ทำไมศาลาที่อยู่บนหินก้อนนั้นดูสวยและแปลกตาจังนะ ?
ผมเคยมีคำถามนี้ในความคิดเมื่อครั้งยังเด็ก ตอนที่ได้อ่านนิตยสารแนวธรรมะของคุณย่าบนชั้นหนังสือของบ้านสมัยเรียนชั้นประถมศึกษา มีเรื่องหนึ่งที่สะดุดตาสะดุดใจผมเป็นที่สุด คือเรื่องราวของพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ แห่งวัดภูทอก ในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ ในตอนนั้นผมจำได้ว่ารู้สึกตื่นตาตื่นใจมาก ที่ได้อ่านเรื่องราวที่น่าอัศจรรย์ใจ ได้เห็นภาพที่สวยงามของบันไดไม้ที่ถูกสร้างชิดหน้าผาเวียนรอบเขาสูงขึ้นไปเรื่อยๆเป็นชั้นๆถึง 7 ชั้น
มีภาพหนึ่งในภาพประกอบเรื่อง เป็นภาพของศาลาเล็กๆตั้งอยู่บนก้อนหินที่แยกตัวออกไปจากตัวภูทอก ดูช่างน่าประหลาดใจในลักษณะการเกิดขึ้นของหิน รวมถึงน่าประหลาดใจในแรงจูงใจการบรรจงสร้างศาลาขึ้นตรงจุดนั้นได้อย่างเหมาะเจาะลงตัว ซึ่งผมได้แต่เก็บเป็นคำถามไว้ในใจในตอนนั้น
และแล้วคำถามในใจในครั้งนั้นก็ได้รับคำตอบในเวลาต่อมาว่า ศาลาหลังนั้นมีชื่อแสนไพเราะว่า พุทธวิหาร ซึ่งมีความหมายว่า สถานที่พักผ่อนของผู้ตรัสรู้ เป็นสถานที่เพื่อการเก็บพระบรมสารีริกธาตุของพระปัจเจกพุทธเจ้า เป็นสถานที่ที่พระอริยะเจ้าหลายองค์มาพักผ่อนและละสังขารที่นี่
ขออธิบายขยายความถึงลักษณะและที่มาของพุทธวิหารแห่งนี้สักนิดนะครับ พุทธวิหาร มีลักษณะสัณฐานแปลกตา มีลักษณะเป็นก้อนหินก้อนใหญ่หนึ่งก้อน แยกตัวออกมาจากตัวภูเขาภูทอก ตั้งอยู่เดี่ยวๆโดยไม่ยึดติดกับส่วนใดของภูเขา เหมือนหินก้อนนี้มีการฉีกแยกออกมาจากภูทอกแต่ยังไม่ร่วงลงพื้นล่างตามแรงโน้มถ่วงของโลก คล้ายๆยังลอยเดี่ยวๆอยู่ในอากาศ มีหลายคนแสดงความเห็นว่า หินก้อนนี้มีลักษณะคล้ายกับพระธาตุอินทร์แขวนที่ประเทศพม่า
ช่วงหลังได้มีการสร้างสะพานไม้เป็นทางเดินเชื่อมระหว่างก้อนหินนี้กับตัวภูทอก แล้วสร้างศาลาเล็กๆขึ้นหนึ่งหลัง เพื่อใช้ประโยชน์ในการเป็นสถานที่ศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระภิกษุสงฆ์ในตอนแรกๆของการเปิดใช้งาน และต่อมาได้เปิดให้ผู้คนเข้าชมและกราบไหว้สักการะพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ ณ จุดนี้ และตัวผมเองก็มาเยือนภูทอกและพุทธวิหารแห่งนี้เสมอเมื่อมีโอกาส
วันนี้เป็นอีกวันดีที่ผมได้มีโอกาสมาชมความงามของภูทอกอีกครั้ง แต่เพราะต้องทำธุระหลายอย่างก่อนมา เลยทำให้มาถึงภูทอกช่วงบ่ายแก่เข้าไปแล้ว ผมจึงรีบตัดสินใจขึ้นไปกราบพระพุทธรูปที่ศาลาชั้น 5 แล้วเร่งเดินเลียบเขาไปทางเดินด้านซ้ายมือ ตรงไปยังพุทธวิหารเพื่อจะกราบพระ ชมความงามของทิวทัศน์ตรงจุดนั้น รวมทั้งเก็บภาพสวยๆในช่วงตะวันจะคล้อยตกดิน
