หากใครมีโอกาสไปเยือนจังหวัดบึงกาฬเพียงสักครั้ง นั่นจะไม่ใช่แค่ครั้งเดียว เพราะในความคำนึง เราจะนึกถึงบึงกาฬอยู่เสมอ นั่นเพราะความมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร และที่สำคัญ ยัง “สดใหม่” ให้เราได้สัมผัสวิถีแห่งธรรมชาติและผู้คนอันงดงาม
เมื่อไม่นานมานี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้เปิดตัวเส้นทางท่องเที่ยวเชิงอาหาร I-san Coolinary สร้างประสบการณ์ใหม่ในการเดินทางสู่ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นำเสนอประสบการณ์เที่ยวกินอย่างมีสไตล์ เข้าถึงวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์พร้อมไอเดียสร้างสรรค์ แนะนำเส้นทางน้องใหม่ “จังหวัดบึงกาฬ” ด้วยเสน่ห์แห่งธรรมชาติและวัฒนธรรม จากวิถีชุมชนอันเป็นเอกลักษณ์ ภายใต้แนวคิด “ฟินรสสดใหม่ ไฉไลริมฝั่งโขง”
โดยในทริปนี้ คณะสำรวจเส้นทางจาก ททท. พร้อมด้วยคณะสื่อมวลชน และผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ได้ร่วมเดินทางเป็นระยะเวลา 3 วัน 2 คืน และนี่คือจุดที่ตอกย้ำสโลแกน “ฟินรสสดใหม่ ไฉไลริมฝั่งโขง” ที่เรานำมาฝาก
วัดที่มีทำเลที่ตั้งสวยงาม-แปลกตา
บึงกาฬเป็นจังหวัดทางตอนเหนือสุดของภาคอีสาน และมีจุดที่ลึกที่สุดของแม่น้ำโขง หรือ “สะดือแม่น้ำโขง” ที่ว่ากันว่ามีความลึกแบบที่ไม่สามารถระบุว่า หรือมากกว่า 200 เมตรเลยทีเดียว บริเวณจุดชมสะดือแม่น้ำโขงอยู่ที่ “วัดอาฮงศิลาวาส” ซึ่งมีความโดดเด่นของทำเลที่ตั้งอยู่ริมฝั่งโขง ในจุดที่สามารถมองเห็นความงดงามของฝั่ง สปป.ลาวได้อย่างใกล้ชิด ถือเป็นอีกจุดท่องเที่ยวที่มีทัศนียภาพที่สวยงาม
เช่นเดียวกับ อ.ปากคาด ซึ่งมีวัด “วัดสว่างอารมณ์” หรือ “วัดถ้ำศรีธน” อ.ปากคาด ซึ่งมีความแปลกตา จากบริเวณวัดที่ตั้งอยู่บนเนินหิน บนโขดหินมีอุโบสถ ทรงระฆังคว่ำ ที่มองเห็นวิวได้อย่างเต็มตา ภายในบริเวณวัดยังมีก้อนหินขนาดยักษ์กระจายตัวอยู่ ซึ่งระบุว่าเป็นหินที่มีอายุนับล้านปี โดยมีกลุ่มหิน 3 ก้อนที่มีเรื่องเล่าจากตำนานของ “ท้าวศรีธน” ที่มาฝึกวิชาในสถานที่แห่งนี้ และมีอาคมแกร่งกล้าจนสามารถง้าวดาบฟันลงบนก้อนกินใหญ่จนแตกเป็น 3 เสี่ยง
ต้นแบบหมู่บ้านเข้มแข็ง-ชุมชนมีชีวิต
ความคิดสร้างสรรค์กับความร่วมมือของชุมชน ส่งผลให้หมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้มีความโดดเด่นเป็นอย่างมาก เราอาจจะเคยพบย่านเมืองเก่าหรือชุมชนที่มีผลงานกราฟฟิตี้อวดสายตา แต่ในชุมชนแห่งนี้ เลือกเรื่องราวของผลงานกราฟฟิตี้จากพญานาค ซึ่งเป็นความเชื่อความศรัทธาของชาวอีสาน โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ริมฝั่งโขง และแม้ว่าที่หมู่บ้านขี้เหล็กใหญ่จะไม่ได้มีพื้นที่ติดแม่น้ำโขง