มีข้อมูลที่เป็นภาพรวม จากเกษตรจังหวัดบึงกาฬ (ต.ค.2555) ระบุว่า เนื้อที่ถือครองทางการเกษตรมีจำนวนทั้งสิ้น 1,509,912 ไร่ แยกเป็นที่นา 670,497 ไร่ คิดเป็นร้อยละ42.38 เป็นที่ยางพารา 676,910 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 42.79 เป็นที่พืชไร่ 44,383 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 2.81 เป็นที่ไม้ผล 44,383 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 2.81 เป็นที่ไม้ยืนต้น 137,618 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 9.11 เป็นที่ผัก 8,302 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.52
หากดูข้อมูล จะพบว่า เนื้อที่นามีจำนวนน้อยกว่ายางพาราอยู่ร้อยละ 0.41 และข้อมูลชุดเดียวกันยังบอกต่ออีกว่าพืชเศรษฐกิจที่สำคัญมาเป็นอันดับหนึ่งของบึงกาฬ คือ ยางพารา แล้วระบุว่าแนวโน้มการผลิตข้าวเริ่มลดลง
เพียงเท่านี้ก็พอจะส่งสัญญาณแบบฟันธงได้เลยว่า ในอนาคตที่ไม่ไกลนักยางพาราอาจเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนน่าจะแทนที่ข้าว และพืชชนิดอื่น
ความร้อนแรงของยางพาราในบึงกาฬ ที่ดูจะหยุดและฉุดไม่อยู่ จนทุกวันนี้ทุกบ้าน ทุกครัวเรือน ต่างแห่ปลูกกันอย่างเต็มที่ บางครัวเรือนมีหลายรุ่นทั้งที่ปลูกมานานและกำลังเริ่มปลูกรุ่นใหม่ บางครัวเรือนปลูกมาระยะที่เพิ่งเริ่มเปิดหน้ากรีดได้ ในส่วนด้านราคายังไม่ทรงตัว มีขึ้นลงตามสภาวะการณ์
ท่ามกลางความวุ่นวายทั้งหลายทั้งปวงเกี่ยวกับการปลูกยางพาราในจังหวัดบึงกาฬ เคยมีใครสงสัยบ้างหรือไม่ว่า ยางต้นแรกที่โผล่ขึ้นบนผืนดินในจังหวัดบึงกาฬ อยู่ที่ไหน และมีความเป็นมาอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ทีมงานเทคโนโลยีชาวบ้านไม่รอช้า รีบเสาะแสวงหาความกระจ่างทันที
บุคคลที่พอจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับยางต้นแรกในบึงกาฬได้เป็นอย่างดี คือ คุณสมหมาย แก้วมณี เจ้าพนักงานการเกษตรชำนาญงาน สำนักงานเกษตรอำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ เพราะเขาอยู่ในเหตุการณ์ขณะนั้น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านไปพบแต่ไม่ใครรู้จักหน้าตาของต้นยางพารามาก่อน
ทำให้หลายคนต่างถกเถียงกันว่าใช่หรือไม่
ขณะเดียวกัน คุณสมหมาย ซึ่งเป็นคนจังหวัดนครศรีธรรมราช และมาปฏิบัติหน้าที่ประจำสำนักงานเกษตรอำเภอโซ่พิสัย เมื่อ ปี 2525 ระหว่างที่ได้ออกปฏิบัติงานราชการท้องที่ในหมู่บ้านหนองแวง ตำบลถ้าเจริญ อำเภอโซ่พิสัย มีชาวบ้านและผู้ใหญ่บ้านได้ชักชวนเขาไปดูต้นยางพาราต้นนี้ เพื่อพิสูจน์ทราบว่าเป็นต้นยางพาราจริงหรือไม่ เพราะชาวบ้านเองก็ไม่รู้จักมาก่อนเพียงแต่ ได้ยินแต่คำบอกเล่า
หลังจากคุณสมหมาย พบว่าเป็นต้นยางพาราจริง จึงประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านรู้จัก ซึ่งเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเกษตรฯ ยังคิดต่ออีกว่า ยางพาราในเขตอำเภอโซ่พิสัยและอำเภอข้างเคียงสามารถปลูกได้แน่ พิสูจน์ได้จากต้นยางต้นนี้ นับจากนั้นเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเกษตรฯ คนเดิม จึงเริ่มส่งเสริมการปลูกยางพาราให้แก่ชาวบ้านที่สนใจในเขตอำเภอโซ่พิสัย มาตั้งแต่ปี 2525 ถึงปัจจุบัน