ผมใช้เวลาไม่นานก็มาถึงพุทธวิหาร พบว่าวันนี้มีคนมาเที่ยวชมจุดนี้จำนวนมาก และต่างคนก็ต่างกำลังเก็บภาพเป็นที่ระลึก มีทั้งแบบเซลฟี่ถ่ายตนเองและแบบสลับกันถ่ายในหมู่คณะ ผมพยายามยืนเลี่ยงๆ หรือบางทีต้องเดินหลบฉาก เปิดพื้นที่ให้เพื่อนนักท่องเที่ยวได้ถ่ายภาพจนพอใจ ให้ภาพในมุมสวยนั้น ไม่มีผมเผลอติดเข้าไปในเฟรม ( ฮา )
ในการมาภูทอกวันนี้ ผมมีความตั้งใจว่าจะมาเก็บภาพด้วยกล้อง DSLR ที่ผมมักพกติดตัวไปเที่ยวในที่ต่างๆด้วยเสมอ นั่นคือเจ้านิกกี้ Nikon d90 และคิตตี้เลนส์ ระยะ18-55 ม.ม. วันนี้มีพกขาตั้งกล้องมาด้วย เพราะคิดว่าถ้าใช้ขาตั้งกล้องน่าจะสะดวกขึ้นในการหาระยะและมุมภาพที่เหมาะสมในการถ่ายภาพด้วยตัวเอง เพียงแค่ตั้งค่าที่ตัวกล้องให้สามารถลั่นชัตเตอร์ได้ด้วยรีโมทคอนโทรล ซึ่งผมสั่งการใช้งานฟังค์ชั่นผ่านแอพรีโมทในมือถือ
ผมมีเวลาครู่ใหญ่ๆในการเก็บภาพสะพานหินและลานหินหน้าพุทธวิหาร ก่อนจะเข้าไปกราบพระพุทธรูปและรูปหล่อเหมือนจริงของพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ในตัววิหาร ก่อนจะถือโอกาสนั่งพักเหนื่อยที่ตรงนั้นไปในตัวด้วยเลย
มีสายลมเย็นพัดเอื่อยๆ กระทบผิวหน้าผิวกายแผ่วเบา ทำให้เย็นสดชื่นและช่วยคลายเหนื่อยได้อย่างน่าประหลาด ผมยืนชมความเขียวขจีของสวนยางพาราที่ด้านตะวันออกของภูทอก ที่ทอดยาวออกไปสุดสายตา ก่อนที่จะเปลี่ยนท่าทางค่อยๆหย่อนตัวลงนั่งที่พื้นวิหารอีกครั้ง และคราวนี้หันหน้าเข้ารับแสงอาทิตย์ยามเย็นที่ค่อยๆเริ่มอ่อนแรงลง พร้อมกับเล็งมองหามุมสวยเพื่อเก็บภาพที่งดงามในยามนี้
หลังจากที่เล็งหามุมอยู่พักใหญ่ ผมก็ลุกเดินออกมายืนชมความสวยงามของภูทอกที่ระเบียงไม้ด้านหน้าพุทธวิหารอีกครั้ง ซึ่งภาพตรงหน้าตอนนี้เป็นภาพภูทอกที่ถูกแสงสีส้มอ่อนละมุนของฟ้ายามใกล้โพล้เพล้ฉาบเคลือบไว้ให้เกิดภาพสวยในโทนอบอุ่นละมุนตา ” ต้องเป็นเวลาแบบนี้สินะ ที่เหมาะเหลือเกินที่จะเก็บภาพความประทับใจในแสงงามนี้ไว้ไปฝากเพื่อนๆที่ยังไม่ได้มีโอกาสมาชม ” ผมแอบคิดเองคนเดียวเบาๆในใจ
“สมบูรณ์แบบแล้วสำหรับการมาภูทอกวันนี้” ผมสรุปกับตัวเองในห้วงคำนึงส่งท้ายกิจกรรมการมาเยือนภูทอกและพุทธวิหารในวันนี้ เป็นบทสรุปของความสุข เป็นบทสรุปของความอิ่มของทั้งหัวใจและสายตา สมบูรณ์ตามเจตนารมณ์ที่ตั้งใจมา
ผมเดินกลับช้าๆตามเส้นทางเดิม ทางวัดจะปิดประตูทางขึ้นในเวลา 17.00 น. เป็นการอำลาภูทอก พร้อมๆกับให้คำมั่นสัญญาในใจกับตัวเองไว้ว่า จะกลับมากราบพระทำบุญที่ภูทอกอีกในโอกาสต่อไปอีกอย่างแน่นอน
เรื่องและภาพประกอบโดย ณ ปราณ ราชบุตร