LINE : ติดต่อผู้ดูแล

ยินต้อนรับเว็บไซต์ข่าวสารเพจข่าวท้องถิ่นบึงกาฬ

วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน 2024
ข่าวเด่นบึงกาฬ

เปิดเวทีโค้งสุดท้าย”แม่น้ำสงคราม” สู่ “แรมซาร์ไซต์” อันดับ 15 ของไทย!!

เปิดเวทีโค้งสุดท้าย”แม่น้ำสงคราม”
สู่ “แรมซาร์ไซต์” อันดับ 15 ของไทย!!
 OLYMPUS DIGITAL CAMERA
อนุสัญญาแรมซาร์(Ramsar ) คือ..อนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ ถูกกำหนดและตั้งชื่อตามสถานที่การประชุมเพื่อรับรองอนุสัญญานี้ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2514 ณ เมืองแรมซาร์ ประเทศอิหร่าน ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างรัฐบาลนั้นๆ สำหรับความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยอันเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่นับวันแหล่งเหล่านี้เริ่มหดหายไปจากโลกมนุษย์!!
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ถิ่นที่อยู่อาศัยของนกน้ำ พร้อมการอนุรักษ์และร่วมกันใช้ประโยชน์ของพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างชาญฉลาด ตลอดจนยับยั้งการสูญหายของพื้นที่ชุ่มน้ำในโลก โดยกำหนดให้ทุกวันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็น”วันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก (World Wetlands Day)”
สำหรับประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคี”อนุสัญญาแรมซาร์” เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2541 นับเป็นลำดับที่ 110 จาก 169 ประเทศทั่วโลก ในปัจจุบันมี”พื้นที่ชุ่มน้ำ”ที่มีความสำคัญระหว่างประเทศหรือ”แรมซาร์ไซต์”จำนวน 2,241 แห่ง อยู่ในประเทศไทย 14 แห่ง โดยมี”สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)” สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ทำหน้าที่เป็นหน่วยประสานงานกลางระดับชาติ เพื่อดำเนินงานอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำในประเทศไทย
“พื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำสงครามสงครามตอนล่าง” นับเป็นลำน้ำสาขาสายหลักของ”แม่น้ำโขง” ตั้งอยู่ลุ่มน้ำสงคราม ซึ่งมีพื้นที่ลุ่มน้ำประมาณ 4,045,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ใน 5 จังหวัด คือ สกลนคร อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ และนครพนม มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาภูพาน ในเขตรอยต่อสกลนคร กับ อุดรธานี ไหลไปลงแม่น้ำโขงที่ ต.ไชยบุรี อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม มีความยาวโดยประมาณ 420 กม. เป็นแม่น้ำสายสำคัญและและมีความยาวที่สุดในเขตภูมิภาคอีสานตอนบน ช่วงฤดูฝนของทุกระดับน้ำ ในแม่น้ำโขงจะสูงขึ้น ปริมาณน้ำมหาศาลจะไหลย้อนเข้ามาในแม่น้ำสงครามลึกกว่า 200 กม. ส่งให้ผลมีพื้นที่น้ำขังประมาณ 960 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 600,000 ไร่ น้อยซะที่ไหนละโยม!!
พื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำสงครามตอนล่าง จึงเป็นระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง และมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของชุมชนท้องถิ่น กล่าวคือเป็นภูมินิเวศที่ยังคงมีพื้นที่”ป่าบุ่ง ป่าทาม (ป่าน้ำท่วม)” ที่ยังคงหลงเหลืออยู่จำนวนมาก และเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดในภาคอีสานบ้านเฮา ซึ่งมีการพบป่าเหล่านี้กระจัดกระจายไปทั่วบริเวณริมสองฟากฝั่งแม่น้ำสงครามและลำน้ำสาขา มีพื้นที่กว่า 160,000 ไร่ ซึ่งป่าพวกนี้มีความสำคัญและคุณประโยชน์มากมาย โดยเฉพาะการเอื้อประโยชน์ให้แก่ชุมชนท้องถิ่นทั้งทางตรงและทางอ้อม
จากการศึกษาของกรมประมง พบพันธุ์ปลาทั้งหมด 192 ชนิด จาก 39 ตระกูล เป็นปลาที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ 80 ชนิด และพบปลาอย่างน้อย 58 ชนิด อพยพย้ายถิ่นระหว่างแม่น้ำโขงและแม่น้ำสงคราม นอกจากนี้ยังมีปลาอย่างน้อย 7 ชนิด อยู่ในบัญชีใกล้สูญพันธุ์ของ IUCN ได้แก่ “ปลาบึก ปลากระโห้ ฯลฯ” อีกทั้งยังพบพรรณพืชในป่าทามที่ใช้ประโยชน์ได้จำนวนถึง 208 ชนิด นก 136 ชนิด ฯลฯ โอ้โห…ไม่ธรรมดาเลยนะแม่น้ำสงคราม!! กล่าวโดยสรุปความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำใน”แม่น้ำสงคราม” เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติของ พืช สัตว์ ที่สำคัญ