แต่ความรักความศรัทธาของพวกเขา ก็สื่อสารออกมาเป็น “กราฟฟิตี้พญานาค” ด้วยความร่วมมือของน้องๆ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบังมาร่วมโชว์ฝีมือ ทำให้หมู่บ้านแห่งนี้ เต็มไปด้วยกราฟฟิตี้ที่สื่อความหมายของพญานาค ขณะที่บ้านเกิดของ ฟู้ดสไตลิสต์ชั้นนำของเมืองไทย “คุณขาบ-สุทธิพงษ์ สุริยะ” ก็ได้จัดทำเป็น “พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต” ด้วยการนำข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้านมาจัดแสดง และยังมีคุณพ่อของคุณขาบอาศัยอยู่ และมีผู้คนหมุนเวียนมาทำกิจกรรมอยู่เสมอ หนึ่งในกิจกรรมที่ไม่ควรพลาดคือการเข้ามารับประทานอาหารสไตล์คนบึงกาฬ จากวัตถุดิบที่ปลูกเอง และหาได้ในพื้นที่ ที่นี่ยังมีจักรยานบริการสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะปั่นชมความน่ารักของหมู่บ้านอีกด้วย
พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต อ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ เปิดบริการทุกวัน 09.00 – 17.00 น. (รับประทานอาหารและกิจกรรมต้องติดต่อล่วงหน้า โทร. 08-6229-7626)
หัวใจคนบึงกาฬ กับความยั่งยืน
ร้านอาหารแห่งความรักและความใส่ใจ โดย “แป๋ว ศศิวิมล บุญแท้” สาวชาวบึงกาฬที่รักในถิ่นฐานบ้านเกิด และภูมิใจในการถ่ายทอดความรักจากคุณแม่ ด้วยฝีมือในการทำอาหารของร้าน “ยืนยั่ง ยั่งยืน” ซึ่งตั้งอยู่ใน อ.พรเจริญ จ.บึงกาฬ แม้จะใช้เวลาเดินทางจากตัวเมืองราว 40 กิโลเมตร แต่มาถึงก็คุ้มค่า เพราะตัวร้านมีความร่มรื่น สวยงาม และทางร้านก็รับวัตถุดิบต่างๆ จากชาวบ้านมาปรุงเป็นอาหารให้ทุกคนได้อร่อยกันด้วย เมนูต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นสูตรจากคุณแม่ อาทิ ปลาทอดสมุนไพร ไก่นึ่งใบมะขาม แกงหน่อไม้หวาน ที่นี่ยังสนับสนุนและส่งเสริมอาชีพของชาวบ้านด้วยการนำผ้าทอจากชาวบ้านในบึงกาฬ มาวางจำหน่ายอีกด้วย
(ร้านยืนยั่ง ยั่งยืน ซอยข้างที่ว่าการอำเภอพรเจริญ จ.บึงกาฬ เปิดบริการทุกวัน 10.00-18.00 น. โทร. 08-6222-7672)
ล่องแพกินอาหาร บึงกาฬก็มี
ที่หนองเลิง อ.พรเจริญ มีบริการล่องแพชมความงามของธรรมชาติ นักท่องเที่ยวในพื้นที่นิยมมาล่องแพเล่นน้ำคลายร้อนกันที่นี่ โดยมีเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด ใครไม่สวมชูชีพหรือเล่นน้ำออกไปไกลจากแพ ก็จะมีประกาศเตือนให้รู้กันถ้วนหน้า บริเวณริมบึงหนองเลิง มีร้านค้าให้บริการอาหารและเครื่องดื่มให้บริการ แต่หากมากันเป็นหมู่คณะ ก็ติดต่อให้ทางชุมชนดูแลจัดการเมนูต่างๆ ได้ ไฮไลน์เด็ดคือ เมี่ยงปลาเผา และเมนูพิเศษที่ทำจากสายบัว ไม่ว่าจะเป็นแกงกะทิสายบัว ส้มตำ หรือ ยำสายบัว โดยบึงแห่งนี้จะมีดอกบัวบานสะพรั่งในช่วงปลายปี