หลวงพ่อธุดงค์ไปพัทลุง พบชาวบ้านปลูกยาง
สนใจ นำเมล็ดมาปลูก ที่หนองคาย
คุณสมหมาย บอกว่า จากการสอบถามชาวบ้านในหมู่บ้านหนองแวงเกี่ยวกับความเป็นมาของยางต้นนี้ได้ความว่าเมื่อ ปี 2503 มีพระธุดงค์รูปหนึ่ง ชื่อ หลวงพ่อคำสิงห์ วรธรรมโม เป็นชาวอีสาน (แต่ไม่ปรากฏภูมิลำเนาว่าอยู่จังหวัดไหน) นำมาปลูก
แต่จากคำบอกเล่าของ คุณยายเต็ม นาของ ซึ่งหลวงพ่อเล่าให้คุณยายฟังว่า ท่านได้เดินทางไปธุดงค์ที่จังหวัดพัทลุง เป็นเวลานานหลายปี เห็นชาวบ้านจังหวัดพัทลุง ล้วนมีอาชีพทำสวนยาง เห็นว่า มีขั้นตอนการปลูกง่ายๆ คือ ถางป่า จุดไฟเผาป่า (ทำไร่เลื่อนลอยในสมัยนั้น) จากนั้นใช้ไม้สักเป็นหลุม และนำเมล็ดยางพาราหยอดลงหลุมจำนวน หลุมละ 2-3 เมล็ด เมื่องอกแล้วจึงถอนให้เหลือต้นที่สมบูรณ์เพียงต้นเดียว
หลวงพ่อบอกคุณยายเต็มว่า ท่านได้ศึกษาการปลูกยางพาราประมาณ 2-3 ปี มีความคิดว่าภาคอีสาน มีการทำไร่เลื่อนลอยเหมือนกัน เช่น ปลูกข้าวไร่และปลูกปอ (ในสมัยนั้น) จึงคิดว่าน่าจะเอาพันธุ์ยางพาราไปปลูกในภาคอีสานบ้าง เพื่อเป็นการทดลอง ได้ผลหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
นำเมล็ดยางกลับหนองคาย หาทำเลเหมาะเหมือนพัทลุง
จากนั้นจึงได้เก็บเมล็ดยางพารา (พันธุ์พื้นเมือง) จากจังหวัดพัทลุงประมาณ 100 เมล็ด ใส่ย่ามแล้วออกเดินทางจากจังหวัดพัทลุง มุ่งหน้ามาจังหวัดหนองคายทันที
เมื่อมาถึงจังหวัดหนองคาย ได้ลงเรือมาขึ้นท่าเรือที่อำเภอโพนพิสัย และได้เดินธุดงค์ไปตามป่าตามเขา ท่านใช้เวลาเดินธุดงค์จากอำเภอโพนพิสัย ถึงบ้านหนองพันทา เป็นเวลา 10 วัน เพราะสามารถเดินธุดงค์ได้เฉพาะในเวลากลางวันเท่านั้น เนื่องจากมีสภาพเป็นป่าทึบ มีสัตว์ป่า เช่น เสือ ช้าง และสัตว์ร้ายอื่นๆ มากมาย ดังนั้น เทิ้อถึงเวลา 15 นาฬิกา ก็ต้องหยุดธุดงค์ จนไปพบหมู่บ้านหนองพันทา ตำบลหนองพันทา อำเภอโพนพิสัย (สมัยนั้น) และปัจจุบันคืออำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ
หมู่บ้านหนองแวง พื้นที่เหมาะ ปลูกยางต้นแรก
ครั้นมาถึงบ้านหนองพันทา ได้เดินทางเข้าไปในป่าดงศรีชมภูซึ่งเป็นป่าทึบอีก และที่นั่นมีสัตว์มากมายเช่นกัน จนไปพบหมู่บ้านหนึ่งชื่อบ้านหนองแวง ตำบลศรีชมภู อำเภอโซ่พิสัย จังหวัดหนองคาย (สมัยนั้น) และปัจจุบันหมู่บ้านนี้ อยู่ตำบลถ้ำเจริญ อำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ
เมื่อหลวงพ่อคำสิงห์มาถึงหมู่บ้านนี้ ท่านเห็นคุณยายเต็ม กำลังปลูกข้าวไร่ จึงบอกกับคุณยายเต็มว่า ที่ดินของโยมเป็นดินดี คล้ายกับดินที่จังหวัดพัทลุง หลวงพ่อได้นำเมล็ดยางพารามาจากจังหวัดพัทลุงมาปลูก เพื่อทดลองให้ลูกหลานได้ดู จะได้ผลหรือไม่นั้น ไม่สำคัญ
100 เมล็ด รอดเพียง 5 เมล็ด ภายหลังที่คุณยายเต็ม ตอบตกลง และให้ปลูกแซมในแปลงข้าวไร่ของคุณยาย โดยหลวงพ่อบอกวิธีปลูก ซึ่งเป็นวิธีปลูกแบบง่ายๆ ใช้ไม้สักเป็นหลุม แล้วเอาเมล็ดยางหยอดลงไปในหลุมจำนวนหลุมละ 2 เมล็ด ประมาณ 25 หลุม แต่ปรากฏว่าเมล็ดยางงอกเพียง 5 ต้นเท่านั้น (คาดว่าเมล็ดน่าจะเสียหายระหว่างการเดินทางเพราะต้องใช้เวลาเดินทางเป็นเวลานาน)หลังจากปลูกยางแล้ว หลวงพ่อคำสิงห์ วรธรรมโม ได้ออกเดินธุดงค์ต่อไปยังที่หมายอื่น จนถึงปัจจุบันนี้ ไม่มีใครทราบว่าหลวงพ่อไปอยู่ที่ใด
