใจช่วยเหลือชุมชน แต่มีปัญหากำลังการผลิตไม่เหมาะระบบประปาหมู่บ้านส่วนใหญ่ เผยทำเรื่องแจ้งขอถอนชื่อบัญชีนวัตกรรมเอง
กรณีสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบพบข้อมูลใหม่เกี่ยวกับงานจัดซื้อจัดจ้างสินค้าในบัญชีนวัตกรรมไทย ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงบประมาณ โดยพบว่าบริษัท อีเกิ้ล ดรีม จำกัด ที่เป็นเจ้าของสินค้าในบัญชีนวัตกรรมไทย รหัส 01020004 ระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำ (Water Purifying Unit) ปรากฏชื่อเป็นคู่สัญญา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หลายแห่ง โดยวิธีวิธีการเจาะจง ในช่วงปี 2563 -2564 จำนวน 49 โครงการ รวมวงเงิน 32.51 ล้านบาท เป็นบริษัทกลุ่มเดียวกับ บริษัท วอเทอร์ป๊อก จำกัด ที่ปรากฏชื่อเป็นคู่สัญญาติดตั้งระบบผลิตน้ำประปา ตามบัญชีนวัตกรรมไทย ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นับร้อยโครงการทั่วประเทศ นับตั้งแต่ช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา รวมวงเงินมูลค่างานตามสัญญาที่ได้รับไปกว่าพันล้านบาท โดย บริษัท วอเทอร์ป๊อก จำกัด ตัวแทนจำหน่ายระบบผลิตน้ำประปา หรือ ป๊อกแทงค์ (POG TANKS) ของ บริษัท คิดพร้อมทำ จำกัด ตามที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบไปก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ดี ในช่วงปลายเดือน พ.ค.2566 ที่ผ่านมา สำนักงบประมาณ ได้แจ้งเวียนหนังสือยกเลิกการขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำ (Water Purifying Unit) ของบริษัทอีเกิ้ล ดรีม จำกัด โดยไม่ระบุสาเหตุ
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับแจ้งข้อมูลจากแหล่งข่าวในจังหวัดบึงกาฬ ว่า ในช่วงเดือนม.ค.2564 สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดบึงกาฬ ร่วมกับ ผู้แทนสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 4 ชมรม STRONG – จิตพอเพียงต้านทุจริตจังหวัดบึงกาฬ กำนันผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชนตัวแทนแต่ละอำเภอ ลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการติดตั้งระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำ(Water Purifying Unit) ในราคา 615,000 บาท ราคานี้รวมค่าติดตั้งและค่าขนส่งแล้ว ที่ขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทย ไว้กับสำนักงบประมาณ หลังติดตั้งเสร็จตรวจรับส่งมอบงาน แต่มีปัญหาใช้งานจริงไม่ได้บางจุด ณ ศาลาประชาคมบ้านห้วยไม้ซอด ม.9 ตำบลปากคาด อำเภอปากคาด จังหวัดบึงกาฬ และลงพื้นที่โครงการตรวจสอบการติดตั้งอุปกรณ์และการใช้งาน หลังได้รับแจ้งเบาะแสจากชาวบ้าน ผ่านชมรม STRONG – จิตพอเพียงต้านทุจริตจังหวัดบึงกาฬ ให้ตรวจสอบโครงการดังกล่าว
ขณะที่ นายหิรัญ ไชยกันยา ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดบึงกาฬ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนขณะนั้นว่า การลงพื้นที่ในวันนี้เป็นการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างตามโครงการติดตั้งระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำ(Water Purifying Unit)ที่รวมค่าติดตั้งและค่าขนส่งแล้วในราคา 615,000 บาท ซึ่งจุดแรกที่ตรวจสอบหลังจากก่อสร้างเสร็จในราคา 612,000 บาท หลังจากร่วมกันตรวจสอบเบื้องต้นน่าเชื่อว่าจะไม่เป็นไปตามแบบแปลนแนบท้ายสัญญา ในส่วนของการก่อสร้าง ซึ่งขั้นตอนต่อไปก็จะตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างว่ามีการ ล็อคสเปก หรือไม่ และในส่วนของการตรวจรับเป็นไปตามระเบียบหรือไม่ เพื่อนำเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาเพื่อมีมติสั่งไต่สวนหรือไม่ ซึ่งในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬทั้ง 8 อำเภอมีการจัดทำโครงการนี้กว่า 110 แห่ง เป็นเงินกว่า 68 ล้านบาท ซึ่งจะต้องไล่ตรวจสอบทุกพื้นที่ และมีบางพื้นที่ยังไม่มีการเบิกจ่าย ก็ว่ากันไปในส่วนของขั้นตอนการจัดซื้อชอบหรือไม่ ส่วนที่มีการเบิกจ่ายแล้วมันจะเกิดความผิดในส่วนของการตรวจรับเท็จด้วย ซึ่งเป็น 2 ส่วนของการกระทำผิด