(การเข้าชมเป็นหมู่คณะติดต่อ คุณยุทธ ประธานกลุ่มแพหนองเลิง 09- 3894-5580)
อลังการของจริง ภูทอก-ภูสิงห์
และนี่คือไฮไลน์สำคัญของการมาท่องเที่ยวบึงกาฬ หากคุณเป็นคนที่ชื่นชอบในธรรมชาติและความสงบ บึงกาฬก็พร้อมเสิร์ฟความสด (ชื่น) เป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ของบึงกาฬ ไม่แพ้เรื่องอาหาร
บึงกาฬเป็นจังหวัดที่คงความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติอยู่มาก โดยเฉพาะป่าเขาที่มีความอลังการและน่าทึ่ง เช่น ที่ภูทอก อ.ศรีวิไล สถานปฏิบัติธรรมที่บุกเบิกโดย “พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ และได้ความร่วมแรงร่วมใจของพระสงฆ์และชาวบ้าน ช่วยกันสร้างสะพานไม้ขึ้นสู่แนวเขา พร้อมการก่อสร้างทางไม้เลียบผา จำนวน 7 ชั้น แค่คนเดินขึ้นไปก็นับว่าเหนื่อยหอบแล้ว ผู้ที่ช่วยกันสร้างคงต้องลงทุนลงแรงกันอย่างมหาศาล ทราบมาว่าต้องใช้เวลาถึง 5 ปีในการก่อสร้าง ก่อนที่นักท่องเที่ยวจะสามารถเดินขึ้นได้อย่างสะดวกสบายแบบนี้ ดังนั้นจึงต้องตระหนักไว้ให้มั่นว่า สถานที่แห่งนี้คือสถานปฏิบัติธรรม จึงต้องสำรวมกาย วาใจ พร้อมการแต่งกายที่เหมาะสมในการเที่ยวชม
อีกจุดคือ ภูสิงห์ สถานที่ชมความงดงามมุมสูงที่หลายคนอาจจะคุ้นตากับภาพของ ปลาวาฬ พ่อ แม่ ลูก หรือ หินสามวาฬ ซึ่งสามารถเข้าชมความงามได้ตั้งแต่เช้าตรู่ เมื่อขึ้นไปแล้วยังมีจุดชมวิวอีกหลายจุด อาทิ จุดชมวิวถ้ำฤาษี หินช้าง ส้างร้อยบ่อ ซึ่งการเดินทางขึ้นภูสิงห์ จำเป็นต้องใช้รถบริการของชุมชน ซึ่งสามาถติดต่อได้หน้าที่ทำการได้ในทุกๆ เช้า
(ภูทอกเปิดให้เข้าชมเวลา 08.00 – 18.00 น. ท่องเที่ยวภูสิงห์ได้ตั้งแต่เช้า-เย็น .โทร.08-8563-8852)
ผ้าหมักโคลนดารานาที ผ้าดีจากโคลนพญานาค
หากพูดถึงของดีของเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของบึงกาฬ หนึ่งในนั้นคือ “ผ้าหมักโคลนดารานาคี” บ้านสะง้อ ต.หอคำ อ.เมือง จ.บึงกาฬ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่พลิกชีวิตของคนทอผ้าให้ฟื้นคืน เพราะเดิมทีชาวบึงกาฬนิยมทอผ้าขาวม้ากันมากจนล้นตลาดและไม่คุ้มค่ากับรายได้ ทำให้หลายรายจำต้องทิ้งอาชีพนี้ไป แต่ที่บ้านของแม่สมพร ได้ฉุกคิดว่า เพราะเหตุใดผ้าที่ชาวนาสวมใส่จึงมีความนุ่ม จึงลองนำฝ้ายไปหมักโคลน จนพบว่า ให้ความนุ่ม ลื่น เย็น และมีน้ำหนัก ซึ่งโคลนนั้น เป็นโคลนจากแม่น้ำโขง บริเวณที่เคยมีบั้งไฟพญานาค จึงเป็นที่มาของเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร จากนั้นก็ได้นำกระบวนการย้อมสีจากธรรมชาติเข้ามาใช้ ทำให้เกิดผ้าที่มีความสวยงาม ได้ราคา พร้อมการออกแบบลวดลายและรูปแบบใหม่ๆ และไม่ลืมที่จะชักชวนชาวบ้านมาช่วยกันสืบสานให้ผ้าหมักโคลนเป็นของดีของเด่นของบึงกาฬ อันยากที่ใครจะมาเลียนแบบ เพราะนอกจากโคลนในพื้นที่แล้ว ยังต้องอาศัยอุณหภูมิที่พอเหมาะ แบบชาวบ้านสะง้อ ริมโขงบึงกาฬเท่านั้น