สำหรับการดำรงชีวิตของมนุษย์ จะเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญ ไหลหล่อเลี้ยงผู้คนกว่า 1.45 ล้านคน มีปริมาณการจับปลามากกว่า 45,000 ตันต่อปี สร้างรายได้ให้กับชุมชนเฉลี่ย 32,794 บาทต่อปี เป็นแหล่งน้ำผิวดินให้แก่พื้นที่โดยรอบ และอานิสงส์ยังไปถึงแม่น้ำโขงด้วย แม่น้ำสงครามยังเป็นแหล่งน้ำใต้ดินที่สำคัญ เป็นพื้นที่รองรับน้ำท่วม ชะลอ ความรุนแรงการไหลบ่าของน้ำ ช่วยดักจับสารเคมี สารพิษ ตะกอนดิน และช่วยเพิ่มปริมาณน้ำให้แก่มนุษย์และสิ่งมีชีวิตต่างๆ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และสำคัญก็คือเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งอาหาร แหล่งผสมพันธุ์ และทำรัง วางไข่ของสัตว์น้ำที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาหลายชนิดจากแม่น้ำโขง อพยพมาผสมพันธุ์และวางไข่ พร้อมทั้งเป็นสถานที่อนุบาลลูกปลา ก่อนที่จะออกไปเจริญเติบโตในแม่น้ำโขง เป็นเมนูเด็ดบนโต๊ะอาหาร และรายได้ที่สำคัญแก่ประชากรที่อาศัยอยู่ในลุ่มน้ำโขงต่อไป..
 59632_th
ช่วงระยะเวลา 10 ปี ที่ผ่านมา สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรฯ (สผ.) ได้จัดลำดับให้พื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำสงคราม (ลุ่มน้ำสงคราม) เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ!! ปัจจุบันนี้ “กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล” สำนักงานประเทศไทย (WWF-Thailand) โดยฝ่ายอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำจืด กำลังเร่งดำเนินงาน “โครงการเสริมสร้างศักยภาพความเข้มแข็ง” การมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อการจัดการทรัพยากรน้ำและฟื้นฟูระบบนิเวศ ในพื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำสงครามตอนล่าง หรือ “โครงการฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำสงครามตอนล่าง” ระยะเวลาดำเนินงานผ่านมา 2 ปี 4 เดือน (เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2557 -เดือนธันวาคม 2559) ในพื้นที่หมู่บ้านเป้าหมาย 43 หมู่บ้านของ อ.ศรีสงคราม และ อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม มีวัตถุประสงค์เพื่อการปกป้องฟื้นฟู ดูแลรักษาระบบนิเวศน้ำจืด รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำ เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของชุมชนท้องถิ่น
จากความสำคัญดังกล่าว WWF ประเทศไทย โดยฝ่ายอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำจืด ได้ดำเนินการสนับสนุน อำนวยความสะดวก ให้มี”การเสนอพื้นที่ชุ่มน้ำ”ในแม่น้ำสงครามตอนล่าง บริเวณ อ.ศรีสงคราม ถึงเขตรอยต่อ อ.ท่าอุเทน รวมพื้นที่ 33,920 ไร่ ขึ้นทะเบียน”เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ”ที่มีความสำคัญระหว่างประเทศหรือ”แรมซาร์ไซต์” ลำดับที่ 15 ของประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์ และการใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างชาญฉลาด ตลอดจนเพื่อยับยั้งการสูญหายของพื้นที่ชุ่มน้ำ “ป่าบุ่งป่าทาม” ความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนการใช้ประโยชน์ที่ไม่ยั่งยืนในพื้นที่
โดยในที่ประชุมคณะกรรมการพื้นที่ชุ่มน้ำนครพนม คณะกรรมการระดับพื้นที่ อ.ศรีสงคราม และ อ.ท่าอุเทน มีมติเห็นชอบในหลักการ และได้จัดการเปิดเวทีฟังความคิดเห็นในระดับตำบล 6 ตำบล รวมทั้งกำหนดให้มีการประชุมประชาพิจารณ์ระดับอำเภอให้กับชุมชนท้องถิ่น ส่วนราชการ เอกชน ผู้ประกอบการ ร้านค้า ชุมชน และผู้มีส่วนได้เสียต่าง ๆ เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าการดำเนินโครงการฯ การนำเสนอคุณค่าและความสำคัญของแม่น้ำสงคราม สร้างความเข้าใจ ชี้แจง และให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประโยชน์ที่จะได้รับ รวมทั้งข้อตกลง พันธะสัญญา เงื่อนไขต่าง ๆ ภายหลังจากการประกาศเป็นพื้นที่แรมซาร์ไซต์!!
OLYMPUS DIGITAL CAMERA