โดยการดำเนินงานโครงการดังกล่าวอยู่ในแผนงานโครงการบรรเทาปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม ในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ ตามนโยบายของรัฐบาล ผ่านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จัดทำคำของบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 โครงการเงินอุดหนุนเฉพาะกิจเงินอุดหนุนสำหรับการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคแก่ประชาชน(ก่อสร้างและปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพประปาหมู่บ้าน) โดยให้ท้องถิ่นทุกจังหวัด แจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เทศบาลตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบล ในพื้นที่ที่มีความประสงค์ขอรับการสนับสนุนงบประมาณ การก่อสร้างและปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพประปาหมู่บ้าน โดยระบุ อปท.สามารถใช้บัญชีนวัตกรรมไทยของสำนักงบประมาณ ที่ขึ้นบัญชีไว้เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาในการจัดหาสินค้าหรือบริการนวัตกรรมไทยได้ และจากการตรวจสอบพบว่ามีบริษัทเอกชนเพียงรายเดียวที่ขึ้นบัญชีไว้ คือ ระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำ(Water Purifying Unit) จากสมาร์ทเพียวคอมแพ็ค (SMART PURE COMPACT) ในราคาพร้อมติดตั้ง 615,000 บาท โดยระบุคุณลักษณะเป็นระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำสมาร์ทเพียวคอมแพ็ค มีกำลังการผลิต 4 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง เหมาะกับชุมชนขนาดไม่เกิน 70 ครัวเรือน ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าชุมชนที่เกินกว่า 70 ครัวเรือน เช่น บ้านห้วยไม้ซอด ประสบปัญหาน้ำไม่พอใช้ ต้องกลับไปใช้ระบบน้ำประปาแบบเดิม ทำให้ระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำแบบใหม่ถูกทิ้งไม่ได้ใช้งาน (อ้างอิงข่าวส่วนนี้จาก https://nbtworld.prd.go.th/th/news/detail/TCATG210128152713185)
นายหิรัญ ไชยกันยา
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ได้ติดต่อไปยัง นายหิรัญ ไชยกันยา ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงเพิ่มเติม
นายหิรัญ ไชยกันยา ยืนยันว่า ในการตรวจสอบโครงการติดตั้งระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำ(Water Purifying Unit) ช่วงที่ตนดำรงตำแหน่งเป็น ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดบึงกาฬ นั้น ได้สรุปรายงานเสนอต่อสำนักงาน ป.ป.ช.ภาค 4 เพื่อตั้งไต่สวนเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องไปแล้ว แบ่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬในขณะนั้น นายอำเภอ 8 อำเภอ และเจ้าหน้าที่สำนักงบประมาณที่เกี่ยวข้อง แต่ยังไม่ทราบความคืบหน้าหลังจากนั้น ว่าเป็นอย่างไร
