ผ้าหมักโคลน ไม่ใช่เรื่องใหม่หรือเรื่องแปลก เป็นภูมิปัญญาเก่าแก่ของชาวบ้านที่ปฏิบัติกันมายาวนานเพื่อดูแลรักษาให้เสื้อผ้าที่ใช้มีความทนทาน อายุการใช้งานนาน มีความนุ่ม สีสดเข้ม
แนวทางนี้กลับมาได้รับความสนใจแล้วถูกนำมาใช้มากขึ้น โดยเฉพาะในวงการทอและย้อมผ้าพื้นถิ่นภายหลังสังคมปฏิเสธการใช้สารเคมี
กลุ่มทอผ้าฝ้ายพื้นเมืองบ้านสะง้อ เลขที่ 91 หมู่ที่ 2 บ้านสะง้อ ตำบลหอคำ อำเภอเมือง จังหวัดบึงกาฬ มีผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายเป็นงานผ้าขาวม้าทอมือที่ย้อมด้วยสีธรรมชาติจากเปลือกไม้ที่มีในชุมชน แล้วนำไปหมักโคลนแม่น้ำโขงช่วยทำให้ผ้านุ่ม สีเข้มสวย มีความทนทาน
คุณสุพัตรา แสงกองมี หรือ คุณแยม กล่าวถึงที่มาของกลุ่มว่า ทำเป็นธุรกิจเข้าปีที่ 6 แต่ความจริงแล้วหัตถกรรมทอผ้าเป็นงานที่ชาวบ้านในพื้นที่ทำกันเป็นประจำ ทอใช้บ้าง ทอขายเล็กน้อยบ้าง แต่เมื่อคุณยายของคุณแยมเห็นว่าทำแล้วมีรายได้เกิดขึ้นจึงริเริ่มก่อตั้งกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านสะง้อขึ้นเมื่อราวปี 2523 ทอผ้าพื้นเมืองที่เกิดจากการย้อมด้วยครามหรือลายผ้าขาวม้าอย่างที่เห็นวางขายทั่วไป
จนเมื่อปี 2558 คุณสมพร แสงกองมี หรือ แม่สมพร ที่มีประสบการณ์ตัดเย็บผ้าในโรงงานมานานหลายปีได้มารับช่วงจากคุณยายพร้อมสานต่องานทอผ้าของกลุ่มเพื่อนำออกขาย แต่มองว่าสินค้าผ้าที่ตัดเย็บยังขาดจุดเด่นและเอกลักษณ์เฉพาะที่จะดึงดูดคนซื้อ จึงให้ลูกสาวคือคุณแยมเข้ามาช่วยงาน
คุณแยมวิเคราะห์และประเมินผลงานของกลุ่มเพื่อหาสาเหตุที่สินค้าได้รับความนิยมไม่มากพบว่า มีจุดอ่อนด้านการออกแบบลวดลาย สีสัน แต่สำคัญไปกว่านั้นคือคุณภาพเนื้อผ้าแข็งสวมใส่ไม่สบาย ดังนั้น จึงต้องหาทางแก้ไขปัญหาทันที
ใช้โคลนจากริมโขงหมักผ้าจึงนุ่ม สีสวยเข้ม
ชาวบ้านในชุมชนต่างร่วมกันหาทางแก้ไขเรื่องคุณภาพผ้าที่แข็งกระด้าง ลองหลายวิธีแต่ไม่ได้ผล กระทั่งพบว่าผู้สูงอายุมักนำโคลนมาหมักผ้าเพื่อให้นุ่มและมีความทนทานใช้งานได้นาน เนื่องจากเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิม จึงได้ลองใช้โคลนจากหลายแหล่งมาหมักก็ยังไม่พอใจ จนได้ลองนำโคลนจากแม่น้ำโขงซึ่งบ้านสะง้อเป็นชุมชนที่ใกล้แม่น้ำโขงมากที่สุดมาใช้แล้วพบว่าได้ผลเป็นที่พอใจ ข้อดีของการใช้โคลนหมักผ้าย้อมไม่เพียงช่วยให้ผ้ามีความนุ่มมากขึ้น แต่ยังช่วยเพิ่มความเข้มของสีผ้าให้มากขึ้นด้วย
เพิ่มลวดลายให้มีความทันสมัย
ด้านการออกแบบจากเดิมที่ชาวบ้านคุ้นเคยกับการทอผ้าขาวม้าด้วยลวดลายแนวเดิมเป็นวิถีอยู่ การสร้างผลิตภัณฑ์ขึ้นมาใหม่จำเป็นต้องแสวงหารูปแบบให้ทันสมัยกับสินค้าทุกชิ้น แต่ยังคงรักษาเอกลักษณ์เฉพาะของภูมิปัญญาท้องถิ่นไว้ เรียกได้ว่าเป็นการผสมผสานทั้งแบบเก่าและใหม่ เพียงแต่ดัดแปลงประยุกต์รูปแบบลวดลายให้มีความทันสมัย ดูสวยงามแปลกไปจากแนวเดิมเพื่อสร้างจุดต่างที่น่าสนใจให้กับลูกค้ามากขึ้น
