เยาวชนเกษตร / สุจิต เมืองสุข
แม้โรงเรียนจะตั้งอยู่บนพื้นที่ที่เรียกได้เต็มปากว่าเป็นเขตเมือง เพราะสถานที่ตั้งอยู่เขตอำเภอเมือง และไม่ไกลจากตัวเมืองมากนัก แต่หากประมวลระยะทางและความสะดวกของการเดินทางไปยังโรงเรียนแห่งนี้ ผู้ที่ประสบด้วยตนเองเท่านั้นที่ทราบ
คำว่า เมือง ไม่ได้ทำให้โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านหนองตะไก้ ตำบลโป่งเปือย อำเภอเมือง จังหวัดบึงกาฬ มีความเจริญเทียบเท่าโรงเรียนแห่งอื่นได้เลย เพราะที่นี่มีตำรวจตระเวนชายแดน ทำหน้าที่เป็น “ครู” อยู่เพียง 7 คน ซึ่งมีหน้าที่ดูแลนักเรียนนับจากชั้นเตรียมประถมถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 50 คน จากบ้านหนองตะไก้ บ้านสมัยสำราญ และบ้านหนองบัวบาน
นักเรียนมีน้อย จำนวนครูไม่มาก แต่โรงเรียนแห่งนี้จัดระบบการเรียนภาคเกษตรให้กับนักเรียนได้ดีเยี่ยม
ร.ต.ท.สุริยัน บุตรเจริญ ครูใหญ่โรงเรียนบ้านหนองตะไก้ บอกว่า โรงเรียนให้ความสำคัญกับการส่งเสริมภาคการเกษตรกับเด็กมาก เพราะเป็นพื้นฐานการดำรงชีวิตให้กับเด็กได้เป็นอย่างดี เด็กสามารถนำกลับไปใช้ที่บ้าน ช่วยลดภาระครอบครัว ทั้งอนาคตสามารถนำไปประกอบเป็นอาชีพได้อีกด้วย
“โรงเรียนมีพื้นที่ทั้งหมด 30 ไร่ การเกษตรทั้งหมดเป็นโครงการพระราชดำริ ในสมเด็จพระเทพฯ จึงแบ่งพื้นที่สำหรับทำการเกษตรเกือบ 1 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งหมด ทั้งยังแบ่งสัดส่วนการทำการเกษตรเป็นโครงการพระราชดำริ และโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันอีกด้วย”
กิจกรรมด้านการเกษตรของนักเรียนโรงเรียนบ้านหนองตะไก้ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มพืช และกลุ่มสัตว์ สำหรับกลุ่มพืชส่วนใหญ่ปลูกพืชผัก อาทิ กวางตุ้ง คะน้า พริก ตำลึง ฟัก ผักหวาน ชะอม เห็ดฟาง เป็นต้น ไม่นับรวมไม้ผลที่แยกปลูกอีกส่วน เช่น กล้วย มะม่วง มะละกอ ชมพู่ เป็นต้น
ในกลุ่มสัตว์ แบ่งพื้นที่กว่า 4 ไร่ ให้กับการประมง โดยขุดบ่อดินแล้วปล่อยปลาที่ได้รับการสนับสนุนพันธุ์ปลา จากสำนักงานประมงจังหวัดกว่า 40,000 ตัว ลงในบ่อ ให้หากินตามธรรมชาติ เพราะปลาที่นำมาเลี้ยงเป็นปลากินพืช ได้แก่ ปลาตะเพียน ปลานิล และปลายี่สก นอกเหนือจากนั้นเป็นกิจกรรมเลี้ยงปลาดุกในบ่อปูน เลี้ยงกบในบ่อปูน และสัตว์ปีก ประกอบด้วย ไก่ไข่ ไก่พื้นเมือง เป็ดเทศ และห่าน
“เฉพาะการเลี้ยงไก่ไข่ ตอนนี้เป็นรุ่นที่ 8 จำนวน 100 ตัว นับจากเริ่มก่อตั้งโรงเรียน รายได้จากการขายไข่ไก่นำมาเข้ากองทุนไก่ไข่ รวมทั้งพืชผักและผลผลิตจากสัตว์อื่น หลังจากนำมารับประทานในโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันไม่หมด จะนำไปจำหน่าย แล้วนำเงินเก็บเข้าร้านค้าสหกรณ์ของโรงเรียน หรือผลไม้บางชนิดใช้ประกอบการเรียนการสอนได้ เช่น มะม่วงสุก ซึ่งเมื่อได้ผลผลิตจำนวนมาก รับประทานเป็นผลไม้ไม่หมด จะนำมากวน การแปรรูปลักษณะนี้นำมาใช้สอนนักเรียนรู้จักการแปรรูปมะม่วงได้อีกด้วย”