ส่วนปัญหาที่พบในการสอบสวนโครงการฯ ในพื้นที่บึงกาฬ คือ การจ่ายใช้เงินงบประมาณไม่ถูกต้อง โครงการกำหนดให้รองรับชุมชนขนาด 250 ครัวเรือน แต่ระบบที่ไปดำเนินการรองรับชุมชนขนาดแค่ 70 กว่าครัวเรือนเท่านั้น ไม่ตรงตามแผนงานที่กำหนดไว้ ทำให้งานที่ก่อสร้างไว้ใช้ประโยชน์ได้น้อยหรือไม่ได้ใช้ประโยชน์เลย ถือเป็นความเสียหาย ส่วนเอกชนคู่สัญญาก็เป็นเอกชนรายเดียวทั้งหมด
เมื่อถามว่า ตามนโยบายรัฐบาล สินค้าที่ขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทย จะได้รับสิทธิให้จัดซื้อจัดจ้างกับหน่วยงานรัฐ โดยใช้วิธีการเจาะจง ได้ นายหิรัญ ตอบว่า กรณีนี้เป็นหนึ่งในประเด็นที่เราตั้งข้อสังเกตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าประเภทนี้ ว่า การกำหนดเงื่อนไขดังกล่าว จะถือเป็นการเปิดช่องให้เอกชนรายใดรายหนึ่ง ได้รับประโยชน์ในการแข่งขันเสนอราคางานต่อหน่วยงานของรัฐหรือไม่
อย่างไรก็ดี ในการสอบสวนเบื้องต้นมุ่งไปที่การดำเนินของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นหลัก ยังไม่ได้มีการขยายผลไปในส่วนของเอกชนแต่อย่างใด
“เกี่ยวกับสินค้า ระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำ(Water Purifying Unit) ภายหลังจากที่ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดบึงกาฬ ได้สรุปผลการสอบสวนในส่วนคดีอาญาแล้ว ได้มีการส่งเรื่องไปยัง สำนักงบประมาณ เพื่อให้ถอดชื่อสินค้าจากบัญชีนวัตกรรมไทย ด้วย เข้าใจว่า ปัจจุบันสำนักงบประมาณ ได้มีการถอดชื่อสินค้าตัวนี้ออกมาบัญชีไปแล้ว” นายหิรัญระบุ
ขณะที่ น.ส.อรวรรณ พวงคำ กรรมการบริษัทอีเกิ้ลดรีม จำกัด และบริษัทวอเทอร์ป๊อก จำกัด ชี้แจงกับสำนักข่าวอิศราว่า ระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำ Water Purifying Unit เป็นหนึ่งในผลงานที่บริษัทอีเกิ้ลดีมจำกัดได้คิดค้นขึ้น มีวัตถุประสงค์ที่จะแก้ไขปัญหาน้ำสะอาดเร่งด่วนให้กับชุมชน โดยผลิตระบบกรองน้ำขนาดเล็กที่มีอุปกรณ์ครบทุกอย่างตั้งแต่การเติมอากาศการเติมสารเคมี แต่มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 4 คิว ต่อชั่วโมงเท่านั้น
“ภายหลังจากการขึ้นบัญชีนวัตกรรม บริษัทฯ พบว่าระบบประปาหมู่บ้านส่วนใหญ่จะมี กำลังการผลิตที่ 7 และ 10 คิว ต่อชั่วโมง จึงทำให้บริษัทฯเห็นว่าระบบข้างต้น ที่มีกำลังการผลิตน้อยกว่า จะไม่เป็นประโยชน์ และไม่สามารถเชื่อมต่อกับระบบที่มีอยู่เดิมแล้วได้ดีเท่าที่ควร ดังนั้นเพื่อประโยชน์สูงสุดของภาครัฐ บริษัทจึงได้ยกเลิกบัญชีนวัตกรรมนี้ไปเนื่องจากกำลังการผลิตไม่สอดคล้องกับบริบท ในหมวดของประปาหมู่บ้าน”น.ส.อรวรรณกล่าว
ส่วนความเกี่ยวกับระหว่างบริษัทอีเกิ้ลดรีม จำกัด กับบริษัทวอเทอร์ป๊อก จำกัด นั้น น.ส.อรวรรณ ระบุว่า บริษัท อีเกิ้ลดรีม จำกัด เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นการเชื่อมระหว่างนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย หลายแห่งเพื่อที่จะสร้างผลิตภัณฑ์หลายรูปแบบ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ให้กับชุมชน ในทุกด้าน บริษัทอีเกิ้ลดรีม ได้ร่วมสนับสนุนงานวิจัย หลายโครงการ กับทั้งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยธัญบุรี ทั้งเรื่องของเมมเบรนและระบบ PEC เพื่อนำงานวิจัยมาใช้ประโยชน์ให้ได้จริงกับชุมชน อาทิเช่น การกำจัดสนิม การกำจัดน้ำกระด้าง การทำน้ำทะเลให้เป็นน้ำดื่มโดยวิธีโฟโต้อิเลคโตรคะตาไลติก ซึ่งเป็นกระบวนการผลิตน้ำดื่มแบบใหม่
อย่างไรก็ดี ในประเด็นที่ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดบึงกาฬ เข้าตรวจสอบการดำเนินงาน ระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำ(Water Purifying Unit) นั้น น.ส.อรวรรณ พวงคำ ยังไม่มีการชี้แจงข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ แต่อย่างใด