เมื่อเมล็ดยางงอกแล้ว คุณยายเต็ม ไม่ได้เอาใจใส่อะไรนัก เพราะยังไม่เห็นความสำคัญ แต่การดูแลรักษา และยังเกรงใจหลวงพ่อที่ฝากไว้ให้ดูแล
ต่อมาเมื่อต้นยางมีอายุได้ประมาณ 1 ปี คุณยายเต็ม นำกระบือไปเลี้ยงในที่ดินดังกล่าว กระบือได้ทำลายต้นยางเสียหาย จำนวน 3 ต้น เหลือ 2 ต้น ต่อมาในปี 2528 เกิดพายุพัดทำให้ต้นยางหักอีก 1 ต้น เหลือให้เห็นในปัจจุบันเพียงต้นเดียว จนกระทั่งมีชาวบ้านในหมู่บ้านเกิดความสงสัยเพราะไม่คุ้นกับพืชชนิดนี้ จึงยังไม่ทราบและได้ชักชวนเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเกษตรฯ ไปดู
ปัจจุบันยางต้นแรกนี้ ยังคงปลูกอยู่ในที่ดินของคุณยายเต็ม นาของ อายุ 75 ปี อยู่บ้านเลขที่ 25 หมู่ที่ 2 บ้านหนองแวง ตำบลถ้ำเจริญ อำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ
คาดว่า ยางต้นแรกนี้ถูกปลูกเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2503 ปัจจุบันต้นยางมีอายุ 52 ปี วัดเส้นรอบวง มีขนาด 340 เซนติเมตร ความสูงประมาณ 20 เมตร
เดินหน้าตั้งกลุ่มเรียนรู้ หนุนปลูกยางพารา เต็มที่
คุณสมหมาย บอกว่า ภายหลังที่เห็นต้นยางพาราต้นนี้แล้ว เกิดความสนใจที่จะแนะนำให้เกษตรกรปลูก เพราะคิดว่ายางพาราต้องปลูกในภาคอีสานได้แน่นอน โดยเฉพาะที่อำเภอโซ่พิสัย จึงได้ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรทำความรู้จักยางพาราต้นนี้ พร้อมกับตั้งกลุ่มเรียนรู้เกี่ยวกับยางพาราทันที
จากนั้น เมื่อปี 2526 เกษตรกรจากบ้านโนนสว่าง ตำบลถ้ำเจริญ สนใจปลูกจำนวน 3 ราย ,ปี 2527 มีเกษตรกรผู้สนใจจากตำบลเหล่าทอง ตัดสินใจปลูกจำนวน 10 ไร่ ,ปี 2529 กรมส่งเสริมการเกษตร ได้จัดทำแปลงทดสอบยางพารา ที่บ้านดอนเสียด หมู่ที่ 4 ตำบลคำแก้ว อำเภอโซ่พิสัย จำนวน 5 ไร่ จากนั้น ได้ประชาสัมพันธ์โครงการดังกล่าวเรื่อยมา พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้เกษตรกรเข้าไปศึกษาดูงานในแปลงทดสอบแห่งนี้
ผลจากการดูงานของแปลงทดสอบยางพาราที่บ้านดอนเสียดนี้เอง ทำให้เกษตรกรในเขตตำบลคำแก้ว เริ่มมีความสนใจได้ปลูกเป็นแปลงตัวอย่างในเขตตำบลคำแก้ว
ปี 2535 ได้มีหน่วยงานรัฐบาล เช่น กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร และภาคเอกชน เข้ามาส่งเสริมปลูกยางในเขตอำเภอโซ่พิสัย จนถึงปัจจุบันนี้ มีพื้นที่ทั้งหมด 126,002 ไร่ เป็นพื้นที่เปิดกรีดแล้ว ประมาณ จำนวน 61,496 ไร่ ได้ผลผลิตเฉลี่ยไร่ละ 320 กิโลกรัม คิดเป็นผลผลิตทั้งหมดประมาณ 19,678 ตัน และเป็นมูลค่าประมาณ 2,459 ล้านบาทเศษต่อปี
จึงเห็นได้ว่าคุณค่า ความสำคัญของยางต้นนี้เพียงต้นเดียวที่เปรียบเสมือนหนึ่งเป็นครูที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่ชาวบ้านในเขตอำเภอโซ่พิสัยต่างหันมาประกอบอาชีพปลูกยางพาราสร้างรายได้ที่ดีจนถึงทุกวันนี้
สนใจข้อมูลเพิ่มเติม สอบถามได้ที่คุณสมหมาย แก้วมณี โทรศัพท์ 085-4533535
ที่มา http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=1468490474‘>