ร.ต.ท.สุริยัน เล่าว่า ผลผลิตจากการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ ตามโครงการพระราชดำริ ในสมเด็จพระเทพฯ ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารกลางวันสำหรับเด็กมากถึง 40 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน ซึ่งเด็กนักเรียนทุกคนจะรับประทานอาหารกลางวันฟรีที่โรงเรียน ส่วนแม่ครัว คือ ผู้ปกครองของเด็กนักเรียนที่หมุนเวียนมาทำครัวช่วยเหลือโรงเรียน มีการจัดเวรมาประกอบอาหารทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์
ทุกครั้งหลังรับประทานอาหารกลางวัน “นม” เป็นอาหารเสริมที่ขาดไม่ได้สำหรับนักเรียน แต่โรงเรียนแห่งนี้ไม่ได้รับนมกล่องเช่นเดียวกับโรงเรียนรัฐบาลแห่งอื่น แต่ใช้ “นมผง” ที่ได้รับพระราชทานตามโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน สำหรับชงให้นักเรียนทุกระดับชั้นดื่มเป็นอาหารเสริม
ครูใหญ่แห่งโรงเรียนบ้านหนองตะไก้ บอกด้วยว่า การชงนมผงเป็นขั้นตอนที่สำคัญ ดังนั้น แม่บ้านผู้ทำหน้าที่ชงนมผงต้องทำความเข้าใจในขั้นตอนการชงนมให้ดีก่อน โดยเริ่มจากการต้มน้ำให้เดือด จากนั้นทิ้งน้ำให้อุ่น อุณหภูมิประมาณ 30-40 องศาเซลเซียส ก่อนนำมาชงกับนมผง ซึ่งการใช้นมผง ทำให้โรงเรียนหมดกังวลเรื่องนมเสียหรือนมบูดการแบ่งกลุ่มดูแลการเกษตรทั้งพืชและสัตว์เป็นสิ่งสำคัญ นักเรียนชั้นเตรียมประถม และชั้นประถมปีที่ 1 ยังเป็นชั้นเรียนที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเข้าร่วมกิจกรรมการเกษตร เรื่องนี้ครูใหญ่ของโรงเรียนให้เหตุผลว่า“แปลงปลูกพืชและการเลี้ยงสัตว์ จะมอบความรับผิดชอบให้กับเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ก่อน แล้วไล่ลำดับชั้นลงมา ส่วนเด็กเล็กและเด็กประถมปีที่ 1 ถือว่ายังเล็ก ให้เรียนรู้การดูแลตัวเองให้ได้ก่อน ยกเว้นหากนักเรียนที่จัดไว้ไม่เพียงพอ อาจพิจารณาเลือกเด็กที่มีแววความรับผิดชอบสูงเริ่มลงแปลงเกษตร ในแต่ละกิจกรรมของการปลูกพืชจะมอบหมายให้เด็กนักเรียนดูแลแปลงละ 3 คน ในตอนเช้าก่อนเข้าแถว นักเรียนจะต้องรดน้ำ พรวนดิน และให้ปุ๋ยตามโอกาสที่เหมาะสม ส่วนเวลาเย็นหลังเลิกเรียน ต้องลงแปลงเพื่อตรวจดูความเรียบร้อยและรดน้ำอีกครั้ง กิจกรรมเหล่านี้นักเรียนจะปฏิบัติในวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดของโรงเรียนด้วย ส่วนการเลี้ยงสัตว์จะแบ่งนักเรียนกิจกรรมละ 2 คน ให้อาหารเวลาเช้าและเย็น เวลาเดียวกับการลงแปลงผัก และทุกกิจกรรมจะมีครูพี่เลี้ยงดูแลกิจกรรมละ 1 คน”ร.ต.ท.