“นอกจากนั้น บางคอลเล็กชั่นใช้เส้นลายผ้าขาวม้าเพียงเส้นเดียวผสมลงในลายแบบใหม่ทำให้เกิดคุณค่ามีความแปลกตาเป็นลายทอที่ไม่ซ้ำกับสินค้าผ้าทอชนิดอื่น ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้าหมักโคลน “ดารานาคี” จึงมีลักษณะสวมใส่สบายไม่รัดรูป ใส่ได้ทุกเพศวัย ให้ความสำคัญกับความละเอียด การตัดเย็บมีคุณภาพ ใช้วัสดุที่ได้มาตรฐาน”
การทอผ้าและกระบวนการย้อมเน้นวัสดุธรรมชาติ
กลุ่มทอผ้าฝ้ายพื้นเมืองบ้านสะง้อ ยังคงรักษาเอกลักษณ์กระบวนการทอและการย้อมผ้าแบบเดิมไว้ ทั้งทางด้านวิธีและอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ เส้นใยผ้านำมาจาก 2 แหล่ง คือที่มีอยู่ในพื้นที่ของชาวบ้านประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์นำมาผลิตเป็นงานผ้าขายเกรดพรีเมี่ยมกับเส้นใยฝ้ายอีกส่วนที่สั่งซื้อมาจากโรงงานประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์แล้วนำมาย้อมเอง ปั่นเอง โดยใช้กี่แบบดั้งเดิมเป็นอุปกรณ์การทอ
จัดเตรียมวัตถุดิบและวัสดุทางธรรมชาติที่ใช้ย้อม ไม่ว่าจะเป็นเส้นใย โคลน เปลือกไม้ สำหรับเปลือกไม้ใช้เปลือกไม้จากต้นหมากค้อเขียวหรือผลไม้พันปี ต้นชมพู่ป่า และแก่นคูนที่รับซื้อจากชาวบ้านที่ตัดไม้เพื่อใช้ทำถ่านโดยลอกเปลือกไม้ออกนำมาขายให้กลุ่ม ส่วนโคลนจะตักจากแม่น้ำโขง ต้องเป็นโคลนใหม่ถึงจะได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ดังนั้น ถ้าตักมาแล้วต้องใช้ให้หมด ถ้าเหลือจะไม่เก็บไว้ โคลนที่ตักมาต้องผ่านการกรองก่อนนำมาใช้หมัก
ให้สับเปลือกไม้เป็นชิ้นเล็กแล้วนำไปต้มน้ำในอัตราส่วน 1 : 1 ต้มไปจนกว่าจะมีสีเข้มหรือใช้เวลาประมาณครึ่งวัน เมื่อได้น้ำต้มเปลือกไม้แล้วให้นำมากรองนำเศษไม้ออกเพื่อไปใช้ทำปุ๋ย
คุณแยม ชี้ว่า กระบวนการต้มสีจากวัสดุธรรมชาติที่กลุ่มทำอยู่มีความต่างจากที่อื่นคือเป็นการย้อมผ้าในน้ำอุ่น โดยนำเส้นใยฝ้ายที่ล้างสะอาดใส่ลงแช่ในน้ำเปลือกไม้เป็นน้ำอุ่น แช่ไว้ 1 คืน เสร็จแล้วจึงนำไปแช่ในโคลน ระหว่างแช่ในโคลนต้องหมั่นขยี้เส้นใยเพื่อให้สัมผัสกับน้ำโคลนทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 20 นาที หรือถ้าต้องการให้นุ่มมากทิ้งไว้สักครึ่งวัน พอนำเส้นใยผ้าออกมาบิดน้ำโคลนจะพบว่าเส้นใยมีสีเข้มขึ้นกว่าเดิมก่อนหมักโคลน แล้วให้นำไปล้างน้ำเปล่าอีกครั้งก่อนนำไปตากให้แห้งในโรงย้อม เมื่อแห้งแล้วจึงส่งไปยังแผนกทอต่อไป
การทอผ้ามีหลายลายที่คิดค้น แต่ลายหลักที่ใช้เป็นประจำ ได้แก่ ลายสองฝั่งโขง ลายดารานาคี ลายปทุมทิพย์ และลายรุ่งโรจน์ ส่วนลายอื่นมักจะประยุกต์จากลายประจำผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเพื่อให้มีความหลากหลาย
ผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้าหมักโคลนที่ขายอยู่ ได้แก่ 1. ผ้าผืน แบ่งเป็นผ้าขาวม้า ผ้าคลุมไหล่ที่มีขนาดกว้าง 80 เซนติเมตร ยาว 200 เซนติเมตร กับผ้าพันคอขนาดกว้าง 50 เซนติเมตร ยาว 200 เซนติเมตร 2. งานเสื้อผ้า แบ่งเป็นเสื้อ-กางเกง ชุดเดรส กระโปรง เสื้อคลุม และ 3. หมวก กระเป๋าสะพาย และของชำร่วย
กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านสะง้อ มีแม่สมพรทำหน้าที่ประธานกลุ่ม มีสมาชิกประจำจำนวน 35 คน กับสมาชิกเครือข่ายอีกเป็นจำนวนมากทั่วบึงกาฬ ถ้านับจำนวนทั้งหมดประมาณ 70 กว่ากี่ กลุ่มนี้รวบรวมสาวโรงงานตัดเย็บผ้าที่มีประสบการณ์มายาวนานในโรงงานใหญ่หลายแห่งมาร่วมงานเพื่อต้องการยกระดับการตัดเย็บผ้าให้เป็นมืออาชีพได้มาตรฐาน จนได้รับรางวัลด้านการออกแบบจากกรมพัฒนาชุมชน อีกทั้งยังได้รับมาตรฐาน 5 ดาวทางด้านคุณภาพเนื้อผ้าประจำจังหวัดบึงกาฬ
ผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้าหมักโคลน “ดารานาคี” มีขายตามงานแสดงสินค้าโดยเฉพาะงานใหญ่ที่จัดในกรุงเทพฯ แล้วยังขายหน้าร้านของกลุ่มที่ตั้งอยู่ที่ชุมชนเพราะเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วย เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวนิยมเข้ามาชมกระบวนการทอผ้าและเลือกซื้อสินค้า นอกจากนั้น ยังมีเครือข่ายสั่งสินค้าไปขายที่อื่นด้วย และขายทางออนไลน์ด้วย
จุดเด่นและจุดแข็งของกลุ่มจะมุ่งเน้นการทอผ้าขาวม้าที่เป็นเอกลักษณ์ของพื้นถิ่น โดยยึดแนวทางธรรมชาติเป็นหลัก ทั้งวัสดุย้อมอย่างเปลือกไม้และโคลนแม่น้ำโขง ต้องการบอกเล่าเรื่องราวของผลิตภัณฑ์ที่ใช้ธรรมชาติ ขณะเดียวกัน รายได้ส่วนหนึ่งยังกลับไปสู่กลุ่มในเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิต การสร้างอาชีพให้กับผู้สูงอายุ และทุนการศึกษา
คุณแยม มองว่า ตลาดผ้าพื้นเมืองยังได้รับความนิยมอยู่อย่างต่อเนื่องทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะงานผ้าทอมือที่มีการตอบรับเป็นอย่างดี จึงเป็นความน่ายินดีที่ชาวบ้านมีรายได้เกิดขึ้น จึงอยากให้ทุกท่านช่วยสนับสนุนกิจกรรมทอผ้าจากกลุ่มชาวบ้านไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใดก็ตาม เพราะแรงซื้อจะลงไปยังชุมชนทุกแห่ง เป็นการสร้างรายได้จะช่วยให้ชุมชนเข้มแข็ง แล้วพร้อมแสดงศักยภาพที่มีอยู่ออกมาในรูปของผลิตภัณฑ์ เมื่อแต่ละชุมชนมีรายได้เข้ามาจะสร้างความสุขให้กับครัวเรือน
สอบถามรายละเอียดการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้าหมักโคลนได้ที่ คุณสุพัตรา แสงกองมี หรือ คุณแยม โทรศัพท์ 083-357-3456 FB : ดารานาคี