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

โดยพื้นที่ อ.ศรีสงคราม เปิดเวทีขึ้นบนห้องประชุมเทศบาลตำบลศรีสงคราม วันที่ 18 ส.ค. ส่วนเขต อ.ท่าอุเทน จัดที่ห้องประชุม อบต.ไชยบุรี วันที่ 19 ส.ค.ที่ผ่านมา การประชุมทั้ง 2 เวที มีบุคคลทุกกลุ่มเข้ารับฟังอย่างล้นหลาม และต่างมีมติเห็นชอบเต็ม 100 % ซึ่งทาง WWF จะนำเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการพื้นที่ชุ่มน้ำระดับจังหวัด มี นายสมชาย วิทย์ดำรงค์ ผวจ.เป็นประธาน เพื่อดำเนินการขอความเห็นชอบจากคณะทำงานในระดับชาติ ตามลำดับขั้นตอนต่อไป!!
นายยรรยง ศรีเจริญ ในฐานะผู้จัดการ WWF เขตโซนอีสานเหนือ เปิดเผยว่ากว่าจะเดินมาถึงจุดนี้ ต้องฟันฝ่าอุปสรรคนานัปการ ทั้งนักการเมืองและผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น ที่พยายามจะบุกรุกที่ดินริมฝั่งแม่น้ำสงคราม มาเป็นประโยชน์ส่วนตน ด้วยการเผยแพร่ข่าวสารในด้านลบต่างๆนาๆ และเป็นแบ็กหนุนหลังชาวบ้านให้ต่อต้านคณะทำงานทุกรูปแบบ แต่ด้วยทีมงานมีความตั้งใจสูงจึงนำพาชาวบ้านไปสัมผัสกับ”แรมซาร์ไซต์”อันดับ 2 คือ “บึงโขงหลง” และอับดับ 11 ของประเทศคือ”กุดทิง” อยู่ใน จ.บึงกาฬ ทั้งสองแห่ง มวลชนในพื้นที่ล้วนให้ข้อคิดเห็นในทางที่ดี จึงออกมาเป็นผลบวกด้านประชามติครั้งนี้นั่นเอง!!
ปัญหาภายนอกน่าจะเบาบาง แต่ปัญหาภายในยังต้องแก้ไข เพราะมีบุคคลากรเกี่ยวกับการประมง ทำงานเช้าชามเย็นชาม หรืออาจจะมีส่วนรู้เห็น ในการทำลายระบบนิเวศของแม่น้ำสงคราม กล่าวคือ..มีเจ้าหน้าที่ประมงเขตศรีสงคราม(บางคน) เข้าไปให้ความรู้แก่ชาวบ้านหนองสาหร่าย ต.พนอม อ.ท่าอุเทน เกี่ยวกับการทำประมงผิดประเภท ท่าทางขยันขันแข็งทะมัดทะแมงดี แจกเบอร์โทรศัพท์ให้ชาวบ้าน อ้างว่าพบเห็นการทำประมงผิดกฎหมายรีบแจ้งให้ทราบ จะจัดการทางกฎหมายให้จั๋งหมับ!! ปรากฏว่ามีกลุ่มผู้มีอิทธิพลจ้างคนงานวางข่ายดักปลาในฤดูวางไข่ จากฝั่งหนึ่งไปอีกฝั่งหนึ่งอย่างโจ่งครึ่ม มีรถบรรทุก 10 ล้อ จอดรอรับปลาอย่างเอิกเกริก ชาวบ้านรีบกดโทรศัพท์แจ้งตามที่บอก เจ้าหน้าที่ผู้รับสายแต่ละคน มีคำตอบน่ารักมากดังนี้ “ไม่ว่าง ไม่อยู่ ไม่ได้เข้าเวร และลาป่วย” สุดท้ายพวกนั้นก็ขนปลาขึ้นรถขับออกไปอย่างลอยนวล เจ้าหน้าที่ก็ไม่เคยย่างกรายมาสอบถามข้อเท็จจริงเลย…
ชี้ลายแทงให้แล้ว อยู่ที่ท่านผู้ว่าฯสมชายจะจัดการอย่างไร??

‘>

ข่าวเด่นบึงกาฬ ล่าสุด

อัพเดทล่าสุด