สุริยัน บอกว่า โรงเรียนพร้อมส่งเสริมกิจกรรมด้านการเกษตรควบคู่ไปกับการจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ เพื่อให้เด็กนำเงินมาฝาก และมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ โดยการถือหุ้น เริ่มต้นการจัดตั้งราคาหุ้นละ 5 บาท ภายในสหกรณ์มีไข่ไก่ และผักจากแปลงเกษตรของโรงเรียนมาวางจำหน่าย รวมถึงเครื่องปรุงรส ทำให้นักเรียนมีรายได้และรู้จักการบริหารจัดการที่เป็นระบบ
เด็กชายฉัตรมงคล แสงประดิษฐ์ หรือน้องเก้า วัย 12 ปี นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เป็นหนึ่งในนักเรียนที่ดูแลกิจกรรมการเกษตร ปลูกผัก และเลี้ยงสัตว์ เล่าว่า ตนและเพื่อนรับผิดชอบแปลงผักแป้น และไก่ไข่ เห็นว่าการรับผิดชอบแปลงเกษตรที่โรงเรียนมอบหมายเป็นการดี ส่งเสริมให้มีความรับผิดชอบ มีน้ำใจ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพราะบางครั้งเพื่อนนักเรียนติดธุระฝากดูแลแปลงติดกันก็ทำให้ และการทำการเกษตรช่วยให้ได้เรียนรู้ เพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
ด้านเด็กหญิงศิริณณา ไชยแก้ว หรือน้องป๊อป นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 บอกว่า รู้สึกรักในอาชีพเกษตรและการทำการเกษตรมาก เพราะที่บ้านทั้งพ่อและแม่ทำเกษตรกรรม อีกทั้งที่บ้านยังปลูกพืชหลายชนิด สามารถนำความรู้ทางการเกษตรที่ได้รับจากโรงเรียนไปใช้ที่บ้านได้ด้วย
น้องป๊อป บอกด้วยว่า ประโยชน์สูงสุดของการทำการเกษตรสำหรับน้องป๊อป คือ ความรู้เรื่องการดูแลแปลงผัก ซึ่งน้องป๊อปนำกลับไปดูแลแปลงผักที่บ้านที่ปลูกไว้ ได้แก่ ผักคะน้า ผักบุ้ง พริก และการเพาะเห็ด และสิ่งที่ได้นอกเหนือจากความรู้ คือ ความประหยัด เพราะการปลูกผักต่างๆ สามารถนำมา
รับประทานได้ในครอบครัว ทำให้ไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งนอกเหนือจากความประหยัดแล้ว หากผักที่ปลูกได้ผลผลิตมากยังสามารถนำไปจำหน่ายเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวอีกด้วยขอความรู้หรือสอบถามเพิ่มเติม การจัดระบบเพื่อทำการเกษตรของโรงเรียน ได้ที่ ร.ต.ท.สุริยัน บุตรเจริญ โทร.080-0110234 หรือ ให้ความช่วยเหลือด้านอุปกรณ์การเรียนการสอนได้ที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านหนองตะไก้ ตำบลโป่งเปือย อำเภอเมือง จังหวัดบึงกาฬ
โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน
ตำรวจตระเวนชายแดนเป็นตำรวจหน่วยหนึ่ง ในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่การปฏิบัติหน้าที่มีความแตกต่างกับตำรวจหน่วยอื่นอยู่หลายประการ ต้องตระเวนตรวจพื้นที่ชายแดน ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบ จากการตรวจตรารักษาความสงบเรียบร้อย ตามแนวชายแดนป่าเขาทุรกันดาร ทำให้พบเห็นประชาชน ผู้เดือนร้อนเกี่ยวกับการครองชีพและโรคภัยไข้เจ็บจำนวนมาก และยังพบว่าตามหมู่บ้านต่าง ๆ มีเด็กซึ่งอยู่ในวัยเรียนจำนวนมากไม่ได้เรียนหนังสือ เนื่องจากหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการศึกษาไม่สามารถเข้าไปจัดตั้งโรงเรียนได้ เพราะเป็นพื้นที่ซึ่งเป็นป่าเขาทุรกันดาร อีกทั้งบางพื้นที่มีสถานการณ์ก่อการร้าย
ประมาณ ปี 2498 หมู่ลาดตระเวนได้เข้าไปในหมู่บ้านชาวเขาแห่งหนึ่งชาวเขาเห็นป็นคนแปลกหน้าไม่ไว้ใจ ไม่ยอมพบปะพูดจาด้วย ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถติดต่อสื่อสารทำความเข้าใจกันได้ คือภาษาและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ตำรวจตระเวนชายแดนได้เล็งเห็นว่าสิ่งเหล่านี้ หากปล่อยทิ้งไว้จะไม่เป็นผลดีต่อประเทศชาติ จึงได้คิดที่จะจัดตั้งโรงเรียนขึ้นสอนหนังสือให้แก่ชาวเขา พื่อให้เขาเหล่านั้นได้รู้ภาษาไทย จะได้ติดต่อทำความเข้าใจกันได้สะดวก
ทำให้โรงเรียนแห่งแรกได้รับการก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2499 ที่หมู่บ้านดอนหมาวัน อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เปิดทำการสอนเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2499 ใช้ชื่อว่า “โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบำรุงที่ 1”
ระยะเริ่มแรกอุปกรณ์การเรียน ได้รับแจกจากผู้มีจิตเมตตาบริจาคผ่านตำรวจตระเวนชายแดน ทั้งยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงสนพระทัยเกี่ยวกับชาวเขา จึงได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์และเงินที่มีผู้บริจาคถวายโดยเสด็จพระราชกุศลนำไปจัดตั้งโรงเรียนและจากการที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้โดยเสด็จพระราชดำเนินตามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเยี่ยมเยียนราษฎรได้ทราบว่า เยาวชนในชนบทส่วนใหญ่ประสบกับปัญหาทุพโภชนาการ ปัญหาด้านสุขภาพอนามัย ซึ่งจะมีผลเชื่อมโยงไปสู่ปัญหาด้านการศึกษา เพราะเมื่อเด็กเยาวชนมี สุขภาพไม่ดี ก็ไม่สามารถจะเข้ารับการศึกษาได้ดี จึงมีพระราชดำริให้จัดทำโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน และโครงการส่งเสริมคุณภาพการศึกษาขึ้น โดยให้เริ่มดำเนินการในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และมีพระราชประสงค์ช่วยเด็กนักเรียนโดยพระราชทานทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่เรียนดี มีสติปัญญาที่จะศึกษาต่อไป ให้ได้รับการศึกษาต่อจนถึงขั้นสูงสุดตามระดับสติปัญญาความสามารถและความเหมาะสม ส่วนผู้ที่ไม่สามารถเข้ารับการศึกษาต่อไปได้ รวมทั้งพวกที่ไม่มีสัญชาติ ก็มีพระราชประสงค์ให้ฝึกอาชีพที่สามารถใช้ได้ในท้องถิ่นนั้น’>