(ติดต่อเข้าชม แม่สมพร โทร : 0956647134 , 0844082865)
“บ้านหอคำ” ชุมชนสุดชิลล์ริมฝั่งโขง
หากจะกินลมชมวิวริมโขงให้ชื่นใจ ที่บ้านหอคำน่าจะเป็นอีกจุดหนึ่งที่ต้องไม่พลาด เพราะที่นี่คือจุดที่เราสามารถมองเห็นความเวิ้งว้างกว้างไกลของแม่น้ำโขง พร้อมทิวทัศน์ของเทือกเขาฝั่ง สปป.ลาว ได้งดงามราวภาพเขียน และที่นี่ยังมีกลุ่มแม่บ้านที่เข้มแข็ง ร่วมกันทำโฮมสเตย์เปิดรับนักท่องเที่ยว พร้อมอาหารท้องถิ่นจากแม่น้ำโขง และปลาจากแหล่งน้ำในหมู่บ้าน ทีเด็ดคือ “ปลาร้าทอดราดพริก” ซึ่งอาจจะทำให้คนที่กินปลาร้าไม่เป็นเริ่มหลงรักปลาร้าเข้าให้ พร้อมเมนูปลาเพื่อสุขภาพ อย่างลาบปลาแม่น้ำโขง ปลาช่อนแดดเดียวทอด ต้มยำปลา หากมาในตอนเย็น สามารถติดต่อขอลงเรือชมความงามของลำน้ำโขงยามพระอาทิตย์ตกดินกันได้ และที่พลาดไม่ได้อีกอย่างคือ อุดหนุนผลิตภัณฑ์จากลูกหยียักษ์ ของดีของชาวบ้านหอคำ
(ติดต่อ แม่ประเนียร ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านหอคำ 08-5007-2460 ล่องเรือชมโขง โทร. 09-3056-0784)
อาหารในโรงแรม ใครว่าไม่อร่อย
คนไทยอาจจะไม่คุ้นเคยกับรสชาติของอาหารในโรงแรมหรู ซึ่งต้องเฉลี่ยรสชาติให้ถูกปากของผู้มาเยือนจากทั่วโลก บ้างก็ต้องอิงรสสัมผัสของชาวต่างชาติเป็นสำคัญ แต่ที่นี่เป็นห้องอาหารในโรงแรมที่นอกจากจะมีการออกแบบเมนูพื้นบ้านออกมาได้อย่างสวยงามแล้ว ยังมีรสชาติเด็ด จนลืมไปเลยว่านี่คืออาหารในโรงแรม สำหรับคนที่เคยมาเยือนบึงกาฬ อาจจะพอรู้ว่า โรงแรมเดอะวัน เป็นโรงแรมมาตรฐานขนาดใหญ่ของบึงกาฬ และที่นี่ก็มีร้านอาหารโรงแรมที่แอบซ่อนความน่าสนใจไว้มาก ด้วยเมนูอีสานฟิวชั่น ที่มาในรสชาติเด็ด อาทิ ปอเปี๊ยะลาบหมูทอด ส้มตำต้นอ่อนทานตะวัน ปลานิลนึ่งแจ่ว เป็นอีกมุมอร่อยที่หลายคนอาจจะมองข้าม
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราได้มาเยือนบึงกาฬ แต่ทุกครั้งที่ได้มาเยือนก็สัมผัสถึงความเรียบง่าย ค่อยเป็นค่อยไป พร้อมธรรมชาติที่ยังอลังการอยู่เสมอ เป็นอีกจังหวัดในความคำนึง อยากให้ทุกคนได้คิดถึง “บึงกาฬ” เหมือนกับเรา
ขอขอบคุณ : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
สอบถามรายละเอียดการท่องเที่ยวจังหวัดบึงกาฬได้ที่ ททท.สำนักงานอุดรธานี (พื้นที่รับผิดชอบ อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ) ถ.มุขมนตรี ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี โทร.0-4232-5406-7 โทรสาร. 0-4232-5408 E-mail : tatudon@tat.or.th